เผยโฉม“โมบายแล็บคาร์” กสทช.11.2 ล. เครื่องวัดสัญญาณไฮเทคหลักล้าน
"อิศรา" ลุยพิสูจน์ภายในรถโมบายแล็บคาร์ มูลค่า 11.2 ล.ของ กสทช. พบอุปกรณ์ตรวจวัดวงเงินหลายล้านบาทและมีการต่อเติมเคาท์เตอร์-ด้าน ผอ.สำนักฯ พร้อมตรวจสอบทุกประเด็นคำถาม "ฐากร" เชื่อโปร่งใส
จากกรณีที่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่มีการลงนามสัญญาเลขที่ พย.(ช)(ดท.) 8/2556 กับบริษัทจัสมิน เทเลคอม ซิสเต็มส์ จำกัด ( มหาชน ) ซื้อขายรถตรวจสอบเครื่องโทรคมนาคมเคลื่อนที่ ( Mobile Lab Car ) จำนวน 1 คัน วงเงิน 11,235,699.78 บาท ด้วยวิธีประกวดราคา ( อ่านประกอบ : พบ“บ.จัสมินฯ”คว้าอีกงาน กสทช.-จัดซื้อรถโมบายแล็บ 11.2 ล้าน , เอกสารที่มา"โมบายแล็บคาร์"กสทช. "จัสมินฯ"ยื่น 11.7 ล. ต่อรองเหลือ 11.2 ล. ,ตามพิสูจน์โมบายแล็บคาร์ 11.2 ล. กสทช. -เมื่อ รปภ.อ้างคำสั่งห้าม“อิศรา”ขึ้นตึก )
โดยก่อนหน้านี้ ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่ตรวจสอบรถตู้คันดังกล่าวที่สำนักงาน กสทช. พบจอดอยู่ที่บริเวณลานจอดรถด้านข้างอาคาร 3 ซึ่งเป็นอาคารที่ทำการของฝ่ายดูแลกิจการโทรคมนาคม ที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าว และพยายามสอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ได้พบใคร
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้สอบถามนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ถึงกรณีดังกล่าว
โดยนายฐากร ระบุว่า เห็นที่สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวโมบายแล็บคาร์แล้ว แต่ไม่ทราบรายละเอียดโครงการนี้
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สำนักข่าวอิศราขอตรวจสอบภายในรถโมบายแล็บคาร์ได้หรือไม่ นายฐากรกล่าวว่ายินดีให้สำนักข่าวอิศราตรวจสอบเนื่องจากเชื่อว่าโปร่งใส ไม่มีอะไร และได้ประสานงานมอบหมายให้นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้อำนวยการสำนัก สำนักขับเคลื่อนภารกิจพิเศษและรักษาการผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้ชี้แจงเรื่องโครงการโมบายแล็บคาร์ และนำผู้สื่อข่าวตรวจสอบภายในรถคันดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพและลักษณะภายในรถโมบายแล็บคาร์ มีการติดตั้งเคาท์เตอร์หรือชั้นสำหรับวางอุปกรณ์ตรวจวัดสัญญาณคลื่นโทรคมนาคม บนเคาท์เตอร์มีเครื่องตรวจวัดสัญญาณยี่ห้อ แอนริทสึ และแอโรเฟล็กซ์ประกอบด้วย Radio Communication Test Set ยี่ห้อ AEROFLEX รุ่น Wireless 3920 ( บ.จัสมินฯ เสนอ 2,356,610.80 บ.) , Frequency Counter ยี่ห้อ Anritsu รุ่น MF 2400 C Series (บ.จัสมินฯ เสนอราคา 505,740.85 บ.) , Signal-Analyzerยี่ห้อ Anritsu รุ่น MS2692A ( บ.จัสมินฯ เสนอราคา 3,363,010 บาท ) , Handheld Spectrum Analyzer ยี่ห้อ Anritsu รุ่น MS 2713 E ( บ.จัสมินฯ เปลี่ยนแทน รุ่น MS 2712 E ที่ในใบเสนอราคาระบุ 1,279,489.95 บ.) และPower Meter ยี่ห้อ Anritsu รุ่น ML 2400 A (2437 A ) บ.จัสมินฯ เสนอราคา 501,387.02 บ.)
