สตง.พบ"ซีซีทีวี"ใต้ไม่สมบูรณ์22% แพงกว่าตลาด4เท่า-สูญงบ32ล้าน
เปิดผลสอบ สตง.โครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 จังหวัด "สงขลา-สตูล" เกือบ 1 พันกล้อง พบตั้งราคากลางมั่ว แพงกว่าตลาด 1-4 เท่า บางหน่วยงานไม่มีการตรวจรับงาน พบกล้องไม่สมบูรณ์ 22% สูญงบกว่า 32 ล้าน แถมกล้องยังคุณภาพต่ำ มองไม่เห็นป้ายทะเบียนรถ ไม่เชื่อมเป็นเครือข่าย ไร้ผลปราบอาชญากรรม-ก่อการร้าย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยสำนักตรวจสอบพิเศษภาค 15 ตรวจสอบโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.สงขลา และ จ.สตูล โดยการตรวจสอบเอกสาร สังเกตการณ์ และสัมภาษณ์ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐใน จ.สงขลา และสตูล ที่ถูกตรวจสอบมี 10 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการจัดหากล้องวงจรปิดเอง 8 หน่วยงาน ได้แก่ จ.สงขลา ประกอบด้วย องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา เทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลตำบลจะนะ เทศบาลตำบลนาทวี องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ท่าม่วง กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา (บก.ภ.จว.สงขลา) และที่ทำการปกครองอำเภอจะนะ ขณะที่ จ.สตูล คือ อบต.เจ๊ะบิลัง
ขณะที่อีก 2 หน่วย ได้แก่ ที่ทำการปกครองอำเภอนาทวี และ บก.ภ.จว.สตูล ไม่ได้เป็นหน่วยงานที่ดำเนินการจัดหากล้องวงจรปิดเอง
ผลการตรวจสอบพบว่า มีประเด็นข้อตรวจพบที่สำคัญ 3 ข้อ คือ การดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่รัดกุมเท่าที่ควร, ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ และหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ยังไม่บูรณาการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายกล้องวงจรปิดเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน
ตั้งราคากลางมั่ว-แพงกว่าตลาด4เท่า
ทั้งนี้ จากผลการตรวจสอบในรายละเอียด พบว่า ความไม่รัดกุมในการดำเนินโครงการ ได้แก่ การทำราคากลางเพื่อจัดหากล้องวงจรปิดของหน่วยงานภาครัฐใน จ.สงขลาและสตูลทั้ง 10 หน่วยงาน ปรากฏว่าใช้วิธีการสอบถามราคาจากผู้มีอาชีพรับจ้าง แล้วนำมาจัดทำราคากลางเพื่อใช้ในการจัดหาระบบกล้องวงจรปิด โดยไม่ปรากฏหลักฐานหรือข้อมูลว่าได้ใช้ข้อมูลราคาตลาดหรือจากสื่ออื่น เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น เพื่อให้การจัดทำราคากลางเป็นไปอย่างรัดกุมและประหยัดที่สุด
วิธีการดังกล่าวทำให้มีความเสี่ยงต่อการประมาณการราคา หรือราคากลางสูงกว่าราคาในท้องตลาดทั่วไป ซึ่งจากการสืบค้นราคาทางอินเตอร์เน็ตมาเปรียบเทียบราคากลางหรือราคาที่จัดซื้อ จะเห็นได้ว่าราคากลางหรือราคาที่จัดซื้อมีแนวโน้มสูงกว่าตัวอย่างราคาที่สืบค้นทางอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่ 1.15 เท่าจนถึง 4.75 เท่า
ขณะเดียวกันยังพบว่า วิธีดำเนินการตรวจรับหรือตรวจการจ้างระบบกล้องวงจรปิดไม่รัดกุมเท่าที่ควร เช่น คณะกรรมการตรวจรับพัสดุหรือตรวจการจ้างไม่ได้ดำเนินการตรวจอุปกรณ์แต่ละรายการก่อนทำการติดตั้ง, บางหน่วยงานไม่ได้ทำการตรวจรับกล้องวงจรปิดก่อนติดตั้ง, ไม่มีแผนผังและแบบแปลนวงจรระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่แสดงให้เห็นถึงที่ตั้งกล้องวงจรปิด เป็นต้น
กล้องไม่สมบูรณ์22%-งบสูญ32ล้าน
