โชว์หนังสือสตง.ชงใช้มาตรการภาษีปราบทุจริตนักการเมือง- "สนช." โดนด้วย
เปิดหนังสือ สตง. ชงกระทรวงคลังบังคับใช้มาตรการภาษีปราบทุจริต "นักการเมือง" สั่งกรมสรรพากรนำข้อมูลยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินง ต่อ ป.ป.ช. มาพิจารณาประกอบการประเมินภาษี ตามม.49 แห่งประมวลรัษฎากร ชี้จะทำให้รัฐได้รับเงินและทรัพย์สินได้รับจากการคอรัปชั่นคืนมาในรูปภาษีได้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือแจ้งไปถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ,ปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมสรรพากร เพื่อให้พิจารณาบังคับใช้มาตรการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ โดยใช้มาตรการทางภาษี
สตง.ระบุว่า ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 3 ต.ค.57 และปรากฎว่าสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับ สนช.บางราย ว่า อาจมีทรัพย์สินมากกว่าที่ควรได้รับจากการประกอบอาชีพปกติ โดยเฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่ทางราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งมีการเรียกร้องจากสังคม ให้มีการตรวจสอบที่มาทรัพย์สินรวมทั้งการเสียภาษีของสนช.บางราย
สตง.เห็นว่าปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเป็นปัญหาสำคัญที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ที่ผ่านมา องค์กรตรวจสอบของรัฐรวมทั้งภาคส่วนอื่นๆ มีความพยายามที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริตของนักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ปัญหาดังกล่าวกลับมีแนวโน้มทวีความรุนแรงและมีรูปแบบวิธีการที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ขณะที่กระบวนการและขั้นตอนการตรวจสอบใช้เวลานาน ส่งผลทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัว ยังคงใช้อำนาจแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ
มาตรการทางภาษี สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นได้อีกช่องทางหนึ่ง โดยการอาศัยอำนาจมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมิน ในการกำหนดเงินได้สุทธิโดยวิธีการเพิ่มทรัพย์สินสุทธิ ในกรณีที่ได้ตรวจสอบไต่สวนผู้ยื่นรายการเงินได้หรือไม่ยื่นรายการเงินได้ตามวิธีการปกติแล้วไม่อาจทราบได้ว่าบุคคลนั้นมีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด โดยเฉพาะการใช้วิธีการดังกล่าวกับนักการเมืองหนือเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ไม่สามารถพิสูจน์ถึงที่มาหรือที่ไปของรายได้หรือทรัพย์สินได้
ประกอบกับปัจจุบันองค์กรตรวจสอบต่างๆ มีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและหนี้สินที่เป็นประโยชน์ต่อการตรวจสอบภาษีอากรของกรมสรรพากร เช่น ข้อมูลบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ในอำนาจและการครอบครองของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งหากกรมสรรพากรนำข้อมูลดังกล่าวมาประกอบการประเมินภาษีตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากร จะทำให้รัฐได้รับเงินและทรัพย์สินที่นักการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐได้มาจากการทุจริตคอร์ปชั่นคืนมาในรูปภาษีอากรได้
"สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน จึงได้ส่งให้กรมสรรพากรพิจารณาเพิ่มความสำคัญกับการตรวจสอบภาษีอากรของเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งรวมถึง สนช.โดยประสานร่วมมือกับองค์กรตรวจสอต่างๆ และนำมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากจะทำให้สามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นและถูกต้องตรงความเป็นจริงมากที่สุด แลัวยังเป็นมาตรการทางอ้อมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่นในแวดวงราชการได้อีกด้วย" หนังสือ สตง.ระบุ
(ดูเอกสารประกอบ)