นอกจากนี้ ภายใต้เคาท์เตอร์ยังมีเครื่องเลเซอร์ปรินท์เตอร์ ส่วนเบาะด้านหลังมีกล่องเหล็กจัดเก็บสายอากาศ ขณะที่ด้านหลังรถมีกล่องเหล็กอีกหลายใบสำหรับจัดเก็บอุปกรณ์ต่างๆ
นายพิชัยที่นำชมรถคันดังกล่าวระบุว่าอุปกรณ์ตรวจวัดเหล่านี้ ประกอบด้วย
“แอโรเฟล็กซ์ ที่เป็นดิจิตอล เรดิโอเทสต์เซ็ท, ฟรีเควนซี เคาท์เตอร์ สำหรับใช้วัดความถี่ ว่าวิทยุโทรคมนาคมมีความถี่ใช้งานอย่างไร ส่วนสเปกตรัมอนาไลเซอร์ เรา มี 2 ตัว ตัวหนึ่งเป็นการเทสต์ที่อยู่บนรถ ส่วนอีกตัวเป็นสเปกตรัมอนาไลเซอร์ใช้เวลาเข้าไปในพื้นที่ตามอาคารสถานที่ต่างๆ ส่วนตัวสุดท้ายคือพาวเวอร์มิเตอร์ และมีเครื่องปรินท์เตอร์ที่เมื่อเราตรวจสอบคลื่นโทรคมนาคมแล้ว ก็พิมพ์ผลของการตรวจสอบเข้ามา”
นายพิชัยกล่าวด้วยว่ารถคันนี้ “ก็ต้องโมดิฟายให้สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้ รถต้องทำใหม่”
ทั้งนี้ นายพิชัยยอมรับว่าไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคของอุปกรณ์ตรวจวัดคลื่นสัญญาณดังกล่าว อธิบายได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคที่เป็นผู้เชี่ยวชาญติดภารกิจออกไปปฏิบัติงานนอกสถานที่
อย่างไรก็ตาม นอกจากตรวจสอบสภาพภายในรถแล้ว สำนักข่าวอิศราสัมภาษณ์นายพิชัย ถึงข้อสังเกตต่อโครงการโมบายแล็บคาร์ในหลายประเด็นรวมทั้งที่มาของโครงการมูลค่า 11.2 ล้านบาทนี้
@ จากที่สำนักข่าวอิศราตรวจสอบพบว่าทีโออาร์ของโครงการโมบายแล็บคาร์ที่ปรากฏว่ามีการระบุถึงการติดตั้งกล้องวงจรปิด ซึ่งการติดตั้งกล้องวงจรปิดนั้น ก็เป็นโครงการที่ บ.จัสมินฯ ได้งาน ในฐานะรักษาการผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม คุณจะตรวจสอบประเด็นนี้หรือไม่ ?
พิชัย : ทีโออาร์อันนี้ ผมก็เพิ่งเห็น คือเรียนอย่างนี้ ลักษณะการดำเนินงานโครงการ ของ กสทช. ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานไหน เราต้องจัดทำแผนว่าเรามีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร แล้วจากนั้นก็เป็นการของบประมาณ และมีคณะอนุกรรมการที่พิจารณากลั่นกรองคำของบฯ เมื่อพิจารณากลั่นกรองผ่านคณะอนุกรรมการแล้ว ก็ส่งให้ กสทช. พิจารณา ซึ่งโครงการนี้ ที่ผ่านมา ผมว่ากสทช ท่านให้ความสำคัญถึงเหตุผลและความจำเป็น ท่านก็เลย อนุมติงบมา แต่ตัวเลข ผมยังไม่คอนเฟิร์ม เพราะเพิ่งมารักษาตำแหน่งรักษาการฯ เมื่อ 22 ธ.ค. แต่ผมก็พยายามจะอ่านรายละเอียดทั้งหมดที่เกิดขึ้น และนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมจะดู ส่วนกระบวนการในการจัดซื้อ จัดจ้าง จำเป็นต้องอาศัยคนที่มีความรู้ มีความชำนาญ ที่จะต้องเป็นงานทางด้านวิศวกรรม โทรคมนาคมมาทำทีโออาร์ ให้มันตรงกับความต้องการของสำนัก ส่วนกรรมการตรวจรับ ก็ต้องเป็นคนที่มีความรู้ในงานที่จำเป็นจะต้องทำ นี่คือ กระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนทีโออาร์ นี่ผมก็เพิ่งเห็นนะว่ามันมีกล้องวงจรปิด เรื่องนี้ผมจะรับไปดู
@ เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างโครงการดังกล่าว รถตู้ที่ บ.จัสมินฯ เสนอราคาต่อ กสทช.สามล้านกว่าบาท ก่อนที่ต่อมา จะลดให้สี่แสนเก้าหมื่นบาท เป็นราคาที่เหมาะสมหรือไม่?
