อบก. จับมือบ.ผลิตไฟฟ้า-ปิโตรเคมี นำร่องระบบซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก
อบก. จับมือจุฬาฯ บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้า-ปิโตรเคมี นำร่องทดลองระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย
เมื่อเร็วๆนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานแถลงข่าวและพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ “โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย” ณ ห้องกรุงเทพฯ 2 ชั้น M โรงแรม เซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว
ทั้งนี้ภายในงานมี พิธีลงนามบันทึกความร่วมมือในการเข้าร่วมโครงการฯ โดยมีผู้บริหารจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัทกัลฟ์ เจพี เคพี 1 บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี บริษัทวีนิไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด บริษัท ระยอง โอเลฟินส์ จำกัด และบริษัทอินโดรามา โพลีเอสเตอร์ อินดัสตรี้ส์
นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวถึงโครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย เป็นต้นแบบที่ดีสำหรับอุสาหกรรมต่างๆ โดยรัฐเป็นผู้นำแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยควรเดินไปในทิศทางไหน กลไกซื้อขายใบอนุญาต มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เหมาะสมกับสังคมไทยหรือไม่
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ทวีวงศ์ ศรีบุรี กรรมการผู้อำนวยการ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาของโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ถ้าเราไม่ทำตอนนี้แล้วใครจะทำ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงตรัสไว้เมื่อปี 2538 จนบัดนี้ 20 ปีแล้ว เราก็เพิ่งดำเนินการอย่างจริงจัง จะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
สำหรับระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Trading Scheme) หรือ ระบบ Thailand V-ETS เป็นกลไกหนึ่งใน 3 กลไกที่ อบก.ได้พัฒนาขึ้นภายใต้ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับภาคเอกชนและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องมีขีดความสามารถในการบริหารจัดการและลดก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กรของตนเอง เพราะจากเวทีการเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก พบว่า มีแนวโน้มสูงมากที่ประเทศกำลังพัฒนาทุกประเทศ รวมถึงประเทศไทยจะต้องมีเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกระดับประเทศและต้องเริ่มดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ตามเป้าหมายตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นไป โดยเป้าหมายดังกล่าวจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย
ขณะที่ ณ ปัจจุบัน ทางเลือกในการลดก๊าซเรือนกระจกของรัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลกแบ่งเป็น 2 มาตรการหลัก
1.มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลตลาด เช่น การจัดทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิตไปขายในตลาด หรือการจัดทำระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการว่าจะดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกเอง (ในกรณีที่มีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกต่ำ) และนำใบอนุญาตที่เหลือไปขายในตลาด หรือเลือกที่จะลดเองบางส่วนและซื้อใบอนุญาตฯจากตลาดบางส่วน (ในกรณีที่มีต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกสูง) เพื่อนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกองค์กร และลดภาระต้นทุนการลดก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมขององค์กร
2.มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้กลไกอื่น (ที่มิใช่กลไกตลาด) ซึ่งได้แก่ การเก็บภาษีคาร์บอน การออกกฎ/ระเบียบเพื่อกำหนดมาตรฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี การรณรงค์/สร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภค การจัดตั้งกองทุนคาร์บอน เป็นต้น
อบก. จึงได้พัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครของประเทศไทยขึ้น เพื่อศึกษาว่าการใช้กลไกตลาดดังกล่าวจะเหมาะสมกับริบทของประเทศหรือไม่ โดยพัฒนาระบบการตรวจวัดรายงาน และทวนสอบ (Measurement, Reporting, and Verification System) หรือ ระบบ MRV พร้อมทั้งออกแบบกฎการดำเนินงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมในระบบ Thailand V-ETS มาตั้งแต่ปี 2553
และในปีงบประมาณ 2558 อบก. ได้จัดทำ “โครงการนำร่องระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทย” ขึ้น โดยมอบหมายให้ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินโครงการดังกล่าว เพื่อทดสอบระบบ MRV และกฎการดำเนินงานสำหรับ Thailand V-ETS มีความหมายเหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมในประเทศ