ฟังความรู้สึกทหาร-ตำรวจชั้นผู้น้อยแดนใต้... เครียด-เสี่ยงตาย-เบื่อนาย-โดดเดี่ยว
เหตุการณ์ พลทหารรุสลาม มอและ อายุ 22 ปี ใช้อาวุธปืนประจำกายยิงใส่กลุ่มผู้บังคับบัญชาในห้องทำงานกลางฐานปฏิบัติการในท้องที่บ้านจำปากอ หมู่ 1 ต.บาเร๊ะเหนือ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส จนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายนาย เมื่อวันพุธที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้กระตุกให้สังคมต้องหันมาเหลียวดูปัญหาคุณภาพชีวิตของกำลังพลที่ปฏิบัติงานเสี่ยงตายอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูล ณ ปีงบประมาณ 2554 มียอดกำลังพลที่ปฏิบัติงานอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตามกรอบอัตรากำลังของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า จำนวน 64,272 นาย ในจำนวนนี้เป็นทหาร 34,625 นาย แยกเป็นทหารหลัก 23,704 นาย ทหารพราน 10,921 นาย ซึ่งทั้งหมดเป็นกำลังพลที่ปฏิบัติงานจริงในหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล
ขณะที่ตำรวจมีทั้งสิ้น 16,918 นาย ข้าราชการฝ่ายพลเรือน 8,238 นาย นอกนั้นเป็นศูนย์ข่าวกรองฯ 902 นาย ศูนย์สันติสุข 333 นาย ส่วนการพัฒนา 1,986 นาย และอื่นๆ เช่น ส่วนบังคับบัญชา, ที่ปรึกษา 1,573 นาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่ากำลังพลที่ต้องเสี่ยงอันตรายคือกำลังพลที่อยู่ในสนามจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจ ทหารชั้นผู้น้อย และพลทหารที่ผ่านการเกณฑ์และฝึกอบรมเพียงไม่กี่เดือนก็ต้องจับปืนลงไปต่อสู้กับกลุ่มก่อความไม่สงบที่เป็นดั่ง “ผี” เพราะไม่มีตัวตน ไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่ถ้าเผลอก็ถูกระเบิด ถูกยิงตายได้ทุกเมื่อ ขณะที่เบี้ยงเลี้ยงเสี่ยงภัยได้กันอยู่ที่ร้อยกว่าบาทต่อวันเท่านั้น
สถิติล่าสุดที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปความสูญเสียนับตั้งแต่เดือน ม.ค.2547 ถึงเดือน ส.ค.2554 มีทหารพลีชีพไปแล้ว 332 นาย ตำรวจ 274 นาย ทหารบาดเจ็บ 1,634 นาย ตำรวจ 1,137 นาย
ที่ผ่านมาด้วยระบบการบังคับบัญชาและความหวาดกลัวในสถานการณ์ ทำให้เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อยเหล่านี้มีพื้นที่สื่อสารกับสังคมน้อยมาก พวกเขาต้องไประบายความอัดอั้นและความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ทางอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะตามห้องสนทนาต่างๆ
