ประชาสังคมอุบลฯ เสนอ "สภาประชาชน" แก้วิกฤติเผาศาลากลาง
เครือข่ายประชาสังคมอุบลฯ ถกมองไปข้างหน้าเยียวยาเมืองอีสาน หลังศาลากลางถูกเผา แกนนำชุมชนชี้คนกรุงต้องเปิดใจฟังความเดือดร้อนชาวบ้าน นักการเมืองต้องทบทวนตัวเอง ก่อนเป็นระเบิดเวลาซ้ำรอยราชประสงค์ แนะศาลากลางหลังใหม่ต้องมีสภาประชาชน อดีต สว.ชี้ที่ผ่านมาการมีส่วนร่วมเป็นคำสวยหรูของรัฐ แม้แต่งบ อบต.ยังไม่เคยฟังความเห็นชาวบ้าน เจ้าคณะจังหวัดแนะเยียวยาสังคมต้องเปิดโอกาสให้คนอย่างทัดเทียม ไม่ละเลยพัฒนาจิตใจ
เมื่อเร็วๆนี้ สทท.11 อุบลราชธานี ร่วมกับสื่อสร้างสุขอุบลราชธานี และเครือข่ายภาคประชาสังคมอุบลราชธานี จัดเสวนาปฏิรูปประเทศไทยเรื่อง “มองไปข้างหน้าเยียวยาเมืองอีสาน” โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายชุมชน นักการเมือง พระภิกษุ องค์กรพัฒนาเอกชน เข้าร่วม
นายจำนง จิตนิรัตน์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กล่าวว่าการแบ่งแยกสีต่างๆจะเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวปีสองปีแล้วหายไป ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเหมือนเดินมาสุดทางไม่มีอะไรแรงมากกว่านี้ไปอีกแล้ว ควรทำให้คนได้นิ่งคิดทบทวนและสรุปบทเรียน ส่วนแรกที่ต้องสรุปบทเรียนคือข้าราชการต้องตั้งคำถามว่าศาลากลางทำไมโดนเผา เสนอว่าศาลากลางหลังใหม่ของอุบลราชธานีต้องมีห้องสภาประชาชนให้ชาวบ้านมา ร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อมาคือนักการเมือง พรรคการเมืองซึ่งที่ผ่านมามีแต่เล่นพรรคเล่นพวก นักการเมืองจับมือนายทุนเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้รวยกระจุก จนกระจาย ส่วนสุดท้ายแต่ต้องเริ่มก่อนคือประชาชน เพราะข้าราชการ นักการเมืองทำผิดมานาน แก้ยาก
“ที่ผ่านมาชาวบ้านไปชุมนุมเรียกร้องในกลุ่มสมัชชาคนจน กลุ่มเกษตรกรรายย่อย กลุ่มต่อต้านโรงไฟฟ้าหินกรูด ปิดถนนเลนเดียวก็ถูกคนด่า คนกรุงต้องเข้าใจพี่น้องที่มาเรียกร้องความเป็นธรรมว่าชาวบ้านถูกกดขี่อัด อั้นจนปะทุ ทุกฝ่ายต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ไม่เช่นนั้นความรุนแรงเหมือนราชประสงค์ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นอีก” นายจำนง กล่าว
นายอมร นิลเปรม อดีต สว.อุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันภาคประชาชนไม่ค่อยตื่นตัว และไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ หรือได้รับการสนับสนุนแต่อยู่ในวงแคบ เพราะมีแต่คำพูดว่าประชาชนต้องมีส่วนร่วม แต่รัฐไม่เคยเปิดโอกาสให้จริง เช่น งบประมาณใน อบต.ต้องรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้าน ไม่ใช่ให้ฝ่ายบริหารเสนอแล้วอนุมัติกันเอง และภาครัฐต้องสนับสนุนการทำงานของภาคประชาสังคมอย่างจริงจัง
พระราชธีราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า แนวทางเยียวยาวิกฤติการณ์ครั้งนี้มี 4 ประการคือ 1.สร้างความยุติธรรม ซึ่งไม่ใช่เฉพาะสิทธิเสรีภาพ เพราะตอนนี้ประชาชนกำลังเรียกร้องหาความยุติธรรม 2.นำประชาชนด้วยปัญญา ใช้ปัญญาให้มากกว่าการใช้กำลัง เพราะสภาพบ้านเมืองที่อยู่ในวิกฤติก็เพราะใช้กำลังใช้อาวุธ สื่อควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ระบายเพื่อลดความอัดอั้นตันใจ ไม่เป็นสองมาตรฐานในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร อย่าดูถูกประชาชนว่าไม่มีความรู้ ประชาชนจะกลั่นกรองเอง
“3.การพัฒนาทางด้านจิตใจ เป็นเรื่องสำคัญ โดยใช้หลักธรรมมาสร้างกระแสใจให้เข้มแข็งก็จะไม่หวั่นไหวไปกับกระแสอะไรที่ ผ่านเข้ามา ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันพัฒนาจิตใจคน 4.รู้จักการให้โอกาส วันนี้ หลายภาคส่วนยังไม่ได้โอกาสเข้ามาพูด ตอนนี้โอกาสต่างๆยังไม่ทัดเทียมกัน” พระราชธีราจารย์ กล่าว
ขณะที่นายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าว ว่าจะนำข้อเสนอแนะต่างๆจากเวทีไปพิจารณา ซึ่งเรื่องใดที่สามารถทำได้ก็จะเร่งดำเนินการ แต่บางเรื่องต้องใช้เวลาซึ่งจะพยายามให้ดีที่สุด และหลังจากเกิดเหตุการณ์เผาศาลากลางได้กำชับเจ้าหน้าที่ว่าต้องบริการและทำ งานให้ได้เร็วที่สุด งานบริการประชาชนต่างๆคงไม่หยุดชะงัก .