พิชัย : รถตู้ประมาณ 3 ล้าน ราวๆ นั้น เพราะว่าจากข้อมูลที่ผมเคยเรียกจากเจ้าหน้าที่มาเพื่อดูว่ามีอะไรบ้าง ผมก็พบว่า มีรถและมีอุปกรณ์พาวเวอร์ ซัพพลาย ที่มีความละเอียดสูงพอสมควรเพราะมันส่งผลต่อการจ่ายไฟให้อุปกรณ์ เช่น สเปกตรัม อนาไลเซอร์ อุปกรณ์พาวเวอร์ซัพพลายนี้ ราคาสูงและมีกำลังสูง รวมทั้งในรถมีการติดตั้งเชลฟ์ ต่างๆ ก็คือเป็นรถที่มีการดัดแปลง ทั้งติดตั้งพาวเวอร์ ซัพพลาย และเชลฟ์ ต่างๆ แต่ผมขอเล่าให้ฟังว่ารถโมบายแล็บคาร์ ที่แจ้งว่าราคา สามล้านกว่า ขอเรียนอย่างนี้ คือ อุปกรณ์ ในรถเรื่องฟรีเควนซี มิเตอร์, สเปกตรัม อนาไลเซอร์ และ พาวเวอร์ มิเตอร์ อะไรต่างๆ พวกนี้ เป็นอุปกรณ์ที่ต้องการความละเอียดสูง เพราะว่าการจะไปตรวจค้นจับกุมการใช้คลื่นวิทยุโทรคมนาคมว่าเป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่นั้น จำเป็นต้องใช้เครืองมือที่มีความละเอียดสูงและเนื่องจาก
อุปกรณ์พวกนี้ เป็นอุปกรณ์ไฟฟ้า เราก็ต้องโมดิฟายรถ ในการจัดหาแหล่งไฟฟ้าสำหรับพาวเวอร์ ซัพพลาย เพื่อที่จะทำให้ คุณภาพสัญญาณไฟฟ้ามันเรียบร้อย เพราะการใช้งานรถนี้มันจะต้องขับรถไปไหนๆ ที่อาจมีการกระทบกระเทือนกระแทก อะไรก็แล้วแต่ เราต้องทำให้คุณภาพของงานใช้ได้ ผมเชื่อว่า นี่ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รถรวมทั้งผลราคาของอุปกรณ์พาวเวอร์ซัพพลายทำให้มันสูงขึ้น ตามที่อิศรามอง
@ อุปกรณ์ วิเคราะห์สัญญาณคลื่น Radio Communication Test Set ยี่ห้อ AEROFLEX รุ่น Wireless 3920, Frequency Counter ยี่ห้อ Anritsu รุ่น MF 2400 C Series,Signal-Analyzerยี่ห้อ Anritsu รุ่น MS2692A, Handheld Spectrum Analyzer ยี่ห้อ Anritsu รุ่น MS 2712 E และPower Meter ยี่ห้อ Anritsu รุ่น ML 2400 A ที่ บ.จัสมินฯ เสนอราคามานั้นเราได้รับเรื่องร้องเรียนว่า ราคาสูงเกินจริงและเมื่อสอบถาม จากผู้จำหน่ายแอนริทสึรายอื่นในท้องตลาด ได้รับข้อมูลว่าราคาจริงถูกกว่า ที่ บ.จัสมินฯ เสนอไม่น้อยกว่า 30 % จะมีการตรวจสอบหรือไม่ ว่าราคาที่จัสมินเสนอขายสูงเกินไปหรือไม่ ทั้งที่ขณะนั้น บ.จัสมินฯ ก็เป็น ตัวแทนจำหน่าย Anritsu ในตอนนั้น ?
พิชัย : ขออนุญาตเรียนว่าเนื่องจากตอนนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างดำเนินการแล้วเสร็จแล้ว ดังนั้น ผมอาจจะเข้าไปดูได้ในลักษณะว่ามันส่งผลมากน้อยแต่ไหน ก็จะต้องนำไปตรวจสอบข้อมูลราคากลาง ซึ่งต้องมีการกำหนดราคากลางอยู่แล้ว
ใบเสนอราคา ต้องไปเทียบกับราคากลางของอุปกรณ์ มันก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง เพราะ Frequency Counter และ Power Meter สเปกมันอาจจะมีข้อจำกัดทางเทคนิคของมันเอง ที่ต้องมีความเสถียรภาพ ในการใช้งาน
เช่น สังเกต คำว่าซีรี่ยส์ หมายความว่ามันมีแยกย่อยออกไป ไม่ใช่ว่า มีแค่รุ่น 2400 มันยังมีรายละเอียดที่อาจไม่ใช่แค่รุ่น 2400 ซึ่งทั้งหมดนี้ผมจะต้องขอดูราคากลาง โดยตามขั้นตอนจะต้องมีคณะกรรมการทีโออาร์ราคากลาง คณะกรรมการพิจารณาผล คณะกรรมการตรวจรับ
@ โครงการโมบายแล็บคาร์นี้ มีการอ้างราคากลางหรือไม่ ?
พิชัย : ปกติควรจะต้องมี ณ วันที่เราทำทีโออาร์ ราคามันอาจจะแบบหนึ่ง แต่วันที่กว่าจะได้ ราคามันอาจจะอีกแบบหนึ่ง แต่ไม่ควรจะเกินจากราคากลางมากจนเกินไป
@ สเปกของอุปกรณ์ต่างๆ ที่ได้มาครบถ้วนตามทีโออาร์หรือไม่ ?
พิชัย : ผมเชื่อว่า ถ้าไม่ตรงสเปก กรรมการตรวจรับก็ปล่อยผ่านมาไม่ได้ อุปกรณ์ที่ได้มา อย่างน้อยผมเชื่อว่ามันต้องนำไปใช้งานได้จริง ซึ่งผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าต้องใช้ครุภัณฑ์ที่เราได้มาอย่างคุ้มค่า และผมเชื่อว่าโครงการนี้ มันมีประโยชน์ เราไม่ได้เพิกเฉยหน้าที่ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498
@ ขอสอบถามถึงที่มาของโครงการโมบายแล็บคาร์ ?
พิชัย : เนื่องจาก ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมท่านเกษียณอายุราชการไปแล้ว ท่านเลขาธิการ กสทช.ก็เลยมอบหมายงานให้ผม มารักษาการผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ที่ผ่านมา ถามว่าผมรับรู้ไหมกับโครงการนี้ ผมตอบว่า ผมอยู่คนละสำนัก ผมไม่รู้เรื่อง แต่ตั้งแต่มารักษาการตำแหน่งนี้ ตั้งแต่ 22 ธ.ค.ผมก็ดูว่า งานหลาย ๆ งานที่ต้องดูแลมีอะไรบ้าง ก็พบว่ามีโครงการนี้ และบังเอิญว่า สำนักข่าวอิศรา ก็สนใจเรื่องของโครงการนี้
เนื่องจาก ภารกิจ ของสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม มีหน้าที่ส่วนหนึ่งคือการกำกับดูแลตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 สาระสำคัญของ พ.ร.บ. นี้ก็คือ ใครกระทำนำเข้าคลื่นวิทยุ โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือว่ามีควาผิดตามกฎหมาย โครงการนี้ เกิดขึ้นมาเนื่องจากว่าเมื่อเจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจค้น จับกุม ผู้กระทำผิดตาม พ.ร.บ. นี้ ก็พบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่เราไม่มีอุปกรณ์ ไปตรวจค้นจับกุมเขา เหตุที่มีโครงการนี้ เป็นความจำเป็นอย่างหนึ่ง ที่ กสทช. ต้องกำกับดูแล ซึ่งถ้ามันมีการใช้เครื่องวิทยุโทรคมนาคมที่ไม่ถูกต้อง มันจะเป็นปัญหาใหญ่เช่น มันจะทำให้เกิดการรบกวนการสื่อสารทางการบิน
ก็ไม่ใช่เรื่องของการสื่อสารอย่างเดียว มันยังเกี่ยวกับการนำเครื่องขึ้นและการนำเครื่องลงด้วย ดังนั้นถ้า สำนักงาน กสทช. ไม่ดำเนินการ ก็มีความผิด อย่างน้อย เราก็มีเครื่องมือที่จะเข้ามาตรวจสอบ ก็จะทำให้แก้ไขปัญหาได้ นี่คือ ความจำเป็น ว่าทำไม สำนักงาน กสทช และ สำนักงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมต้องดำเนินการโครงการนี้
@ ระยะเวลาในการออกไปตรวจสอบ เฉลี่ยกี่ครั้งต่อเดือนหรือต่อสัปดาห์ ?
พิชัย : สัปดาห์หนึ่ง สองวันเป็นอย่างน้อย
…
เหล่านี้คือความคืบหน้าล่าสุดที่สำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบโครงการโมบายแล็บคาร์ของสำนักงาน กสทช.ที่ทั้งเลขาธิการ กสทช.และ ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ยืนยันตรงกันว่าไม่ทราบปมพิรุธของทีโออาร์ ทั้งนี้จะรับข้อสังเกตของสำนักข่าวอิศราที่มีต่อประเด็นต่างๆ ไปดำเนินการตรวจสอบต่อไป
( อ่านประกอบ : ทีโออาร์จัดซื้อโมบายแล็บคาร์ กสทช.สุดมั่ว!ตัดแปะเอกสารจากโครงการกล้องวงจรปิด )
หมายเหตุ : บุคคลในภาพ คือ นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร