เล่าเรื่องด้วยหัวใจ 'ครู' กับ 'ศิษย์'
หมายเหตุ:รายงานชิ้นนี้เรียบเรียงขึ้นจากการแถลงข่าวโครงการประกวดคลิป ‘เล่าเรื่องจากศิษย์ถึงครู’ ในโครงการรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ณ ลานกิจกรรม สสค. อาคารไอบีเอ็ม กรุงเทพฯ
16 มกราคม ของทุกปี เป็นวันครู ทำให้เราย้อนกลับไปในอดีต เพื่อระลึกนึกถึงพระคุณของคุณครูที่คอยประสิทธิประสาทวิชาความรู้แก่ลูกศิษย์ด้วยความปรารถนาดี โดยหวังว่า สักวันหนึ่งจะเห็นพวกเขามีอนาคตที่สดใสและเป็นคนดีของสังคม
หากความเป็นครูมิได้จำกัดเฉพาะในห้องเรียนที่มุ่งเน้น ‘วิชาการ’ เป็นหลัก แต่หมายรวมถึงการถ่ายทอด ‘วิชาชีวิต’ ควบคู่ด้วย หนึ่งในนั้น คือ เรื่องราวของ ‘ทิชา ณ นคร’ หรือป้ามล ผอ.ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน บ้านกาญจนาภิเษก
‘ป้ามล’ ได้รับการขนานนามเป็นครูผู้กล้าพลิกโฉมสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนให้กลายเป็นศูนย์เรียนรู้ทักษะชีวิตอย่างแท้จริง มิใช่ ‘คุก’ ที่คอยกักขังอิสรภาพ โดยตั้งมั่นจะทำหน้าที่สลายความพ่ายแพ้ในตัวเด็กให้หายไปและค่อย ๆ ก่อรูปขึ้นใหม่ เพื่อสร้างคนดีออกสู่สังคมอีกครั้ง
“แต่ละปีมีเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดในไทยประมาณ 3-5 หมื่นคน โดยร้อยละ 70 เป็นผู้แพ้ทางการศึกษา ถูกไล่ออกจากโรงเรียน ถือเป็นบาดแผลสำคัญ แต่เด็กเหล่านั้นมิได้ออกมาเฉพาะร่างกาย หากนำความรู้สึกของการเป็น ‘ผู้แพ้’ ออกมาด้วย” เธอบอกเล่าด้วยข้อความสั้น ๆ แสนสะเทือนใจ
ทั้งนี้ บ้านกาญจนาฯ ย่อมถูกตั้งคำถามจากสังคมว่า เด็กและเยาวชนที่นี่ไม่เรียนหนังสือหรือ??? ป้ามล กล่าวว่า เราพยายามหลบเลี่ยงไม่ผลิต ‘ความพ่ายแพ้’ ที่พวกเขาเคยสัมผัสซ้ำขึ้นอีก โดยจะไม่มุ่งเน้นการเรียนหนังสือเป็นหลัก แต่สิ่งที่จะได้รับการเพิ่มเติม ซึ่งโรงเรียนในระบบไม่ค่อยมี คือ ต้องคิดวิเคราะห์ได้
“ตั้งแต่บ้านกาญจนาฯ ใช้แนวทางการอบรมเน้นการคิดวิเคราะห์ เด็ก ๆ บอกกับเราว่า ถ้าโรงเรียนสอนให้ผมคิดวิเคราะห์สถานการณ์ต่าง ๆ หรือความดีความงาม ผมคงไม่ติดคุกแบบนี้”
แน่นอนที่สุด การขอให้โรงเรียนในระบบเดินรอยตามอุดมการณ์ของบ้านกาญจนาฯ ป้ามล ระบุว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงเรียนเหล่านั้นมีอุดมการณ์สอนหนังสือเพื่อให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยลืมมองว่า ระหว่างทางไปสู่จุดหมายนั้น โรงเรียนได้ส่ง ‘ผู้ชนะ’ และ ‘ผู้แพ้’ออกมาด้วย