หลังเกิดเหตุการณ์กำลังพลใช้ความรุนแรงด้วยการยิงพวกเดียวกันเองหลายครั้ง ซึ่งแพทย์ชี้ว่าเกิดจากความเครียดสะสมจากการปฏิบัติงาน “ทีมข่าวอิศรา” จึงเปิดพื้นที่ให้ทหาร ตำรวจชั้นผู้น้อยได้ระบายความรู้สึกกับแรงกดดันที่เขาต้องเผชิญในแต่ละวันในภารกิจที่เรียกว่า “สร้างสันติภาพที่ชายแดนใต้”
ข้อมูลทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อกล่าวหาผู้ใดหรือหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ แต่ต้องการสื่อสารความรู้สึกของกำลังพลรากหญ้าว่าพวกเขาต้องเผชิญกับอะไร ในขณะที่ผู้หลักผู้ใหญ่หรือแม้แต่คนในรัฐบาลกำลังนั่งกดปุ่มอยู่ในห้องแอร์
เบื่อ”นาย”ออกนอกพื้นที่-ใช้มือถือสั่งงาน
กำลังพลมุสลิมรายหนึ่งจากหน่วยทหารหลักในพื้นที่ บอกว่า รู้สึกเครียดตลอดกับภารกิจเสี่ยงอันตราย แต่ที่ต้องเครียดหนักกว่านั้นคือพฤติกรรมของ “นาย” ที่ไม่ค่อยเอาใจใส่ดูแลลูกน้องเท่าที่ควร
“เท่าที่ผมเห็นมีแต่ลูกน้องที่ใส่ใจต่อหน้าที่มากกว่าเรื่องส่วนตัว ส่วนพวกนายๆ มักไม่ค่อยเอาใจใส่ หลายครั้งเมื่อมีการแจ้งเตือนเหตุร้ายจากหน่วยข่าวเข้ามา ผู้บังคับบัญชาก็จะเดินทางออกนอกพื้นที่ แล้วใช้โทรศัพท์เข้ามาสั่งการหรือกำกับการทำงาน ซึ่งก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำแบบนั้นทำไม”
ห้ามป่วย-ห้ามลา-เงินไม่มี
กำลังพลรายนี้ ยังเผยความรู้สึกของการเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างเจ็บช้ำว่า ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะ “นาย” มักสั่งเตรียมพร้อมตลอด ห้ามป่วย ห้ามลา แต่ตัวผู้บังคับบัญชาเองกลับไม่ค่อยอยู่ฐาน ทำให้เกิดความเครียดและรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น
“พวกเราทำอะไรผิดก็จะถูกด่า ถูกต่อว่าอย่างรุนแรง ทั้งๆ ที่การบริหารงานในหน่วยก็มีปัญหา โดยเฉพาะเรื่องเงินที่ใช้ในการปฏิบัติงาน บางช่วงต้องจ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนโดยไม่ทราบสาเหตุ”
กำลังพลมุสลิมเล่าต่อว่า การทำงานหลายๆ เรื่องกระทบกับการปฏิบัติศาสนกิจบ้างเหมือนกัน เช่น ประชุมยาวตั้งแต่เย็นจนถึง 4-5 ทุ่ม ซึ่งถ้าเป็นเดือนอื่นไม่เป็นไร แต่หากเป็นเดือนบวช (เดือนรอมฎอน) มุสลิมต้องถือศีลอด และละศีลอดเมื่อพระอาทิตย์ตกดิน แต่ช่วงนั้นกลับกินอะไรไม่ได้ เพราะกำลังประชุม ทำให้หมดแรง ไม่มีสมาธิ ซ้ำยังเครียดและเสียกำลังใจด้วย
“แต่เราก็บอกอะไรนายไม่ได้ เพราะเราเป็นแค่ผู้ใต้บังคับบัญชา” กำลังพลรายนี้ กล่าว แต่ก็ยอมรับว่า “นาย” มีส่วนดีในบางเรื่องเหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาทำผิด “นาย”ก็มักให้ความช่วยเหลือและให้โอกาสแก้ไขหรือกลับตัว
สั่งอะไรต้องได้-ห้ามมี“แต่”
