สนช.วางคิวแถลงเปิดคดี 38 ส.ว. 25 ก.พ.นี้
สนช.นัดแถลงเปิดคดี 38 ส.ว. แก้รธน.ไม่ชอบ 25 ก.พ. "พรเพชร"ไฟเขียว อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ร่วมถอดถอน
ที่รัฐสภา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน ได้พิจารณาวาระเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอนอดีต ส.ว.จำนวน 38 คน ออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 เพื่อกำหนดวันแถลงของ ป.ป.ช. ผู้กล่าวหา และอดีต ส.ว.จำนวน 38 คน ผู้ถูกกล่าวหา ทั้งนี้นายพรเพชร แจ้งว่า พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะมุกดาธนพงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ในฐานะอดีต ส.ว.ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือคัดค้าน สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว.สรรหา ในปี 51 และปี 54 ร่วมกระบวนการถอดถอน เพราะถือว่ามีส่วนได้เสีย ซึ่งเรื่องนี้ตนได้เคยวินิจฉัยไปแล้ว เมื่อครั้งมีการร้องคัดค้าน 16 สนช. ที่เป็นอดีต ส.ว. ที่ได้ยื่นร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญที่สามารถกระทำได้ ดังนั้นสมาชิก สนช.สามารถที่จะเข้าร่วมกระบวนการถอดถอน และลงมติได้
อย่างไรก็ตามหลังสมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายคัดค้านคำร้องขอดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ท้ายที่สุด นายพรเพชร ได้วินิจฉัยว่า ตนคงวินิจฉัยแตกต่างไปจากเดิมไม่ได้ เพราะหนังสือคัดค้านไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติทางกฎหมายห้ามไว้ดังนั้นสมาชิกสามารถเข้าร่วมในกระบวนการถอดถอนได้ และยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนเป็นวันที่ 25 ก.พ.นี้ โดยให้สมาชิกสามารถยื่นญัตติซักถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ถึงวันที่ 24 ก.พ.ตามข้อบังคับ แต่นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. ได้เสนอให้ที่ประชุมยกเว้นข้อบังคับโดยให้เลื่อนการยื่นญัตติซักถามออกไปเป็นเวลา 12.00 น. วันที่ 27 ก.พ. เพื่อให้สมาชิกได้ฟังคำแถลงเปิดคดีก่อนก่อนตั้งคำถาม เช่นเดียวกับคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบด้วยคะแนน 179 ต่อ 1 และงดออกเสียง 4
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณากรณีที่ พ.ต.ท.จิตต์ ได้ยื่นคำขอเพิ่มเติมพยานเอกสาร จำนวน 2 รายการ คือคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 53-58/ 2557 และหนังสือแจ้งจากศาลรัฐธรรมนูญ โดยนายพรเพชร ได้ให้ พ.ต.ท.จิตต์ และตัวแทนจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)เข้าร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ พ.ต.ท.จิตต์ ได้ชี้แจงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการร้องถอดถอนสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ ประกอบด้วย การแก้ไขเรื่องที่มา ส.ว. ,การแก้ไขมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 และแก้ไขมาตรา 190 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีการจำหน่ายคดีแก้ไขมาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 และแก้ไขมาตรา 190 โดยอ้างเหตุผลว่า เป็นการสิ้นสุดรัฐธรรมนูญปี 50 ขณะที่การแก้ไขที่มา ส.ว. ทาง ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและชี้มูลเรียบร้อยแล้ว และนำไปสู่การถอดถอนขณะนี้ โดยยังมีความเห็นของกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างน้อย 1 คือนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช.ที่ไม่เห็นด้วยในการส่งเรื่องถอดถอนมายังวุฒิสภา เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่าถูกยกเลิกไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ได้คัดค้านการเพิ่มพยานเอกสารดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าไม่มีประโยชน์ต่อการพิจารณาของ สนช.และการพิจารณาของ ป.ป.ช. ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพียงอย่างเดียว แต่ยึดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ด้วย ซึ่งแม้ตนจะเป็นเสียงข้างน้อย แต่เมื่อป.ป.ช.มีมติที่จะส่งเรื่องไปให้ สนช.ถอดถอน ตนก็ยอมรับ จากนั้นที่ประชุมลงมติไม่อนุญาตให้เพิ่มพยานทั้ง 2 รายการ โดยรายการหนังสือแจ้งจากรัฐธรรมนูญ ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 65 ต่อ 109 งดออกเสียง 8 ส่วนรายการคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เลขที่ 53-58/ 2557 ไม่เห็นชอบด้วยคะแนน 51 ต่อ 122 งดออกเสียง 9.
ขอบคุณข่าวจาก