ทีดีอาร์ไอแนะสร้างกลไกทาง กม.เพิ่มอำนาจองค์กรสื่อกำกับดูแลกันเอง
‘จักรกฤษณ์ เพิ่มพูล’ เผยปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไม่ควรมาจากองค์กรวิชาชีพ ชงโมเดลต่างประเทศเฟ้นผู้ทรงคุณวุฒิด้าน กม. นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ ระบุองค์กรกำกับดูแลจะมีอำนาจ-งบฯ ต้องผลักดันกม.รองรับ เชื่อไม่ถูกแทรกแซง
วันที่ 9 มกราคม 2558 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป จัดสัมมนา ‘องค์กรกำกับดูแลสื่อในยุคปฏิรูปสื่อ’ ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวถึงโครงสร้างรูปแบบการกำกับดูแลกันเองระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อในต่างประเทศกับไทยไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งขณะนี้พบอุปสรรค คือ กรณีสัดส่วนกรรมการจากผู้แทนเจ้าของหรือบรรณาธิการ หากพบเป็นตัวแทนในความหมายที่แท้จริงก็จะมีอำนาจและบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น
นอกจากนี้ ในส่วนผู้แทนภาคส่วนอื่น ต้องยอมรับว่า ผู้ไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มักถูกมองจากบุคคลภายนอกเป็นพวกเดียวกัน ทำหน้าที่ปกป้องกันเอง เข้าทำนองแมลงวันไม่ตอมแมลงวัน ทั้งที่โดยโครงสร้างแล้ว ได้มีสัดส่วนกรรมการทรงคุณวุฒิด้วย ทั้งจากเอ็นจีโอ นักวิชาการ หรือเอกชน แต่ทุกครั้งที่มีการตัดสินความผิดออกไป ต้องประสบปัญหาบทบาทผู้ทรงอิทธิพลในวิชาชีพมีสูงอยู่
“ผู้ทำหน้าที่ประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ไม่ควรมาจากวิชาชีพ แต่อาจเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเหมือนในต่างประเทศ” ประธานสภาหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าว และยืนยันควรให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสังกัดองค์กรวิชาชีพ เพื่อให้มีผลบังคับทางจริยธรรม โดยต้องแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550
ด้านน.ส.สุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและนโยบายสื่อ ศูนย์ศึกษาจริยธรรม กฎหมาย และนโยบายสื่อ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับการกำกับดูแลกันเองของคนในวิชาชีพล้มเหลว เราต้องยุติการหลอกลวงสังคม ดังนั้น ควรผลักดันกฎหมายเป็นเครื่องควบคุม อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาหลายฝ่ายกลัวว่า การมีกฎหมายจะเอื้อให้เกิดการแทรกแซงสื่อได้
ทั้งนี้ การสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองอย่างมีประสิทธิภาพต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญเชิงไต่สวน เพื่อรองรับการวินิจฉัยจำนวนหนึ่ง เเละเกิดระบบการรับข้อร้องเรียนเหมือนกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ เช่นเดียวกับมีงบประมาณเพียงพอ ไม่เช่นนั้นจะทำอะไรไม่ได้ เชื่อมั่นจะมีเรื่องร้องเรียนไหลเข้ามาจำนวนมาก
ขณะที่ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผอ.วิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แรงจูงใจทางการเมืองบางอย่างอาจทำให้สื่อบางรายไม่เข้ามาสังกัดองค์กรวิชาชีพ ดังนั้นต้องมีอำนาจทางกฎหมายรองรับ แต่มิได้หมายความว่า การผลักดันกฎหมายจะทำให้สื่อทำหน้าที่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐ
โดยเสนอขับเคลื่อนตามแบบกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะทำให้องค์กรกำกับดูแลมีอำนาจการบังคับและงบประมาณ พร้อมทบทวนอำนาจหน้าที่และบทบาทให้ความสำคัญในระดับประเทศคุ้มครองประชาชน ไม่เฉพาะคนในวิชาชีพสื่อเท่านั้น .
อ่านประกอบ:วงถกปฏิรูปสื่อฯ ห่วงนักข่าวใหม่ไร้หลักวิชาชีพ-เป็นได้แค่เด็กวิ่งข่าว
คณะทำงานสื่อฯ พร้อมร่วมเวทีทหารถกเสรีภาพ หลังไทยพีบีเอสถูกคุกคาม