ก.พลังงานยันระบบสัมปทานมีความโปร่งใส สร้างความมั่นคงประเทศสูงสุด
กระทรวงพลังงาน ยืนยันระบบสัมปทาน มีความโปร่งใสและเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานสูงสุด
ตามที่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ครั้งที่ 4/2557 วันที่ 13 มกราคม 2558 ได้ประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องการเปิดให้สัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ซึ่งในการประชุมได้มีการอภิปรายในประเด็นดังกล่าวอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหมาะสมเปรียบเทียบระหว่างการใช้ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต ซึ่งมีสาระสำคัญด้านความโปร่งใส และการกำกับดูแลแล้วนั้น
ล่าสุด วันที่ 15 มกราคม 2558 กระทรวงพลังงาน ขอชี้แจงว่า ระบบสัมปทานของไทย เป็นระบบมาตรฐานสากล มีความโปร่งใส โดยสามารถสอบทานความถูกต้อง(Cross Check) ภายใต้หลักเกณฑ์การแบ่งผลประโยชน์ ระหว่างรัฐกับผู้รับสัมปทาน(Fical Regime) และหลักเกณฑ์ในด้านการตรวจสอบและควบคุมการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานที่ชัดเจน และต่อเนื่อง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และกรมสรรพากร เป็นต้น
สำหรับเรื่องการตรวจสอบปริมาณสำรองปิโตรเลียม กระทรวงพลังงาน ระบุว่า รัฐทราบตัวเลขปริมาณสำรองปิโตรเลียมของแหล่งต่าง ๆ จากรายงานของบริษัทผู้รับสัมปทาน ซึ่งตัวเลขที่รายงานนี้เป็นตัวเลขเดียวกันกับที่ผู้รับสัมปทานรายงานแก่ผู้ร่วมลงทุน(Partner) ซึ่งต้องผ่านกระบวนการประเมินที่ถูกต้องเป็นไปตามกฏเกณฑ์มาตรฐานสากล ซึ่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็จะมีหน้าที่ตรวจสอบวิธีประเมินปริมาณสำรองของบริษัทผู้รับสัมปทานอีกทีหนึ่ง
นอกจากนี้รัฐยังได้ว่าจ้างองค์กรผู้ชำนาญการ( Third Party) เพื่อมาสุ่มตรวจตัวเลขปริมาณสำรองของบริษัทฯ เพื่อให้มั่นใจว่าตัวเลขที่บริษัทรายงานนั้นได้จากวิธีการประเมินที่เชื่อถือได้ตามหลักสากล รวมถึงกระบวนการตรวจสอบค่าใช้จ่าย และการอนุมัติการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับตามกฏหมายของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ
กระทรวงพลังงาน ชี้แจงต่อว่า สำหรับในขั้นตอนการผลิต และขายปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็มีการควบคุมและตรวจสอบอย่างรัดกุมและเป็นระบบ เพื่อป้องกันการสูญหายหรือลักลอบระหว่างการดำเนินการ โดยเฉพาะการขนถ่ายและการซื้อขายปิโตรเลียมจากแหล่งในทะเล ซึ่งตามประบวนการนั้น น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate)จากแท่นผลิตจะถูกส่งไปยังเรือกักเก็บปิโตรเลียม และจะมีเรือขนถ่ายน้ำมันมาเทียบเพื่อรับซื้อ ซึ่งกระบวนการซื้อ - ขายจะต้องผ่านอุปกรณ์มาตรวัด (Meter) โดยในการซื้อขายทุกครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นพยาน
ทั้งนี้ได้มีการกำหนดให้ใช้อุปกรณ์มาตรวัดที่ได้มาตรฐานสากลของอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ได้แก่ มาตรฐาน American Gas Association (AGA) และมาตรฐาน American Petroleum Institute (API) ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการสำรวจ ผลิต และอนุรักษ์ปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ออกตาม ความในพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ 2514 และยังต้องทำการเปรียบเทียบมาตรวัด(Calibrate) ตามระยะเวลาที่กำหนด ต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม และยังมีบทกำหนดโทษห้ามมิให้ผู้ซื้อและผู้ขายทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์มาตรวัดโดยไม่ได้รับอนุญาต ดังนั้น การกำกับดูแลการซื้อ - ขาย ปิโตรเลียมของภาครัฐเป็นไปอย่างมีระบบภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายอย่างรัดกุม
แต่สำหรับระบบแบ่งปันผลผลิต(Production Sharing Contract – PSC) เป็นระบบที่ใช้แพร่หลายในประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่ระบบสัมปทานมีการใช้แพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสองระบบต่างสามารถทำหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติได้ โดยมีหลายส่วนที่คล้ายคลึงกัน เช่น ในส่วนมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว(Cost Oil หรือ Cost Gas) ส่วนที่เหลือ (Profit Oil หรือ Profit Gas) จะแบ่งกันระหว่างรัฐกับผู้ประกอบการ แต่ความแตกต่างกันจะมีกลไกในการจัดเก็บ เช่น ระบบสัมปทานจะใช้กลไกภาษีเงินได้ และค่าภาคหลวงเป็นกลไกเก็บผลประโยชน์หลัก แต่ระบบ PSC จะใช้กลไกในการแบ่งปันผลกำไรของ Profit Oil ที่ขายได้ เป็นต้น ซึ่งจะจัดเก็บมากหรือน้อยนั้นสามารถก็อาจระบุเป็นจำนวนร้อยละที่อยู่ในกลไกการจัดเก็บนั้นๆ ได้