ครูผู้อุทิศนี้จึงพยายามพูดให้กำลังใจเด็ก ๆ ที่ถูกสลักคำว่า ‘ผู้แพ้’ ติดหลัง จนยากที่จะเอื้อมมือไปลบเสมอว่า การเป็นผู้กระทำผิดเป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ นาทีที่ทำผิด เป็นเพียงนาทีเดียวเท่านั้น ไม่มีเหตุผลใดที่หมื่นแสนล้านนาทีที่เหลือในชีวิตจะล่มสลายตามไปด้วย แต่เวลาที่เหลือจะสามารถทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนแปลงได้ ขอเพียงอย่าไปผูกพันกับหนึ่งนาทีนั้น
“บ้านกาญจนาฯ จึงอบรมฝึกฝนเด็กและเยาวชนภายใต้ความเชื่อว่า ไม่มีใครเกิดมาบนความไม่ดีหรือเพื่อฆ่าใคร แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเกิดจากความผิดของทุกคนในสังคม ดังนั้นเมื่อมีโอกาสยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญในชีวิต จำเป็นต้องออกแบบเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้” ป้ามล กล่าว และว่า ‘วิชาชีวิต’ จึงเป็นหลักสูตรเรียนรู้ สัดส่วนร้อยละ 50 เพื่อไม่ให้พวกเขากลายเป็นผู้แพ้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อถามว่าความสำเร็จในการใช้วิชาชีวิตเปลี่ยนแปลงเด็กกระทำผิดมีหรือไม่ เราได้รับคำตอบว่า ร้อยละ 98 ของเด็กในบ้านกาญจนาฯ เป็นผู้รอด มีเพียงร้อยละ 2 เป็นผู้กระทำผิดซ้ำ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคดียาเสพติด เมื่อเทียบเชิงสถิติจึงถือว่าน้อยมาก
“ต้องขอบคุณเด็กทั้งร้อยละ 98 และพ่อแม่เหล่านั้นด้วย ที่พิสูจน์ให้สังคมรู้ว่า ไม่มีใครเกิดมาเป็นเช่นนี้ตลอดไป และรู้จักสร้างโอกาสดี ๆ ให้สามารถกลับมาเป็นพลังแก่สังคมได้”
ป้ามล ยังระบุถึงบทบาทของคุณครูที่ควรจะเป็นในอนาคตว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไปมากขึ้น ดังนั้นโรงเรียนต้องทำหน้าที่เพิ่มมากขึ้น หากยังสอนหนังสือรูปแบบเดิม เชื่อว่าจะทิ้งมรดกอันอัปยศ แต่ครูยุคใหม่ต้องสร้างโอกาส โอบอุ้ม เติบโตไปพร้อมกันได้ ภายใต้ห้องเรียนของเรา ครูสามารถทำให้ความเป็นกลุ่มกลายเป็นพื้นที่แห่งความรัก ไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะเรียนหนังสือ แต่ต้องส่งเสริมให้รักกัน ห่วงใยกัน เพื่อเด็กจะเกิดความเห็นอกเห็นใจ และในที่สุดจะกลายเป็นผู้รอดในสังคม แม้จะมีความรู้ไม่มากนักก็ตาม
