เสียงจากชุมชน "ถึงเวลาปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ" ชาวบ้าน-รัฐ-ทุน
การพัฒนาประเทศที่รวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง ทำให้ชุมชนท้องถิ่นอันเป็นรากฐานสังคมเกิดความอ่อนแอ นำไปสู่การล่มสลาย "พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สภาองค์กรชุมชน 2551" เกิดจากแรงผลักดันของเครือข่ายองค์กรชุมชน ถูกนำไปใช้ในหลายพื้นที่ ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน หนี้สิน และการจัดการทรัพยากรท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วม ผ่านกลไกการทำงานของ “สภาองค์กรตำบล” นับเป็นอีกหนึ่งความหวัง ของการพัฒนาท้องถิ่นทั่วประเทศ
การจัดการตนเอง โดยชุมชน เพื่อชุมชน
"ในอดีตชุมชนมีการจัดการตนเองอยู่แล้ว เช่นการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ร่วมกัน การว่าคดีความที่บ้านกำนันผู้ใหญ่บ้าน แต่การพัฒนาแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ส่วนกลาง จากชุมชนที่เคยจัดการตนเองได้ปัจจุบัน จึงเริ่มอ่อนแอ" นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สะท้อนว่า ถึงเวลาแล้ว ที่รัฐควรกระจายอำนาจให้กับชุมชนจัดการตนเอง ทั้งเรื่องทรัพยากรท้องถิ่น ทุนชุมชน และการศึกษา
การที่ส่วนกลางเข้ามาตัดสินใจแทนชุมชน ทำให้เกิดปัญหา คือ 1 ชุมชนล่มสลาย 2.ความขัดแย้งทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการดูถูกเหยียดหยามวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่สนับสนุนวัฒนธรรมทุนนิยม 3.ไม่เกิดการเรียนรู้ เพราะรู้แค่ในตำราแต่ไม่รู้จักรากเหง้าตนเอง 4. เกิดการทุจริต คอรัปชั่น "การปฏิรูปประเทศ คือการกลับคืนสู่ภาวะปกติอย่างในอดีต"
ดังนั้น "สภาองค์กรชุมชน" ที่เกิดขึ้นมาจึงถือเป็นโอกาสทอง ที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็ง ด้วยวิธีการ 1. การรวมตัว ร่วมคิดร่วมทำ 2. ทำข้อมูลชุมชน เพื่อค้นหาศักยภาพ ภูมิปัญญา 3. ทำแผนชุมชน 4.ดึงหน่วยงานรัฐ และองค์กรส่วนท้องถิ่น เข้ามาร่วมพัฒนา และทำการปฏิรูปประเทศในเชิงโครงสร้างคู่ขนานไป
สอดคล้องกับ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ ที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 5 มิติ ได้แก่ ด้านรายได้ สิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี เป็นปัญหาสำคัญในการพัฒนาประเทศ และสิ่งที่ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่แก้ได้ยากที่สุดคือ "การปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจ"
อำนาจรัฐ มักจะลับลวงครอบงำ ทำให้คนอยู่ใต้อำนาจ ส่วนอำนาจทุน ใช้วิธีหลอกล่อ ดูดกิน ซึมซับ ล้างสมองให้ประชาชนกลายเป็นนักบริโภคนิยมผ่านการโฆษณา ส่วนระบบพรรคการเมือง ระบบตัวแทนประชาชน ก็มีรูปแบบเป็นบริษัท คือสั่งการจากผู้มีอำนาจสูงสุด แทนการออกเสียงคนละ 1 เสียง
ดังนั้นต้องเปลี่ยนความสัมพันธ์เชิงอำนาจใหม่ คือให้ประชาชน สามารถต่อสู้กับรัฐ และทุนได้
ส่วน อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ได้เน้นย้ำให้ชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรท้องถิ่น และความมั่นคงทางอาหาร "จัดการ ดิน น้ำ ป่า และวิถี ชีวิตของตนเอง"
เพราะที่ผ่านมาระบบเสรีนิยมทางการค้า ทำให้เศรษฐกิจชุมชนล่มสลาย และการผลิตในช่วงที่ผ่านมาเป็นการนำทรัพยากรในพื้นที่ไปใช้เพื่อเศรษฐกิจแก่คนนอกพื้นที่ ทำให้ระบบโซ่อาหารถูกครอบงำโดยบริษัททุน ไม่กี่บริษัท
“ดังนั้นควรส่งเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชนให้กลับมา ผลิตเพื่อจำหน่ายในชุมชน ต่อต้านระบบอาหารทุนที่ผูกขาดในระบบตลาด”
