เครือข่ายครูฯ เปิดตัวสื่อรณรงค์ สร้างเกราะป้องกันเด็กไทยติดบุหรี่
เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จัดทำสื่อเสริมสร้างพลังจิตใต้สำนึกหนูน้อยใจเข้มแข็ง ชุดอากาศดีดีไม่ต้องมีบุหรี่ สร้างภูมิคุ้มกันเด็กจากการสูบบุหรี่ เพื่อมอบให้คุณครูใช้เป็นสื่อการสอน เนื่องในโอกาสวันครู
วันที่ 14 มกราคม 2558 เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ สนับสนุนโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวเปิดตัวสื่อเสริมสร้างพลังจิตใต้สำนึกหนูน้อยใจเข้มแข็ง ชุดอากาศดีดีไม่ต้องมีบุหรี่ เพื่อมอบให้กับครูผู้สอนระดับชั้นประถมวัยคือช่วงอายุ 3-6 ขวบ ใช้ในการจัดกิจกรรมกับเด็กช่วงวัยดังกล่าวให้ซึมซับค่านิยมการไม่สูบบุหรี่และสามารถปฎิเสธจากการถูกชักชวนได้เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การป้องกันเด็กจากการเสพติดบุหรี่ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงปฐมวัย เพราะหากเยาวชนติดบุหรี่ 10 คน 7 คนติดไปตลอดชีวิตและที่เหลืออีก 3 คนจะติดไปอีก 20 ปีก่อนที่จะเลิกสูบได้
ส่วนการที่บริษัทบุหรี่เกิดสงครามแย่งชิงลูกค้า ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า เพราะหากไม่สามารถหาลูกค้ามาสูบบุหรี่แทนคนที่ตาย หรือเลิกไปได้ บริษัทก็จะเจ๋งภายใน20ปี
" โอกาสวันครูที่จะถึงนี้ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จึงได้ร่วมกับนักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก พัฒนาสื่อชุดนี้ขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ครูใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเด็กจากการสูบบุหรี่" ศ.นพ.ประกิต กล่าว และว่า คนที่สูบบุหรี่ทุกรายครึ่งหนึ่งจบ ป.4 อีก 1 ใน 3 จบมัธยม คนที่จบมหาวิทยาลัยก็จะน้อย เหลือประมาณ 10% ฉะนั้น สิ่งสำคัญคือเราต้องให้ความรู้ และศึกษาในสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ให้กับเด็กๆ ซึ่งจะส่งผลให้กับตัวเขาเองและครอบครัว แต่ที่เราทำวันนี้คือทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดควันบุหรี่ ให้ชนะสิ่งยั่วยุทั้งหลาย และตราบใดที่ยังไม่มีการปิดช่องทางสื่อโฆษณาเด็กก็ยังคงติดบุหรี่ เราจำเป็นต้องรณรงค์ต่อเนื่อง
เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงการร่างกฎหมายควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.... ก็เพราะเหตุการณ์เหล่านี้เป็นที่มาของกฎหมาย จะไปปิดช่องทางของการขาย ซึ่งเด็กไทยมักจะคิดว่า บุหรี่ไม่ได้มีโทษจริงๆ ขนาดมีสื่อรณรงค์อยู่ เด็กก็ยังติดบุหรี่แม้จะรู้ก็ตาม
"วัยรุ่นไม่รู้ว่า บุหรี่นั้นติดจนถึงขั้นเลิกไม่ได้ บุหรี่ยังเป็นประตูนำไปสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ ปัจจัยสำคัญของการติดบุหรี่คือติดบุหรี่ตั้งแต่อายุน้อย ยิ่งน้อยเท่าไหร่ปัจจัยที่จะนำไปสู่การเสพสิ่งเสพติดอื่นยิ่งมากเท่านั้น ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องให้ความรู้กับตัวเด็กและทำสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากสิ่งเสพติดร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว ใช้เวลาพิจารณายกร่างอย่างรอบคอบ รวมเวลาเกือบ 4 ปี โดย พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาเสพ พ.ศ.2535 ได้มีการบังคับใช้มากว่า 20ปีแล้ว และจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง ให้ทันกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่บริษัทบุรีมีเทคนิคด้านการตลาดใหม่ๆ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ยาสูบ ชนิดใหม่ๆที่ไม่สามารถครอบคลุมด้วยกฎหมายเก่าที่มีอยู่ อีกทั้งได้เพิ่มเติมมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการตลาด และการส่งเสริมการขายของบริษัทบุหรี่ เพื่อป้องกันเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่"
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยยังมีพันธะกรณีร่วมกับ 178 ประเทศ ที่ต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์การอนามัยโลก ดังนั้นกฎหมายฉบับใหม่ จึงเพิ่มสาระสำคัญตามที่กรอบอนุสัญญา ควบคุมการบริโภคยาสูบ เสนอเป็นแนวทางไว้การที่สมาคมการค้ายาสูบไทย ซึ่งสนับสนุนทุนโดยบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส พยายามที่จะสื่อถึงรัฐบาลว่า ร่างกฎหมายที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนนั้น นับเป็นข้ออ้างที่ขัดกับสามัญสำนึกของคนไทยทุกคน และถือเป็นความไร้จริยธรรมอย่างยิ่ง
"บริษัทบุหรี่มองเห็นการเสพติดบุหรี่ของเยาวชนไทยที่สุดท้ายจบลงด้วยการเจ็บป่วย การตายเป็นเรื่องไม่สำคัญ และมองว่า การที่คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่วันละ 140 คน ปีละ 50,710 คน เป็นเรื่องไม่เร่งด่วน แต่เรามองว่า เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเยาวชนที่กำลังจะเติบโต เราจึงต่อสู้ และสุดท้ายก็ได้มาเป็นของขวัญให้กับเด็กๆจนสำเร็จ"
ในขณะที่ ภก.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า ช่วงแรกคลอดจนถึง 6 ขวบ ถือว่าเป็น ช่วงโอกาสทอง ของพ่อแม่ที่จะเสริมสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต เพื่อให้เติบโตอย่างมั่งคง มีคุณภาพ และมีความสามารถในการรู้ถูกรู้ผิด มีความสามารถในการคิดการตัดสินใจได้ในทางที่ถูกที่ควรได้ด้วยตนเอง การเลี้ยงดูหรือปัจจัยอื่นๆที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง โดนเฉพาะในช่วง6ปีแรก
"สื่อเสริมสร้างพลังจิตใต้สำนึกหนูน้อยใจเข้มแข็ง ในชุดการแสดง อากาศดีดีไม่ต้องมีบุหรี่ นั้นเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่จะช่วยให้พ่อแม่และครูผู้สอนได้ช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ของเด็กในเรื่องการไม่สูบบุหรี่ได้อย่างสนใจ"ภก.ดร.พัชราภรณ์ กล่าว และว่า นอกจากนี้ยังมีหนังสือนิทานเรื่องปากไม่ว่าง ที่ครูชีวันเป็นผู้เขียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กกล้า ปฏิเสธต่อสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายรวม ทั้งแบบฝึกเพื่อเสริมสร้างพลังจิตใต้สำนึกที่เด็กได้เรียนรู้ผ่านเกมส์และกิจกรรมในเล่มนี้ที่มีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องการไม่สูบบุหรี่
ด้านครูชีวัน วิสาสะ นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือสำหรับเด็กได้มาจากการวบรวมความคิด ในเรื่องของการสูบบุหรี่
"มีกรณีหนึ่งที่ผมเห็นคือ พี่ชายของผมเขาสูบบุหรี่ แล้วปรากฏว่า ลูกเห็นแล้วทำตาม ตั้งแต่วันนั้นพี่ชายของผมก็เลิกสูบบุหรี่ จึงมีแรงบันดาลใจที่จะสร้างสรรค์สื่อเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้เด็กๆได้รู้จักปฏิเสธเวลาที่ถูกชัดจูงให้สูบบุหรี่ และในหนังสือเล่มนี้ ก็จะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับทักษะการปฏิเสธโดยใช้คำว่า ปากไม่ว่าง"
เภสัชกรหญิงณัฐกานต์ ประสพสายพรกุล อดีตนักร้องสาวคู่ดูโอ "โน้ต-ตูน" กล่าว่ถึงสื่อสำหรับเด็กที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับบุหรี่ เป็นสิ่งที่ดีมาก โดยเฉพาะกับเด็กอายุ 3 - 6 ขวบ เพราะสื่อสามารถปลูกฝังและให้ความรู้เพื่อปกป้องเด็กไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบุหรี่ได้
ขณะที่ น้านิต - ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ ผู้ก่อตั้งสโมสรผึ้งน้อย กล่าวถึงการก่อตั้งสมาคมผึ้งน้อยเริ่มจากมองเห็นสภาพสังคมที่เกิดจากบุหรี่ ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีอาการป่วย และเสียชีวิต เพราะการสูบบุหรี่ ทั้งการชักชวน อยากลอง หรือแม้แม้ทำตามพ่อแม่
"ถ้าตอนนั้นตัวเราคิดได้ว่า สภาพสังคมจะเป็นเช่นปัจจุบันนี้ จะไม่ปฏิเสธการชักชวนการก่อตั้งสมาคมจากเพื่อนเลย แล้วยิ่งได้ฟังคำตอบจากเด็กที่เข้าร่วมกิจกกรมนี้แล้ว รู้สึกถึงความร่วมมือที่เด็กให้ความสำคัญ ถึงแม้จะเป็นแค่ส่วนหนึ่ง แต่หวังว่า หากเผยแพร่ต่อไปอนาคตจะไม่มีเด็กสูบบุหรี่อีก อยากฝากถึงคุณครูที่สอนเด็กปฐมวัย นำสิ่งเหล่านี้ไปปลูกฝังให้เด็กๆเพื่อให้เด็กได้รับความรู้ และสามารปกป้องตัวเองไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ อาจจะใช้เพลงอากาศดีดี เพลงนกสำลักควัน เพลงพุดเดิ้ล เซโน เป็นเพลงรณรงค์และยังสามารถนำไปปลูกฝังให้เด็กไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่"
ครูธนพร มะยมหิน ตัวแทนครูจากโรงเรียนบ้านคลองบัว กล่าวถึงการลงพื้นที่จัดกิจกรรมในจังหวัดต่างๆของเครือข่ายครูในช่วงที่ผ่านมา ก็พบว่า เยาวชนช่วงอายุของการเริ่มสูบบุหรี่ลดน้อยลงเรื่อยๆ ถ้าจะเริ่มจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้เรื่องพิษภัยบุหรี่ในเยาวชน ตอนเรียนช่วงมัธยมคงไม่ทันการณ์ ฉะนั้นต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ การฝึกฝน การปลูกฝัง จิตสำนึกให้เด็ก