หนึ่งในเมล็ดพันธุ์ภายใต้การบ่มเพาะจากบ้านกาญจนาฯ ‘กอล์ฟ’ อัครพงศ์ บุญมี สำนึกในบุญคุณของคุณครูป้ามล ผู้ให้ความรัก ความเมตตา โดยไม่ตอกย้ำความเป็นผู้แพ้ซ้ำอีกครั้ง เขาเล่าว่า สถานพินิจฯ ที่อื่นเต็มไปด้วยความรุนแรง ถูกจำกัดพื้นที่ในห้องสี่เหลี่ยม ไม่แตกต่างอะไรจากคุก จะนอน จะกิน ก็ไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดา เพราะตลอดเวลาจะไม่ล่วงรู้ว่า มีใครบ้างที่ไม่ชอบเรา
“บางครั้งเพื่อน ๆ นอนกันอยู่ จะถูกอีกฝ่ายคลุมโปงกระทืบ บางคนถูกแทง แต่สำหรับบ้านกาญจนาฯ ไม่มีเรื่องเหล่านั้น แม้กระทั่งกุญแจล๊อกข้อมือ”
แล้วพบกับป้ามลครั้งแรกเมื่อไหร่ กอล์ฟ กล่าวว่า ป้ามลในชุดธรรมดา เหมือนแม่บ้าน เดินเข้ามาถามว่า “กินข้าวแล้วหรือยัง” ซึ่งขณะนั้นยังไม่ทราบว่า เป็นผอ.บ้านกาญจนาฯ จนช่วงปฐมนิเทศถึงทราบ และวินาทีที่ป้ามลลงจากเวทีเข้าสวมกอดเด็กแต่ละคน สำหรับผมเป็นวินาทีที่พิเศษมาก (เสียงสะอื้น)
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะให้นิยามบ้านกาญจนาฯ อย่างไร แต่สิ่งที่นี่ให้ คือ ทักษะชีวิต ซึ่งสัมผัสไม่ได้ในที่อื่น” เขากล่าว และว่า ทักษะชีวิตทำให้คนไม่ตั้งใจเรียนเกิดความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองได้
กอล์ฟบอกอีกว่า ผมก่อคดีฆ่าคนตาย แต่ช่วงวินาทีทำแบบนั้นมันยากมาก เพราะวินาทีที่จะทำความเลวต้องก้าวผ่านความกลัว แต่บ้านกาญจนาฯ สอนให้ทำความดี ให้ช่วยเหลือผู้อื่น โดยเฉพาะการที่ป้ามลสอนให้รู้จักการคิดวิเคราะห์
ดังนั้น ทุกครั้งในยามที่มีความทุกข์ เขาจะนึกถึงบ้านกาญจนาฯ เป็นที่พักใจแห่งแรกเสมอ
อีกหนึ่งบุคคลที่ได้ดีเพราะมีครู ต้องยกให้ด๊อกเตอร์กองขยะ ‘ดร.กุลชาติ จุลเพ็ญ’ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี จากเด็กเกเรไม่สนใจเรียน พลิกชีวิตดีขึ้นได้เพราะมีครูเป็นผู้เติมเต็ม
เขาเล่าว่า พ่อกับแม่หย่าร้างกัน ทำให้ต้องใช้ชีวิตเป็นเด็กเร่ร่อนตั้งแต่อายุ 6 ขวบ ใช้ชีวิตอย่างอิสระ ทั้งที่ความจริงเด็กวัยนี้ควรเรียนหนังสือ แต่เมื่อไม่มีพ่อแม่ จึงกลายเป็นเด็กเกเร ไม่ทำการบ้าน และถูกทำโทษประจำ จากสาเหตุดังกล่าวทำให้รู้สึกไม่อยากไปโรงเรียน เพราะสถานที่นั้นเปรียบเหมือนหายนะของชีวิต
ความเป็นผู้แพ้ที่ถูกสังคมหยิบยื่นให้ ดร.กุลชาติ บอกว่า ต้องเบนเข็มชีวิตไปในด้านมืด ไม่อยากให้คนทั่วไปเห็น และเพื่อเอาตัวรอดจึงต้องขออาหารกิน เริ่มแรกทุกคนก็หยิบยื่นให้ เพราะเห็นว่าเป็นเด็ก แต่เมื่อให้บ่อยครั้งก็เริ่มรู้สึกต้องให้ทำงานแลกเปลี่ยน ซึ่งเรารู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เคยสอนให้ทำงาน ดังนั้นเมื่อไม่ทำก็ถูกตัดโอกาส