ขณะที่ทหารพรานไทยพุทธรายหนึ่งซึ่งปฏิบัติหน้าที่ใน จ.ยะลา เผยความรู้สึกว่า เครียดจากการทำงานเพราะผู้บังคับบัญชามักใช้อารมณ์ในการสั่งงาน กำลังพลทุกนายต้องทำตามทุกอย่างที่ "นาย" สั่ง ถ้าช้าหรือไม่ได้ดั่งใจก็จะต้องถูกลงโทษ
“ทุกครั้งที่สั่งต้องได้ดั่งใจนายเท่านั้น ห้ามพูดคำว่า ‘แต่’ หรือ ‘ไม่ได้’ เพราะนายบอกว่าทหารนั้น ‘ทำไม่ได้ไม่มี’ กำลังพลทุกนายต้องทำงานให้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในพื้นที่เลย”
ทหารพรานรายนี้บอกอีกว่า ในหน่วยยังมีปัญหาเล่นเส้นสายกันด้วย คือถ้าใครประจบหรือเข้ากับ “นาย” ได้ก็จะสบาย ไม่ต้องทำงานหนักหรือออกไปเสี่ยง แต่ถ้าคนไหนที่ “นาย” ไม่ค่อยชอบ ก็จะโดนกลับกันอีกอย่าง นี่คือที่มาของความเครียดและรู้สึกอึดอัดกับการทำงาน
เก็บกดถูกเอาเปรียบ-อยากได้"นาย"ใจดี
ส่วนรายนี้เป็นตำรวจในพื้นที่ จ.นราธิวาส เผยความในใจว่า รู้สึกเก็บกดเพราะต้องทำงานเสี่ยงอันตรายและถูก “นาย” เอาเปรียบ
“ผู้ใต้บังคับบัญชาห้ามดีเกินนาย นี่คือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ถ้าชาวบ้านชมผู้ใต้บังคับบัญชาให้นายฟัง นายจะโกรธทันที ขณะที่เวลาทั้งหมดของลูกน้องต้องทุ่มให้กับงาน ไม่ว่าเรื่องตัวเองหรือครอบครัวต้องเอาไว้ทีหลัง งานต้องมาก่อน แต่สำหรับนายไม่ได้เป็นเช่นนั้น เอาเปรียบลูกน้องตลอด”
“เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติส่วนใหญ่เก็บกดกันทั้งนั้น เพราะทุกคนมีความจำเป็น มีชีวิตส่วนตัวและครอบครัว โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่นับถือศาสนาอิสลามต้องละหมาดครบ 5 เวลา จึงต้องให้เวลาส่วนตัวพอสมควร แต่ที่ผ่านมาก็มีปัญหาตลอด”
ตำรวจผู้น้อยยังบอกอีกว่า แม้จะเครียดกับสถานการณ์ แต่ถ้าได้ผู้บังคับบัญชาที่ดีก็จะผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
“อยากให้นายทำตัวสบายๆ กับลูกน้อง ไม่เอาเปรียบทั้งเรื่องเวลาและรายจ่ายในสายงาน วางตัวกับลูกน้องให้เสมอเท่าเทียมกัน ถ้าทำได้แม้งานที่ได้รับมาจะหนักแค่ไหนลูกน้องก็สู้และทำให้เต็มที่” ตำรวจจากนราธิวาส กล่าว
ฟังเสียงผู้บังคับบัญชา – ทำงาน 20 พัก 10
ด้านแหล่งข่าวซึ่งเป็นนายทหารระดับนายพันและเคยปฏิบัติหน้าที่ใน จ.ปัตตานี กล่าวว่า ทหารทุกหน่วยจะมีระบบพักเพื่อให้กำลังพลได้พักผ่อน ผ่อนคลาย หรือกลับบ้าน แต่ละหน่วยจะไม่เหมือนกัน เช่น หน่วยที่เขาเคยปฏิบัติงาน จะให้ทำงาน 20 วัน พัก 10 วัน แต่บางหน่วยอาจจะให้ทำงาน 22 วัน พัก 8 วัน อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้นใน 1 เดือนกำลังพลทุกนายจะได้พักแน่นอน เพราะมีการวางระบบให้หยุดสลับวนกันไป
“ถามว่ากำลังพลเครียดมั้ย ถ้าเป็นหน่วยที่ต้องออกลาดตระเวน โดยเฉพาะลาดตระเวนเดินเท้า นั่นล่ะเครียดแน่ๆ เพราะอันตรายมาก ออกไปจะได้กลับหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เมื่อเป็นหน้าที่ก็ต้องทำ”
