"โซลาร์รูฟเสรี" พลิกโฉมหน้ากิจการไฟฟ้าครั้งใหญ่ของประเทศ
เริ่มต้นเปิดศักราช 2558 ของขวัญชิ้นโบว์แดงที่ได้ใจคนไทยทั้งประเทศก็คือการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการพิจารณาวาระการปฏิรูปเร็ว (Quick win) เรื่องโครงการส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี (ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยแสงอาทิตย์สำหรับบ้านและอาคาร)
ถือเป็นการปฏิรูปกิจการไฟฟ้าครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษของประเทศโดยให้ประชาชนเป็นทั้งผู้ใช้-ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จัดเป็นวาระการปฏิรูปเร่งด่วนและโดดเด่นด้านมิติพลังงานหมุนเวียนของประเทศที่น่าสนใจ
อธิบายให้เข้าใจได้โดยง่ายคือ ระบบโซลาร์รูฟเป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ติดตั้งอยู่บนหลังคาของบ้านและอาคาร ผู้ติดตั้งสามารถใช้ไฟฟ้าที่ตัวเองผลิตได้ ช่วยลดปริมาณไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า ทำให้ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ขณะเดียวกันปริมาณไฟฟ้าที่เหลือจากการใช้ ยังขายให้แก่การไฟฟ้าเพื่อเป็นรายได้เสริมได้อีก
โครงการดังกล่าวดำเนินการได้ทันที ไม่ต้องรอกฎหมายใหม่ เพียงแค่ ครม.มีมติส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ก็ดำเนินโครงการได้ทันที
นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสปช.ระบุว่า ารผลักดันวาระการปฏิรูปเร็วของสนช.ในเรื่องนี้ ถือเป็นของขวัญที่สปช.ตั้งใจไว้แล้วโดยเน้นให้เป็นของขวัญให้กับประชาชน สำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง ชุมชนท้องถิ่นที่มีศักยภาพ สถานประกอบการและนักลงทุนรายย่อยนับล้านรายที่ตื่นตัวต่อปัญหาพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยหน้าที่ของสปช.หลังจากนี้คือเสนอให้ครม.เร่งรัดออกกฎหมาย (ร่าง) พ.ร.บ.สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน พ.ศ.... และต้องแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตสามารถรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากประชาชนและผู้ผลิตเอกชนรายย่อยได้ ในราคาที่เป็นธรรมและสมเหตุสมผล
"ประเทศไทยถึงเวลาเปลี่ยนอำนาจการผูกขาดด้านพลังงาน เพื่อให้เป็นของประชาชนรัฐบาลต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมผลิต จัดการ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ สนับสนุนให้มีเทคโนโลยีใหม่ๆ แผงโซล่าร์เซลที่ยิ่งใช้ ยิ่งถูกลง ในประเทศเยอรมันมีการส่งเสริมแนวทางโซลาร์รูฟมานานแล้ว และประกาศให้ปี 2020 จะหยุดใช้พลังงานนิวเคลียร์ ประเทศไทยก็ควรจะมีเป้าหมายทางพลังงานที่ชัดเจนแบบนี้เช่นเดียวกัน"นพ.พลเดช ระบุ
หมอพลเดช กล่าวด้วยว่า แม้ประเทศไทยจะมีการอนุญาตให้ใช้ระบบโซลาร์รูฟท็อป แต่ติดขัดปัญหาเรื่องขยายการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาที่อยู่อาศัยในเรื่องระยะเวลาการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4)ที่ล่าช้ามากเป็นผลให้โครงการพลังงานหลายเรื่อง เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ สถานีแม่เอ็นจีวี โรงไฟฟ้าต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะถูกตีความภายหลังว่า ผิดกฎหมายกรมโรงงานอุตสาหกรรม เนื่องจากไม่ขอ รง.4มาโดยตลอด
ทั้งนี้ในการประชุมสภาสปช.เมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการคาดการร์ว่า ช่วง 5 ปีแรก คือปี 2558-2563 จะมีโซลาร์รูฟ ขนาดไม่เกิน10 กิโลวัตต์ สำหรับบ้านอยู่อาศัยเกิดขึ้น 1 แสนชุดมีกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ และในอนาคต 20 ปี จะมีการติดตั้ง 1 ล้านชุด มีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 5,000 เมกะวัตต์ หากรัฐบาลส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์อย่างครบวงจรแล้ว ประเทศไทยจะก้าวเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของอาเซียนใน 10 ปีข้างหน้า
จากนี้รัฐบาลโดยครม.คงจะต้องทำงานเพื่อขานรับแนวคิดสปช.เพื่อส่งมอบของขวัญให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เพราะปัจจุบันประเทศไทยขาดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าอย่างรุนแรง อันเป็นผลจากทิศทางพลังงานที่ผ่านมาเน้นการนำเข้าและการใช้เชื้อเพลิงเชิงเดี่ยว การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ทำได้ยากมาก
"โซลาร์รูฟเสรี" จึงถือได้ว่าเป็นการพลิกโฉมหน้ากิจการไฟฟ้าครั้งใหญ่ของประเทศ และถือได้ว่าเป็นการกระจายความสมดุลทางด้านพลังงานที่น่าจับตามองนับจากนี้
ที่มาภาพ:http://www.efe.or.th