เอ็นจีโอเตรียมยื่นหนังสือ ครม.-สนช. ชะลอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ
กลุ่มเอ็นจีโอจับตา สนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เอื้อกลุ่มทุนเเสวงหาประโยชน์ เตรียมยื่นหนังสือ ครม.-สนช.ชะลอพิจารณา จนกว่าจะรับฟังความคิดเห็น ปชช. ปรับเนื้อหาบางมาตราครอบคลุมสิทธิทุกภาคส่วน
วันที่ 21 มกราคม 2558 คณะอนุกรรมาการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ และมูลนิธิชีววิถี จัดเสวนา ‘ร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ความปลอดภัยทางชีวภาพ:ไพ่ใบสุดท้ายของบรรษัทเพื่อผลักดันการปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศไทย’ ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี เปิดเผยว่า ภายหลังการทดลองจีเอ็มโอในสถานที่ราชการเมื่อปี 2530 หลุดรอดไปในพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้รัฐบาลมีมติคณะรัฐมตรี (ครม.) เมื่อปี 2542 ไม่อนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอในประเทศ จนกว่าจะมีร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ แต่ในที่สุดก็พบมะละกอปนเปื้อนจีเอ็มโอจำนวนมาก ทำให้สินค้าถูกตีกลับจากต่างประเทศ
จากกรณีดังกล่าวทำให้วันที่ 25 ธันวาคม 2550 ครม.มีมติกำหนดเงื่อนไขควบคุมการทดลองจีเอ็มโออย่างเข้มงวด เช่น การขออนุญาตทดลองปลูกในภาคสนามต้องผ่านการอนุมัติจาก ครม.เป็นกรณี และทดลองในสถานที่ราชการเท่านั้น ทั้งนี้ ต้องมีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน นักวิชาการ และองค์กรสาธารณะ
“มติ ครม.ทำให้การผลักดันของบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติและกลุ่มสนับสนุนสะดุดลง ดังนั้นจึงมีความพยายามผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวขึ้นมาแทน” ผอ.มูลนิธิชีววิถี กล่าว และว่า โดยมีเนื้อหาสนับสนุนการปลูกจีเอ็มโอเป็นสำคัญ แต่ไม่มีองค์ประกอบจากผู้รับผลกระทบ และที่ผ่านมามีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน 1 ครั้ง เพียงหมวดเดียว”
นายวิฑูรย์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์ล่าสุดว่า ในการประชุมคณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย ครั้งที่ 3 เมื่อปลายปี 2557 มีมติไม่ควรผลักดันการปลูกจีเอ็มโอ โดยขาดการควบคุมอย่างเข้มงวด และให้กลับไปใช้มติ ครม.วันที่ 25 ธันวาคม 2550 ตามเดิม ทั้งนี้ กลับมีเงื่อนไขเพิ่มเติมให้เร่งรัดผลักดันร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพขึ้นแทนมติดังกล่าว
“กฎหมายที่จะเกิดขึ้นจึงเป็นไพ่ใบสำคัญ หากมีเนื้อหาครบถ้วน รัดกุม สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการปกป้อง เราควรสบายใจ แต่จากการวิเคราะห์พบว่ายังมีช่องโหว่ปรากฏหลายประการที่เอื้อประโยชน์แก่กลุ่มเอกชน”
ผอ.มูลนิธิชีววิถี ระบุถึงประเด็นในร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพที่ควรปรับปรุง เพราะหากไม่แก้ไขจะไม่เอื้อประโยชน์ต่อการคุ้มครอง แต่จะเป็นเครื่องมือสำคัญของบริษัทแสวงหาผลประโยชน์ มี 4 มาตรา สำคัญ คือ
1.มาตรา 52 ระบุให้ผู้ประกอบกิจการต้องรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะกรณีสร้างความเสียหายเกิดขึ้นจากจีเอ็มโอที่ไม่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมเท่านั้น ฉะนั้นหากจีเอ็มโอใดอยู่ในบัญชีปลดปล่อยฯ แล้วก่อให้เกิดความเสียหาย ร่าง พ.ร.บ.มิได้กำหนดให้ต้องรับผิดชอบ ซึ่งอาจไม่ถูกต้อง
2.มาตรา 35 , 46 จีเอ็มโอที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยฯ หากมีการชดเชยเมื่อเกิดปัญหา จะต้องใช้ข้อมูลจากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งขัดกับหลักอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ระบุการคุ้มครองต้องคำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมด้วย ไม่เฉพาะข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ด้านเดียว
3.มาตรา 17 ให้รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดจีเอ็มโอที่ห้ามผลิตและนำเข้า ข้อความดังกล่าวจะทำให้ไม่เกิดการคุ้มครองที่ครอบคลุมอีกจำนวนมาก หากต้องรอกระบวนการประกาศเป็นครั้งคราว ฉะนั้นต้องห้ามให้มีการผลิตหรือนำเข้าจีเอ็มโอทุกชนิด ยกเว้นได้รับประกาศยกเว้นไว้
4.มาตรา 6 องค์ประกอบคณะกรรมการควรเพิ่มเติมในสัดส่วนผู้แทนองค์กรผู้บริโภค หรือองค์กรที่ผลักดันเรื่องเกษตรอินทรีย์ รวมถึงนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม
ด้านรศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ จำเป็นต้องผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น แม้เนื้อหาจะระบุถึงเหตุผลว่า เพื่อประโยชน์ในการเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่พัฒนาแล้ว แต่ยังพบจุดอ่อนอยู่ โดยเฉพาะมาตรการทางกฎหมายไม่ครอบคลุมการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการป้องกันปนเปื้อนในสินค้าเกษตร ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง
“แม้ปัจจุบันจะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนถึงผลกระทบ แต่มีข้อมูลเป็นระยะถึงความสัมพันธ์ระหว่างการกินพืชจีเอ็มโอกับสถานการณ์ความเจ็บป่วยในหลายโรค เริ่มสะสมมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อยังเป็นสีเทาอยู่ สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ คือ ฉลากผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างการตัดสินใจในการบริโภค”
ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระฯ กล่าวด้วยว่า จะทำหนังสือถึง ครม. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้ชะลอการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จนกว่าจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน และปรับปรุงเนื้อหาให้คุ้มครองสิทธิของเกษตรกร ผู้บริโภค และกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และจะจัดเวทีสาธารณะเผยแพร่เนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. ต่อไป .