ใช้หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็น สนง.ปฏิรูปประเทศ 2-3 ด.ระดมปัญหาเข้มข้น 6 ด.มีแผนชัดเจน
รัฐบาลใช้หอศิลป์กรุงเทพเป็น สนง.ปฏิรูปประเทศ คาด 6 เดือนแผนชัดเจน ด้านปัญหาเร่งด่วนบรรเทาความเดือดร้อนเลื่อนทำนา เตรียมแจกโฉนดชุมชน-ทส.ทำฐานข้อมูล 2 ปีขีดเส้นป่าไม้-สะสางเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ส่วนแก้หนี้นอกระบบชาวบ้านร่วมเกินคาด 1 ล้าน บ้านมั่นคงผ่อนคลายระเบียบให้คนจนเข้าอยู่ มาบตาพุดคณะ กก. 4 ฝ่ายยุติบทบาทสัปดาห์หน้าเผยชื่อโครงการรุนแรง เตรียมทำแผนรับมือสถานการณ์ฉุกเฉินไม่ซ้ำรอยกาซรั่ว
เมื่อวันที่ 20 มิถุุนายน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยว่าจะใช้หอศิลป์กรุงเทพเป็นสำนักงานประมวลรับฟังความเห็นเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนงานอย่างอิสระผ่านสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาวะ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีกลไกสมัชชา และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ทำแผนพัฒนา ทั้งนี้คาดว่า 2-3 เดือนแรกจะมีการรวบรวมประเด็นต่างๆอย่างเข้มข้น และภายใน 6 เดือนจะมีแผนที่ชัดเจนถึงลำดับปัญหาที่ต้องทำ งบประมาณ และระหว่างนี้เรื่องไหนที่เดินหน้าก่อนได้ก็จะทำ
ส่วนการปัญหาความเดือดร้อนเร่งด่วน นายกฯกล่าวว่าเรื่องภัยแล้งมอบหมายให้พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำฝนและน้ำไหลเข้าออกเขื่อนหลักดีขึ้น ไม่มีปัญหาน้ำอุปโภคบริโภค แต่ยังมีปัญหาน้ำเพื่อการเกษตร จึงยังคงต้องเลื่อนทำนาปีไปถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม โดยเฉพาะในเขตชลประทาน ส่วนนอกเขตให้ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปสำรวจความเดือดร้อนจากการเลื่อนทำนาปีปีนี้ รวมทั้งนาปรังต้นปีหน้าที่อาจต้องเลื่อนออกไป เพื่อเตรียมวางมาตรการช่วยเหลือ เช่น อาชีพเสริม ปัจจัยบริโภคในครัวเรือน
นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการแก้ปัญหาเรื้อรังของชาวบ้านว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ประชุมกับสมัชชาเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน และหยิบยก 6-7 พื้นที่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐขึ้นมาพิจารณาคลี่คลายได้ระดับหนึ่ง และหลายเรื่องมีทิศทางการแก้ปัญหาชัดเจนขึ้น หน่วยงานต่างๆได้ผ่อนปรนเอื้ออำนวยเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ส่วนแนวคิดโฉนดชุมชนเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีออกมารองรับแล้ว
“หลายพื้นที่กำลังเตรียมทำโฉนดชุมชน ซึ่งระเบียบได้ออกมาแล้ว จะมีการประชุมสมัชชาอีกครั้งสัปดาห์หน้า คาดว่าเร็วๆนี้จะเริ่มแจกโฉนดชุมชนในหลายพื้นที่”
ทั้งนี้ที่ผ่านมามีภาพถ่ายทางอากาศภาพถ่ายดาวเทียม ทั้งก่อนและหลังประกาศเขตป่าสงวนฯ แต่คลาดเคลื่อนไม่ตรงกันและไม่สอดคล้องกับความจริง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ โดยงบประมาณกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและขีดแนวเขตที่ชัดเจนถูกต้องระหว่างที่ดินรัฐ เอกชนและการเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ป่า ซึ่งจะใช้เวลา 2 ปีสะสางปัญหาที่ดินทำกินอย่างเป็นระบบ ยุติการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติและการออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้อง
“มาขีดเส้นให้ชัดเจนไปเลยว่าเขตป่าที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ประชาชนที่ทำกินอยู่นั้นเข้าไปก่อนหรือหลัง ถ้าเข้าไปก่อนประกาศเขตป่าก็ชัดเจนว่ามีสิทธิ์จะได้ออกเอกสารสิทธิ์ ส่วนที่เข้าไปภายหลังนั้นปีไหนอย่างไร และจะมีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับแต่ละสภาพพื้นที่ต่อไป”
ส่วนโครงการบ้านมั่นคงที่ยังมีปัญหาการก่อสร้างให้สอดคล้องกับกฎหมายควบคุมอาคาร กระทรวงมหาดไทยได้ประชุมเพื่อคลี่คลายระเบียบต่างๆให้ประชาชนเข้าไปอยู่อาศัยได้แล้ว ปัญหาที่ไม่สามารถออกเลขที่บ้าน ขอน้ำไฟได้ จะไปแก้กฎกระทรวงต่างๆเช่นกัน
ในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่ามีประชาชนร่วมโครงการเกินคาดคือเกิน 1 ล้านคน ขณะนี้กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเจ้าหนี้และลูกหนี้นอกระบบมาเจรจากันในหลักการเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ และเข้าสู่ขั้นตอนขออนุมัติสินเชื่อจากธนาคารรัฐ ซึ่งส่วนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีความก้าวหน้ามากที่สุดคืออนุมัติสินเชื่อแล้วประมาณ 150,000 ราย อยู่ระหว่างขั้นตอนการขอประมาณ 350,000 ราย ฉะนั้นถ้าเร่งรัดทำก็คาดว่าอย่างน้อย 3-4 แสนรายจะมีข้อยุติ และได้ให้กระทรวงการคลังรายงานต่อคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่จะถึงนี้ว่ารายที่เหลือมีปัญหาอย่างไรบ้างที่ยังแก้ไม่ได้
นายกรัฐมนตรียังกล่าวว่า สัปดาห์หน้าคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุดจะเสร็จสิ้นภารกิจโดยเสนอรายชื่อธุรกิจที่มีผลกระทบชุมชนสิ่งแวดล้อมรุนแรงต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ส่วนองค์กรอิสระที่จะมาทำงานต่อนั้น สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ได้ให้ความเห็นชอบกฏหมายและเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา สำหรับการบริหารจัดการแผนสิ่งแวดล้อมหรือแผนควบคุมมลพิษ ได้เร่งรัดให้นำเสนอและพิจารณาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับกรณีกาซรั่วเมื่อต้นเดือนทางคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ลงไปสรุปปัญหาในพื้นที่ ทั้งเรื่องระบบป้องกันเตือนภัย ระบบการดูแลชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบซึ่งยังมีปัญหาการปฏิบัติมาก จะได้ทำข้อเสนอปรับปรุงแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินต่อ ครม.