นอกจากนี้ยังมองว่า การรวมกลุ่มแบบลักษณะนิเวศน์ที่ไม่ใช่เขตการปกครองเดียวกัน แต่อาจรวมกลุ่มตามวิถี วัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ ก็มีความน่าสนใจ เช่น การจัดการพื้นที่สาธารณะประโยชน์ร่วมกันในเขตลุ่มน้ำป่าบุ่งป่าทาม เขื่อนราศีไศล ของรอยต่อ 3 อำเภอ เพราะเป็นความลงตัวของระบบนิเวศน์ในพื้นที่นั้นๆ และเป็นสิ่งที่ท้าทายว่า หากรวมกลุ่มเช่นนี้ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทอย่างไร
จุดเล็กๆ แห่งการพัฒนา
คำกล่าวปาฐกถาพิเศษ ของ อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา ในงานสมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน ครั้งที่ 1/2554 ระบุว่า ขณะนี้โลก และสังคมไทยกำลังเผชิญกับมหัตภัยทางธรรมชาติ นอกจากนี้ การทุจริตคอร์รัปชั่น และคุณงามความดีที่ลดน้อยถอยลง ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติ
ดังนั้น หากชุมชนจะจัดการตนเองต้องยึด 3 อย่าง คือ ความดี ความสามารถ และความสุข เริ่มจากการจัดการตนเองก่อนขยายไปสู่ ครอบครัว ชุมชน จังหวัด และระดับชาติ
ส่วนแนวทางการสร้างขบวนการทางสังคม เพื่อสนับสนุน “การสานพลังชุมชนท้องถิ่นสู่ภาคีการจัดการตนเอง” อ.ไพบูลย์ได้เสนอแนวคิด 6 เหลี่ยมสร้างขบวนการทางสังคม ได้แก่ การจัดการความรู้ นโยบายสาธารณะ การเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจัดการ การสื่อสาร และการสร้างเครือข่าย
รูปธรรม “แก้จน” กับชุมชนจัดการตนเอง
ปัญหาอันดับต้นๆ ในชุมชน คือ ปัญหาหนี้สิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา กลับเน้นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่านกองทุนต่างๆ เพื่อนำมาชำระหนี้ หรือการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นเพียงการย้ายหนี้จากภาคเอกชน สู่รัฐบาลเท่านั้น แต่ยอดหนี้ยังเท่าเดิม ซ้ำยังเกิดปัญหา การกู้เงินผิดวัตถุประสงค์ ทำให้ต้องกู้เงินนอกระบบ มาจ่ายกองทุนกลายเป็นวัฏจักร
แต่ปัญหานี้แก้ได้ โดยส่งเสริมให้ประชาชนรู้จักการออม และสะสมทุนท้องถิ่น ซึ่ง พ่อวิรุณ สุขนวล เล่าว่า องค์กรการเงิน ต.ควนขนุน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ใช้หลักการออม และประหยัด ควบคู่กับการให้ความรู้กับชาวบ้านเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ตลอดจนหลักการใช้จ่ายเงิน
"เราจะมีคณะกรรมการดูว่า ผู้กู้ กู้เท่าไหร่ มีรายได้เท่าไหร่ มีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง และสามารถผ่อนชำระคืนได้แค่ไหน เพื่อที่กรรมการจะได้กำหนดยอดเงินชำระคืนในแต่ละเดือน เพื่อให้เขา(ผู้กู้) สามารถจ่ายได้ นอกจากนี้ผู้กู้ต้องทำบัญชีครัวเรือนส่งให้คณะกรรมการทุกเดือนด้วย”
นอกเหนือจากการให้สมาชิกกู้ยืม ยังมีการใช้เงินออมชุมชน เพื่อส่งเสริมด้านอาชีพ และสวัสดิการอื่นๆ เช่นการรักษาแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อใช้ประโยชน์ร่วมกัน ส่วนหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ไม่ใช่ที่ดินที่มีราคาค่างวด กลับเป็นคุณงามความดี และการมีจิตอาสาต่อชุมชนของคนกู้ ที่มิอาจประเมินค่าได้
พ่อวิรุณ ในฐานะประธานองค์กรการเงินชุมชน ได้ฝากข้อเสนอกับรัฐบาลว่า อยากให้นำเงินกองทุนในแต่ละหมู่บ้านที่มีอยู่มารวมกันเป็น 1 กองทุน และบริหารจัดการร่วมกัน และให้รัฐหนุนเสริมและให้ความรู้แก่องค์กรชุมชนเพื่อเสริมศักยภาพในด้านต่างๆ
เป็นโอกาสอันดี ที่อีกหลายชุมชนจะใช้ "สภาองค์กรชุมชน" ในการสร้างชุมชนให้เกิดเข้มแข็ง และสามารถจัดการตนเองได้ เพราชุมชนเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับประชาคมอาเซี่ยนปี 2558 ที่กำลังจะมาถึง