ไม่เชื่อมีดอดไปหาดใหญ่-ใช้มือถือสั่งงาน
ส่วนที่ว่าผู้บังคับบัญชาไม่ค่อยอยู่ในพื้นที่ หรือใช้โทรศัพท์มือถือสั่งงานจากนอกพื้นที่นั้น แหล่งข่าวนายทหารรายนี้ บอกว่า ถ้าเป็นการออกลาดตระเวนตามวงรอบประจำวันก็แน่นอนว่าระดับผู้บังคับบัญชาไม่ต้องออก เพราะไม่ใช่หน้าที่ ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้วางแผนในภาพรวม และต้องดูแลทุกเรื่องของหน่วย ซึ่งเป็นงานที่หนักมากเหมือนกัน
“แต่ถ้าเป็นเรื่องของการแอบออกไปนอกพื้นที่สามจังหวัด เช่น ไปหาดใหญ่ (จ.สงขลา) อย่างนี้ผมไม่ทราบ แต่ทหารไม่ค่อยมีนะที่ละทิ้งหน่วย เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็จะปกครองใครไม่ได้ ไม่มีใครมารบอยู่กับคุณหรอก ที่สำคัญหากผู้บังคับบัญชาระดับสูงขึ้นไปตรวจสอบพบก็จะถูกลงโทษสถานหนัก”
ยอมรับมีหักเบี้ยเลี้ยงลูกน้อง
เมื่อถามถึงเรื่องการบริหารด้านการเงิน นายทหารผู้นี้ บอกว่า แต่ละหน่วยจัดการไม่เหมือนกัน มีบ้างที่หักเบี้ยเลี้ยงหรือค่าอาหารของลูกน้องในวันหยุดหรือวันลาพัก แต่บางหน่วยก็หักไปเพื่อเป็นสวัสดิการ ส่วนมีใครเอาเข้ากระเป๋าบ้างหรือไม่ เขาไม่ทราบ
“แต่หน่วยที่ผมอยู่จ่ายเต็ม แม้แต่ช่วงลูกน้องลาพักก็จ่าย ผมเองยังต้องควักเบี้ยเลี้ยงส่วนตัวมาเลี้ยงลูกน้องและใช้จ่ายในหน่วยด้วยซ้ำไป” แหล่งข่าว กล่าว
ด้าน พ.อ.ปริญญา ฉายดิลก โฆษกประจำตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า การดูแลกำลังพลได้ดำเนินการตามระเบียบสายงานการบังคับบัญชาเป็นปกติอยู่แล้ว และไม่เคยมีปัญหาในภาพรวม แต่จะมีปัญหาเป็นจุดๆ บ้าง
“การใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น (กรณีทหารใช้อาวุธปืนกราดยิงเพื่อนร่วมงาน) เป็นเรื่องอารมณ์ชั่ววูบ ไม่ได้เกิดจากว่าเราดูแลหรือไม่ดูแล มันเป็นเรื่องของการทะเลาะกันบ้าง หรือมีปัญหาอื่นแล้วบันดาลโทสะ ซึ่งก็เกิดเฉพาะบางจุด ไม่ใช่ภาพรวม ที่ผ่านมาทั้งท่านแม่ทัพ และผู้บัญชาการทหารบก ทุกครั้งที่ลงมาก็กำชับมาตลอดให้ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ดีที่สุด เราก็ปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัด” พ.อ.ปริญญา กล่าว
และทั้งหมดนี้คือภาพจริงจากพื้นที่ แม้จะเป็นเพียงบางส่วน ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็สามารถสะท้อนปัญหาอารมณ์ความรู้สึก ตลอดจนขวัญและกำลังใจของกำลังพล ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานให้สังคมได้รับรู้กัน!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพประกอบจาก นครินทร์ ชินวรณ์โกมล ศูนย์ภาพเนชั่น