สำหรับผลการตรวจสอบในประเด็นการดำเนินโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดไม่บรรลุวัตถุประสงค์ พบประเด็นในรายละเอียดว่า หน่วยงานภาครัฐไม่สามารถบำรุงรักษาให้กล้องวงจรปิดทุกตัวอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานได้ จากหน่วยงานภาครัฐ 10 แห่งที่ตรวจสอบ พบว่ามีเพียง 4 หน่วยงาน หรือร้อยละ 40 ที่ระบบกล้องวงจรปิดสามารถแสดงภาพทางจอแสดงภาพได้ครบทุกตัว ขณะที่หน่วยงานภาครัฐอีก 6 หน่วยงาน หรือร้อยละ 60 มีกล้องบางตัวไม่สามารถแสดงภาพทางจอแสดงภาพได้หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ คิดเป็นมูลค่าความเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์ประมาณ 32,282,841.49 บาท
หากพิจารณาในเรื่องของจำนวนกล้องทั้งหมดที่ตรวจสอบจำนวน 873 ตัว ปรากฏว่ามีกล้องจานวน 675 ตัว หรือร้อยละ 77.32 สามารถแสดงภาพทางจอแสดงภาพได้ และอีก 198 ตัวหรือร้อยละ 22.12 ไม่สามารถแสดงภาพทางจอแสดงภาพได้ หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์
คุณภาพต่ำ-ไม่เห็นป้ายทะเบียนรถ
นอกจากนั้น การแสดงภาพบนจอแสดงภาพ (จอทีวี) จากกล้องวงจรปิด ยังให้ภาพที่มีรายละเอียดชัดเจนไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะในส่วนของป้ายทะเบียนรถ เพื่อจะนำไปสู่การปราบปรามการก่อการร้าย อาชญากรรม หรือเป็นหลักฐานในคดีที่เกี่ยวกับความผิดทางจราจร ซึ่งการใช้ประโยชน์ของหน่วยงานภาครัฐทั้ง 10 หน่วยงานจะใช้วิธีการดูภาพย้อนหลังเมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้น
แต่จากการตรวจสอบโดยการทดลองดูภาพย้อนหลังเพื่อทราบถึงศักยภาพของกล้อง พบว่าทั้ง 10 หน่วยงานสามารถเห็นวัตถุ ยี่ห้อรถ สี แต่ไม่สามารถแสดงเลขป้ายทะเบียนได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ทั้งนี้ในเวลากลางคืนยังมีอุปสรรคในแง่ที่แสงไฟจากยานพาหนะส่งผลให้ภาพไม่ชัดเจนด้วย
ไม่เชื่อมต่อกล้องหน่วยอื่นเป็นเครือข่าย
ส่วนผลการตรวจสอบในประเด็นหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินโครงการยังไม่บูรณาการเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกันของระบบกล้องวงจรปิดนั้น พบประเด็นในรายละเอียด คือ หน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงานที่ดำเนินการจัดหากล้องวงจรปิดเอง มี 7 หน่วยงานไม่ได้มีการเชื่อมต่อเป็นเครือข่ายหรือใช้ประโยชน์ร่วมกันกับหน่วยงานรัฐอื่นที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน
แนะโชว์ราคากลางบนเว็บ-ตั้งคนดูแลกล้อง
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะจากบุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เห็นควรดำเนินการ 1.กำกับดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เปิดเผยราคากลางและรายละเอียดการคำนวณราคากลางระบบกล้องวงจรปิดไว้ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน และเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) ของกรมบัญชีกลาง และการจัดทำราคากลางเพื่อจัดหาระบบกล้องวงจรปิดซึ่งยังไม่มีการกำหนดราคามาตรฐาน ให้ใช้ราคาตลาด โดยสืบราคาจากตลาดรวมทั้งเว็บไซต์
2.กำหนดแนวทางหรือวิธีการในการตรวจรับหรือตรวจการจ้างกล้องวงจรปิดของ อปท. เพื่อให้การดำเนินการตรวจรับหรือตรวจการจ้างเป็นไปอย่างรัดกุม 3.กำกับดูแลให้ อปท.จัดให้มีระบบการดูแลระบบกล้องวงจรปิด เพื่อให้ระบบกล้องวงจรปิดอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและประมวลเนื้อหาของการบันทึกภาพตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เช่น มีการแต่งตั้งบุคลากรผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมมีการติดตามผลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ที่ได้รับการแต่งตั้ง เป็นต้น