ตีตกแนวคิดศาลเลือกตั้ง! กมธ.ยกร่างฯยันใช้ศาลอุทธรณ์แจกใบแดงได้
กมธ.ยกร่างฯ แก้มาตรา 4 เรื่องอำนาจศาลอุทธรณ์ ลดอำนาจศาลฎีกา ให้ศาลอุทธรณ์แจกใบแดง-พิพากษาคดีปกปิดทรัพย์สินได้ ตีตกแนวคิดศาลเลือกตั้ง ชี้ปัญหาเยอะ
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีการดำเนินคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า ในมาตรา 4 ซึ่งประกอบจากหลายมาตราที่สำคัญรวมกัน พูดถึงอำนาจศาล 3 ประเภท คือ ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยการแก้ไขมาตรานี้มีความสำคัญค่อนข้างมาก โดยคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งและเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. นั้น ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ โดยมีข้อสังเกตอยู่ 2 ประเด็น คือในอดีตให้ไปฟ้องต่อศาลฎีกา แต่ขณะนี้ให้ไปยื่นที่ศาลอุทธรณ์ แต่ก็ยังสามารถฎีกาได้ เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้กับผู้ที่จะได้รับใบแดง เนื่องจากศาลมีอำนาจที่จะให้ใบแดง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นคือ กรณี ส.ส.-ส.ว. ให้เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์กลาง หรือศาลอุทธรณ์ภาค (1-9) และคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่เกิดขึ้นในเขตท้องที่ของศาลนั้น เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแล้วแต่กรณี ซึ่งสรุปได้ว่าถ้าเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ไม่ใช่ ส.ส.-ส.ว. เหตุเกิดที่ไหน ให้ไปดำเนินคดีที่ศาลอุทธรณ์ตามเขตอำนาจ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวด้วยว่า ส่วนคดีที่เกี่ยวกับการจงใจไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีดังกล่าวเป็นเท็จ หรือจงใจปกปิดให้ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค พิจารณาพิพากษาตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนคดีชำนัญพิเศษ ให้อุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ตามที่กฎหมายบัญญัติ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดขึ้นในศาลชั้นต้น เพื่อเป็นการให้โอกาสในการสร้างความชำนาญผู้พิพากษาศาลชั้นต้อนก่อนไปสู่ศาลอุทธรณ์
“โดยวิธีพิจารณาคดีทั้งการเลือกตั้งและการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ให้เป็นไปตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกากำหนด โดยใช้ระบบไต่สวนห้ามใช้ระบบกล่าวหาและเป็นไปโดยรวดเร็ว” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว
ส่วนกรณีคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สมควรเริ่มต้นที่ศาล เนื่องจากส่วนใหญ่เห็นว่า เพื่อเป็นประโยชน์แห่งการป้องกันและปราบปรามการประพฤติมิชอบ จึงได้มีการสรรหากลไกรเพื่อที่จะป้องกันการเกิดเหตุดังกล่าว เพราะฉะนั้นในส่วนของคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยืนยันที่จะอยู่ที่ศาลฎีกา เพื่อไม่ให้เป็นการลดความเข้มข้นของคดี และเพื่อประกันความยุติธรรม โดยองค์ประชุมคณะการยกร่างฯ ได้มีการหารือร่วมกับประธานศาลแล้ว เห็นสมควรที่จะคงประเด็นดังกล่าวไว้ไม่แตกต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2550
“เรื่องแนวคิดศาลเลือกตั้ง ที่ไม่จัดตั้งศาลดังกล่าวเนื่องอาจทำให้มีปัญหา จึงตั้งเป็นแผนกไว้เพราะว่ามีกระบวนการดำเนินคดีเหมือนกัน” พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว