รัฐบาลเร่งสำรวจปัญหาชาวบ้าน หยิบประเด็นเหลื่อมล้ำถกเวทีเศรษฐกิจโลก
นายกฯ ชี้สัปดาห์หน้าเริ่มทำสำมะโนประกบเวทีคู่ขนานรวมปัญหาชาวบ้าน คาด 1-2 เดือนเสร็จ ประเด็นปฏิรูปสื่อ-แก้รัฐธรรมนูญ ดึงจุฬาฯ-นิด้าเป็นแกน ส่วนคณะกรรมการสอบเหตุรุนแรงยังไม่คืบ เตรียมนำประเด็นแก้ความเหลื่อมล้ำและปัญหาน้ำโขงถกเวทีเศรษฐกิจโลกเตือน ภัยแล้งยังน่าห่วงน้ำไม่พอใช้ สั่งเลื่อนปลูกข้าวนาปีวางกรอบเวลาทำนาใหม่พร้อมแผนจัดการน้ำช่วงต้นปี
วันนี้ (6 มิ.ย.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ผ่านทางสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยถึงความคืบหน้าการปฏิรูประเทศตามแผน ปรองดองว่า แนวทางที่จะทำต่อจากนี้คือโครงการสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อรับฟังและจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหา ในลักษณะการทำสำมะโนโดยอาศัยความร่วมมือจากสำนักที่ทำการสำรวจความนิยมหรือ ความเห็นที่มีอยู่แล้วในระยะต่างๆมารวมกันให้เป็นความเห็นระดับชาติ ซึ่งตรงนี้อาจต้องใช้เวลา 1-2 เดือน ควบคู่การจัดเวทีคู่ขนานต่างๆโดยคาดว่าจะเริ่มกระบวนการอย่างเป็นทางการได้ ในสัปดาห์หน้า ส่วนผู้ที่จะมารับผิดชอบดูแลภาพรวมของโครงการนั้นจะให้ประชาชนที่เริ่มทำงาน ในส่วนนี้เป็นผู้เสนอเข้ามา โดยรัฐบาลจะไม่ชี้นำแต่จะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกเท่านั้น
สำหรับปัญหาการสื่อสารมวลชนได้มีการพูดคุยกับคณะบดีคณะ นิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและองค์กรวิชาชีพสื่อเพื่อวางรูปแบบ ให้เกิดเสรีภาพในการแสดงออก โดยไม่สร้างความเกลียดชังและนำไปสู่ความรุนแรง ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ได้ทาบทามอธิการบดีของนิด้าและนักวิชาการที่เกี่ยวข้องมาดูแลในประเด็นนี้ ส่วนการตั้งคณะกรรมการที่มาตรวจสอบข้อเท็จจริงอาจต้องใช้เวลาเพื่อให้คณะ กรรมการชุดนี้มีส่วนประกอบครบทุกฝ่ายและได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน
“สิ่งที่ตั้งใจคือจะเร่งฟื้นฟูและผลักดันแผนปรองดองให้เร็วที่สุด บางเรื่องคงไม่สามารถเสร็จสิ้นในรัฐบาลนี้ แต่ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เมื่อแผนตรงนี้เดินไปได้ระดับหนึ่ง สังคมมีความมั่นคง การตัดสินใจทางการเมืองก็จะเป็นเรื่องที่กลับมาพิจารณา แต่ระหว่างนี้สิ่งสำคัญรัฐบาลต้องสามารถบริหารบ้านเมืองเพื่อผลักดันแผนให้ เป็นรูปธรรมได้”
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงปัญหาภัยแล้งในขณะนี้ว่า จากข้อมูลของศูนย์ติดตามสถานการณ์น้ำพบว่าทุกพื้นที่ในประเทศยกเว้นภาคตะวัน ออกส่วนหนึ่งมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าร้อยละ 30 ทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่เขื่อนหลัก เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี ทำให้ต้องมีการบริหารการจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง
“ในช่วงการทำนาปรังที่ผ่านมาเรามีความพยามกำหนดพื้นที่ แต่เอาเข้าจริงก็มีพื้นที่ทำนาและการเกษตรสูงกว่าที่กำหนดไว้เกือบร้อยละ 60 ซึ่งขณะนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนอยู่ในภาวะที่ต้องมาทบทวนถึงความจำเป็นในการ บริหารจัดการน้ำ เพราะคาดว่าจะสามารถจัดการได้อีกแค่ 2 เดือนเท่านั้น”
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อไม่ให้ชาวนาทำนาปีแล้วเกิดความเสียหายเพราะขาดแคลนน้ำ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้ประกาศเลื่อนการทำนาปีในเขตพื้นที่ชลประทาน ออกไประยะหนึ่งเพื่อกำหนดกรอบเวลาที่เหมาะสมควบคู่ไปกับการทำแผนบริหาร จัดการน้ำ นอกจากนั้นยังให้กระทรวงเกษตรฯ จัดทำแผนล่วงหน้าสำหรับต้นปีเพราะจากสถานการณ์แห้งแล้งในปีนี้จะทำให้น้ำต้น ทุนมีค่อนข้างต่ำหรือสามารถรองรับการใช้น้ำในพื้นที่การเกษตรได้เพียง 2.4-3.6 ล้านไร่ รวมไปถึงการหาอาชีพเสริมให้เกษตรกร โดยจะเร่งรัดให้กระทรวงจัดทำและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาภายใน 1- 2สัปดาห์
โดยในวันเดียวกันนี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก (เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม) ที่ประเทศเวียดนาม โดยมีประเด็นใหญ่คือ การอธิบายถึงเหตุการณ์ทางการเมืองรวมถึงจุดยืนของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาโดย การบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการปรองดอง, ยืนยันภาพรวมและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของไทยหลังวิกฤติ, สร้างความเข้าใจให้สื่อต่างชาติ รวมถึงการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะใช้ระเบียบสำนักนายกเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางกรอบ การทำงานให้รัฐบาลชุดอื่นสานงานต่อได้ในกรณีที่รัฐบาลพ้นจากตำแหน่ง
นอกจากนี้ยังมีประเด็นหารือกับประเทศภาคีลุ่มแม่น้ำโขง โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะเน้นเรื่องการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในเขตลุ่มน้ำโขงและการพัฒนา ความเชื่อมโยงในภูมิภาค เช่น โครงการทางรถไฟ การก่อสร้างถนน รวมถึงการพัฒนาคนให้สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้การพัฒนาทั้งหมดต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานการรักษาสมดุลธรรมชาติ ซึ่งจะโยงไปถึงกรณีการจัดการน้ำ เนื่องจากปัญหาการสร้างเขื่อนในจีนซึ่งจะต้องหากรอบการแลกเปลี่ยนข้อมูลว่า ควรจะเป็นอย่างไร.