ก.วิทย์ฯ เร่งจัดทำโรดแมพใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายทางอากาศ-ดาวเทียม
ก.วิทย์ใช้ภาพดาวเทียมทางอากาศ ปฏิรูปบริหารจัดการทรัพยากรประเทศ วางแผนป้องกันภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที "นายกฯ" กำชับเร่งจัดทำโรดแมพ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
วันที่ 21 มกราคม 2558 ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในประเด็น "แนวทางการใช้ประโยชน์ภาพถ่ายแผนที่จากการสำรวจระยะไกลทางอากาศและดาวเทียม" ณ อาคารพระจอมเกล้า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ
ดร.พิเชฐ กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ผ่านความเห็นชอบ "แนวทางการใช้ประโยชน์ภาพถ่ายแผนที่จากการสำรวจระยะไกลทางอากาศและดาวเทียว"นั้น สอดคล้องกับแผนปฏิรูป 1 ใน 5 ด้าน ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คือ การใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อทรัพยากร อันเป็นแนวทางนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรของประเทศอย่างเหมาะสม รวมถึงสามารถวางแผนป้องกันก่อนเกิดภัยพิบัติต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ จำกัดมหาชน (GISTDA) กระทรวงกลาโหม กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้ ครม.ให้บูรณาการการทำงานร่วมกัน คาดว่าภายใน 1 เดือน จัดทำโรดแมพเสร็จ โดยมี GISTDA เป็นแกนกลาง"
รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าวด้วยว่า จากภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมถึงการเกิดไฟป่า ภาพถ่ายทางอวกาศ และภาพถ่ายดาวเทียม มีส่วนสำคัญช่วยในการวางแผนแก้ไขปัญหาได้ในอนาคตอย่างถูกต้อง แม่นยำ แม้กระทั่งการเข้าไปชดเชย เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ภาพถ่ายเหล่านี้จะเป็นหลักฐานที่สำคัญทำให้เกิดความโปร่งใส
ด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) กล่าวถึงการใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายจากระยะไกล เป็นเรื่องที่ประเทศไทยและอนาคตจำเป็นที่ต้องเอามาใช้ ประเทศไทยมีการถ่ายภาพระยะไกลมากว่า 60 ปีแล้ว ฐานข้อมูลชุดแรกทางอากาศเมื่อปี 2490 หลังจากนั้นมีการถ่ายมาเป็นชุดๆต่อเนื่องกันมา จนมาถึง 2520 ก็เริ่มมีดาวเทียวเข้าเสริม
สำหรับปัญหาอุปสรรคในอดีต ดร.อานนท์ กล่าวว่า คือการนำภาพถ่ายเหล่านั้นมาใช้งานในหน่วยงานต่างๆ ถูกจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยี แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีการบริหารจัดการข้อมูลถูกลงมาก มีการบริการภาพถ่ายทางอินเตอร์เน็ต ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงข้อมูลภาพถ่ายทั้งจากทางเครื่องบินและจากทางดาวเทียมที่กระจายอยู่ในหน่วยงานเกือบ 10 หน่วยงาน ซึ่งทำหน้าที่ถ่ายภาพและเก็บภาพไว้ ตรงนี้จะมีการบริหารจัดการ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างไร ทั้งเทคโนโลยี ซอฟแวร์ ขีดความสามารถของบุคลากรในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบที่ยังไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน
"การใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายแผนที่จากการสำรวจระยะไกลทางอากาศและดาวเทียมอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ประชาชนจะได้ประโยชน์ ลดความขัดแย้งในพื้นที่ที่มีแนวเขตทับซ้อนกัน รวมถึงการใช้ภาพถ่ายจากระยะไกลเพื่อการติดตามการเปลี่ยนแปลง เช่น เรื่องของฝน เมฆ ป่าไม้ การเพาะปลูก โดยเฉพาะการเพาะปลูก นับเป็นตัวอย่างการใช้ดาวเทียมดูว่า ข้าวนาปรังปลูกที่ไหน เริ่มปลูกเมื่อไหร่ และคาดการว่าจะเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ปัจจุบันสามารถทำดูภาพรวมได้ในระดับหนึ่งแล้ว"