เขากล่าวต่อว่า ทางอยู่รอดจึงต้องมานั่งขอทาน เพราะอาหารต้องใช้เงินซื้อ แต่กลับถูกมองว่าสร้างความรำคาญกับคนทั่วไป สีหน้าบ่งบอกความขยะแขยง นั่นล้วนเป็นสิ่งที่สังคมป้อนให้ จึงพยายามดิ้นรนเอาตัวรอดเรื่อยมา จนมีผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งหยิบยื่นความช่วยเหลือ โดยหลอกล่อใช้เราเป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ ทำให้เราเริ่มสร้างกำแพงไม่ไว้ใจสังคมขึ้นทันที
“ผมเป็นเด็กเร่ร่อน เกเร เหลือขอ ทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับด้านมืด โดยเห็นเป็นเรื่องเคยชิน จนแม่กลับมาอยู่ด้วย เพื่อดึงลูกกลับมาในด้านสว่าง และยึดอาชีพเก็บขยะด้วยกัน”
ดร.กุลชาติ กล่าวอีกว่า กลายเป็นดร.ได้ทุกวันนี้เพราะมีครูคอยให้โอกาสและส่งเสริมการเรียนมาตลอด ตั้งแต่สมัยประถมศึกษาที่ได้รับความเมตตาจากครูใหญ่ให้เรียนต่อในโควตาเรียนดี และเรียนรู้ความลำบากในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในตัวเองจากครูสอนคณิตศาสตร์สมัยมัธยมศึกษาตอนต้น
“ด้วยความไม่มีจุดมุ่งหมาย ทำให้ตอนเรียนชั้นม.1 เทอมแรกติด ร 5 วิชา และปล่อยมาจนจบม. 3 ทำให้ต้องไปขอแก้จากครูใหม่ หนึ่งในนั้น คือ วิชาคณิตศาสตร์ ท่านให้ผมทำการบ้านมาส่ง ทำให้หมด ถ้าไม่ถูกก็ทำใหม่ ซึ่งจำได้ว่าส่งสมุดการบ้านไป 5 เล่ม”
ทั้งนี้ คุณครูผู้เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่เปลี่ยนชีวิตจากเด็กกองขยะเป็นดร. ต้องขอขอบคุณ ‘ผศ.ชลิตต์ มธุรสมนตรี’ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ที่คอยดูแลมาตลอดจนประสบความสำเร็จ
“ผมเคยถามครูว่า ครูทำอาชีพนี้ได้อย่างไร เงินก็ไม่พอกิน ไหนจะมีภาระรับผิดชอบลูกตัวเองอีก แล้วทำไมถึงเรียกผมให้กินข้าวบ้านครูทุกวัน” ดร.กุลชาติ ย้อนถึงคำถามที่เคยตั้งขึ้นกับผศ.ชลิตต์ ก่อนได้รับคำตอบว่า ฉันก็กินแบบนี้ทุกวัน
“ท่านให้ใจทุกอย่างในสิ่งที่ไม่เคยเห็นครูคนไหนให้...ใช้ใจสัมผัสใจผม” เสียงที่กลั่นออกมาจากใจผู้ชายคนนี้ บ่งบอกถึงหัวใจ ‘ศิษย์’ ที่มีไปถึง ‘ครู’
จะเห็นได้ว่ากว่าที่คนหนึ่งจะเติบโตขึ้นมาอย่างมั่นคงในสังคมนั้น ย่อมต้องได้รับแรงหนุนจากคนรอบข้างมหาศาล โดยเฉพาะ ‘คุณครู’ ผู้ชี้นำโอกาสไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบเสมือนเรือจ้างที่ไม่หยุดพายส่งถึงฝั่ง ทำให้ทุกครั้งที่ ดร.กุลชาติ ท้อแท้ หรือ เหนื่อยล้า
เขาจะคิดเสมอว่า “ทำไมครูจึงอยู่ในอาชีพจนเกษียณ ทำไมครูไม่เลิก เพราะถ้าครูเลิก ใครจะทำแทนครู” .