พ่อ-แม่-ครูเกินครึ่ง เชื่อการตี ทำให้เด็กเป็นคนดี มีวินัย
ยูนิเซฟ ชี้ข้อมูลปี 2556 ของกระทรวงสาธารณสุข เก็บข้อมูลรพ.รัฐ 631 แห่ง พบมีเด็กถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่า 19,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 52 คน เป็นเด็กหญิงถูกกระทำมากสุดถึง 88% เด็กผู้ชายที่คแค่ 11.96%"
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์กรทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดแถลงข่าว เปิดตัวโครงการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก "เลี้ยงลูกอย่างเข้าใจ หยุดใช้ความรุนแรง" ณ ลานอีเดน ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ทางภาครัฐได้มองเห็นแล้วว่าปัญหาการะทำความรุนแรงต่อเด็กเป็นปัญหาที่ค่อนข้างละเอียดอ่อน ซับซ้อน และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในส่วนของกระทรวงฯ จึงจัดสร้างนโยบายและยุทธศาสตร์ รวมถึงกลไกการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องและแก้ปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนและป้องกันโดยจัดหลักสูตรอบรมการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงเพื่อให้พ่อแม่ ครูและผู้เลี้ยงดูเด็กได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัย
นายพิชัย ราชภัณฑารี ผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟประเทศไทย กล่าวถึงความรุนแรงต่อเด็ก มีอยู่ทุกมุมของโลก โดยยูนิเซฟได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งความรุนแรงต่อเด็กนั้นเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้ ปัญหานี้เป็นผลเสียในทุกระดับตั้งแต่ตัวเด็กเอง ชุมชน ตลอดจนทำให้ประเทศสูญเสียศักยภาพในการพัฒนาอนาคตของเด็ก ทั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นประจำทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ทั้งหมดมักเป็นปัญหาที่ถูกมองข้าม
"สาเหตุสำคัญอย่างที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเด็ก คือพ่อแม่ ครูเกินกว่าครึ่ง เชื่อว่า การลงโทษเด็กจะช่วยให้หล่อหลอมให้เด็กโตขึ้นเป็นเยาวชนที่ดี มีวินัยในตนเอง และใช้การลงโทษเมื่อเด็กไม่เชื่อฟัง โดยไม่ได้ตระหนักถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับพัฒนาการและจิตใจของเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว"
นายพิชัย กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การศึกษางานวิจัยหลายชิ้น ที่ยูนิเซฟสนับสนุน สะท้อนให้เห็นว่า ความรุนแรงต่อเด็กนั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและแพร่หลายในทุกช่วงวัย ทั้งที่บ้านและโรงเรียน รวมถึงสถานเลี้ยงดูเด็กและทัณฑสถาน โดยเด็กกว่าร้อยละ 50 บอกว่า เคยได้รับการลงโทษด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆไม่ว่า จากพ่อแม่หรือครูที่โรงเรียน รวมทั้งผู้ดูแลเด็ก ตั้งแต่การตีหัว ตีด้วยไม้ บิดหู บางรายถูกลงโทษรุนแรงจนได้รับบาดรับบาดเจ็บ และมักถูกลงโทษบ่อยเมื่อโตขึ้น ซึ่งเด็กมักจะคิดว่า เป็นความผิดของตัวเอง
"จากข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2556 ได้เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลของรัฐ จำนวน 631 แห่งพบว่า มีเด็กถูกกระทำความรุนแรงสูงกว่า 19,000 คน หรือเฉลี่ยวันละ 52 คน ในจำนวนนี้เด็กหญิงถูกกระทำความรุนแรงมากสุดถึง 88% เมื่อเทียบกับเด็กผู้ชายที่ถูกกะทำความรุนแรง คิดเป็น 11.96%"
ผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟฯ กล่าวอีกว่า ประเภทความรุนแรงต่อเด็ก ที่พบมากสุด คือ เด็กถูกละเมิดทางเพศถึง 68.78% รองลงมาคือ การละเมิดทางร่างกาย 22.13% การละเมิดทางอารมณ์จิตใจต่อเด็ก 4.04% การละเลยทอดทิ้ง 3.36% และการแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก คิดเป็น 1.68%
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีพ่อแม่ทะเลาะกัน ภาพความรุนแรงเช่นนี้จะตกอยู่กับตัวเด็ก เด็กจะจดจำ และอาจนำไปปฏิบัติตามเมื่อโตขึ้น ฉะนั้นความรุนแรงทุกรูปแบบสามารถสร้างผลกระทบต่อเด็ก ทั้งร่างกายและจิตใจได้
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงความรุนแรงมีอยู่ 4 ประเภทคือ 1.ความรุนแรงทางร่างกาย ที่เกิดจากการลงโทษและการทรมานในรูปแบบต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดหรือไม่สบายต่อร่างกายเด็ก แม้จะเป็นการลงโทษระดับเบาก็ตาม ทั้งการตบหัว ตีด้วยมือ ใช้อุปกรณ์ไม้เรียว เข็มขัด รองเท้า หรือการเตะ รวมไปถึงการกระทำอื่นๆ การเขย่าตัว ผลัก โยน ข่วน หยิก ดึงผม บิดหู รวมถึงการกลั่นแกล้งระหว่างเด็กรุ่นเดียวกันหรือผู้ใหญ่กว่า
2.ความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเกิดจากการเกี่ยวข้องกับเด็กในกิจกรรมทางเพศ ซึ่งเด็กไม่สามารถเข้าใจได้เต็มที่หรือไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ หรือระหว่างเด็กด้วยกัน เช่นการข่มขืน การล่วงละเมิดทางเพศ ทวารหนัก การร่วมเพศทางปาก การกอดจูบลูบไล้ร่างกาย จนสำเร็จความใคร่ การให้เด็กรับรู้เรื่องไม่ควรทางเพศ รวมถึงการให้ดูและร่วมผลิตสื่อทางเพศ
3.ความรุนแรงทางด้านอารมณ์และจิตใจ เกิดจากการตอบสนองต่ออารมณ์ของเด็กอย่างไม่เหมาะสม เป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมสิ่ที่ไม่เหมาะสม ต่อพัฒนาการของเด็ก ซึ่งมีผลทำให้เกิดผลเสียร้ายแรง และต่อเนื่อง ต่อพัฒนาการของเด็ก
และ 4.การละเลยทอดทิ้ง ไม่ดูแลเอาใจใส่ต่อความจำเป็นพื้นฐานแก่เด็ก การไม่ให้การคุ้มครองเด็กจากอันตรายหรือไม่ให้การรักษาพยาบาล
พญ.พรรณพิมล กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อเด็กด้วยว่า สามารถป้องกันและยุติได้ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และทุกภาคส่วนควรร่วมมือกัน รณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน ตลอดจนควรผลักดันให้เกิดกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อยุติความรุนแรง เช่น ห้ามใช้การลงโทษด้วยการความรุนแรงในทุกสถานที่ ให้ความรู้กับประชาชนอย่างเข้มข้น และเป็นระบบในเรื่องของการลงโทษด้วยความรุนแรงและแสดงให้เห็นผลกระทบของความรุนแรงที่มีต่อเด็ก ตลอดจนเพิ่มการเพิ่มการตรวจสอบและประเมินผล ส่งเสริมให้ข้อกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับการห้ามใช้ความรุนแรงต่อเด็ก และนำมาปฏิบัติใช้อย่างจริงจัง พัฒนาหลักสูตรการสอนให้พ่อแม่ ครูและผู้ดูแลเด็ก หรือการสร้างวินัยของเด็กโดยไม่การบีบบังคับ หรือลงโทษ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า พ่อแม่ ครู ยังขาดวินัยในการเลี้ยงดูเด็กอยู่