สองพี่น้องกำพร้าชายแดนใต้ อยากได้ "คอมพิวเตอร์" เป็นของขวัญวันเด็ก
ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อผลกระทบลึกซึ้งมากกว่าที่เป็นข่าวหรือสะท้อนออกมาในลักษณะ "เหตุการณ์รายวัน"
เพราะความสูญเสียนั้น เมื่อเกิดกับครอบครัวใดแล้ว คนที่เหลืออยู่ก็ต้องทนเจ็บปวดไปตลอด ไม่สามารถเรียกคืนกลับมาได้
โดยเฉพาะเด็กๆ และเยาวชนที่ต้องสูญเสียพ่อหรือแม่จากสถานการณ์ความไม่สงบ ไม่ว่าจะด้วยตั้งใจ ตกเป็นเป้า หรือถูกลูกหลงก็ตาม
เด็กเหล่านี้ต้องกลายเป็น "กำพร้า" ซึ่งมีจำนวนนับพันคนตลอดห้วงเวลาที่ชายแดนใต้ลุกเป็นไฟนานกว่า 11 ปีแล้ว...
แต่ที่ร้ายไปกว่านั้น คือ เด็กๆ ที่ต้องสูญเสียทั้งพ่อและแม่ ทำให้ไม่มีเสาหลักในชีวิตเหลืออยู่เลย โดยข้อมูลจากศูนย์เยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สรุปตัวเลขคร่าวๆ เอาไว้ว่า เด็กกลุ่มนี้มีราวๆ 100 คน
น้องราเชน และ น้องเสวิตา สามะแอ คือสองพี่น้องที่ต้องสูญเสียพ่อไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบ เนื่องจากถูกคนร้ายลอบยิงตั้งแต่ปี 2547 จากนั้นถัดมาอีกเพียง 2 ปี แม่ของทั้งคู่ก็ถูกรถสิบล้อทับจนเสียชีวิตขณะเดินทางไปตลาดเพื่อซื้อกับข้าวให้ลูกน้อย
เมื่อเสาหลักในชีวิตต้องหักโค่นไปทั้งสองต้น สองพี่น้องจึงต้องไปอาศัยอยู่กับ มารีเยาะ สอเฮะ ผู้มีศักดิ์เป็นป้ามาเกือบ 10 ปีแล้ว นับจากวันที่สูญเสียจนถึงวันนี้แม้พวกเขาจะโตขึ้นมาก แต่ชีวิตก็ไม่ได้สุขสบาย เพราะบ้านซึ่งเป็นห้องแถวติดกับคอสะพานตุยง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี นั้นมีถึง 13 ชีวิตที่แออัดยัดทะนานอยู่ภายใน เนื่องจากมารีเยาะต้องรับภาระเลี้ยงดูลูกของตนเอง 5 คน ส่วนที่เหลืออีก 7 คนเป็นหลานที่ล้วนเป็นเด็กกำพร้า รวมทั้งราเชนกับเสวิตาด้วย
"ถึงจะลำบากแต่ฉันก็เต็มใจรับเลี้ยงพวกเขา เพราะเด็กๆ เสมือนเรือที่ขาดไม้พาย" มารีเยาะบอก
ป้าผู้ใจบุญ กล่าวต่อว่า เทศกาลทุกเทศกาลไม่ต้องหวังว่าจะพาลูกๆ หลานๆ ไปเที่ยวที่ไหน เพราะลำพังข้าวที่จะกินแต่ละวันก็ยังแย่
"สงสารพวกเขานะ แต่เรามีทางเลือกแค่นี้ พี่ก็คนทำงานหาเช้ากินค่ำ รับจ้างทั่วไป ได้เงินมาก็พอแค่ซื้อข้าวกินแต่ละวัน ไม่ว่ามีงานอะไรพี่ทำหมดเพียงแค่ขอให้ได้เงินมา รับจ้างเดินสายเก็บค่าผ่อนผ้าโสร่งพี่ก็ทำ รับจ้างขายของก็ทำ รับหมด ไม่เกี่ยงงาน ก็คิดแค่ให้พวกเด็กๆ มีข้าวกิน ได้ไปโรงเรียน กลับมาอยู่บ้านที่ไม่รั่วจนต้องโดนฝนก็พอใจแล้ว"
"เรื่องค่าใช้จ่ายเราช่วยกันประหยัดทุกอย่าง แค่มีข้าวมีค่าน้ำมันรถไปโรงเรียน เด็กๆ ก็ไปกันได้แล้ว ป้าจะทำข้าวห่อใส่กระเป๋าไปให้ อัดข้าวให้แน่นๆ กลัวไม่อิ่ม ให้เขาไปกินกันที่โรงเรียน วันไหนมีเงินเป็นค่าน้ำแข็งก็ให้ วันไหนไม่มีก็ไม่ให้เงินไปกินน้ำแข็งที่โรงเรียนเลย แต่น้องเขาเป็นเด็กดี ป้ามีให้เขาก็เอา ป้าไม่มีเขาก็เฉยๆ ไม่เรียกร้อง ไม่โวยวาย เราเป็นป้าก็อดสงสารชีวิตของพวกเขาที่ต้องมาอยู่แบบนี้ไม่ได้ แต่ป้าก็มีให้เท่านี้จริงๆ" มารีเยาะบอก
เธอกล่าวอีกว่า วันเด็กปีนี้ถ้าเป็นไปได้อยากขอคอมพิวเตอร์ให้กับน้องราเชนกับน้องเสวิตา เพราะเดี๋ยวนี้ทั้งสองคนเรียนหนัก ครูที่โรงเรียนให้งานมาเยอะ ต้องไปอาศัยร้านอินเทอร์เน็ตปรินท์งาน ทำงานจนดึก กว่าจะกลับถึงบ้านก็ 3-4 ทุ่ม
"เราคนแก่ก็อดห่วงไม่ได้ ไม่รู้ว่าที่กลับมาช้าเพราะทำงานหรือเพราะไปเล่นเกม หรือไปเถลไถลที่ไหน พอมาคิดถึงระหว่างทางที่น้องราเชนต้องขี่รถกลับ ก็กลัวรถล้ม กลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุเหมือนแม่ของเขา ถ้าน้องเขาได้คอมพ์ อย่างน้อยจะได้ปรินท์งานที่บ้าน จะได้อยู่ในสายตา และไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ป้าก็ไม่รู้เหมือนกันนะว่าจะหามาได้อย่างไร ถ้าได้เป็นของขวัญวันเด็กปีนี้ก็ถือว่าเป็นของขวัญที่ดีที่สุดที่พวกเขาเคยได้เลยล่ะ"
มารีเยาะ บอกทั้งน้ำตาว่า รู้ดีว่าเด็กที่ขาดทั้งพ่อและแม่ เด็กจะต้องการความรัก ต้องการการเอาใจใส่มาก ก็พยายามเต็มที่ เห็นอยู่ว่าเด็กๆ คิดถึงพ่อกับแม่ทุกวัน น้องราเชนจะเอารูปพ่อกับแม่ใส่ในปกคัมภีร์อัลกุรอาน เราเห็นเราก็รู้ ก็พยายามไปปลอบหลาน บอกกับหลานว่าท่านทั้งสองไปดี ไปสบายแล้ว เหลือแต่พวกเราที่ต้องต่อสู้กันต่อไปเพื่อไปหาพ่อกับแม่สักวัน ก็พยายามที่จะเป็นพ่อและแม่แทน
ด้านน้องราเชน วัย 15 ปี ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนปทุมคงคาอนุสรณ์ อ.หนองจิก เล่าถึงความเป็นอยู่ที่ต้องอาศัยร่วมกับลูกพี่ลูกน้องถึง 12 ชีวิตว่า ทุกคนขาดพ่อขาดแม่เหมือนกัน ก็เลยอยู่ร่วมกันได้ ป้าจะแบ่งพื้นที่ให้ ถึงเวลาก็ไปกินข้าวฝั่งที่ป้าอยู่ แล้วก็กลับมานอนอีกฝั่ง แต่ก็อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน บ้านเลขที่เดียวกัน เราอยู่แบบนี้มานานแล้ว ก็พยายามเป็นเด็กดี ทำดีเพื่อให้สิ่งดีๆ กลับมา และส่งไปถึงพ่อกับแม่ด้วย
"ผมจะละหมาดและอ่านคัมภีรอัลกุรอานทุกครั้งที่คิดถึงพ่อกับแม่ ทุกครั้งที่ได้อ่าน ก็จะรู้สึกว่าพ่อและแม่อยู่กับเรา บอกกับตัวเองเสมอว่าเราต้องเป็นเด็กดี ต้องทำสิ่งดีๆ อย่างที่พ่อกับแม่เคยสอน เชื่อว่าพ่อกับแม่รับรู้ได้" ราเชนกล่าว และว่าเขากังวลเรื่องทุนการศึกษาของตนเองกับพี่สาว เพราะถ้าไม่มีเงินเรียน ถึงจะขยันแค่ไหน ความหวังก็คงต้องมอดดับลง
ส่วนของขวัญที่อยากได้ในวันเด็ก ราเชนบอกว่ามีอย่างเดียวคือคอมพิวเตอร์ เพราะจะได้ประหยัดเงินของป้า ไม่ต้องไปใช้ร้านคอมพ์ทำงาน
"ผมไม่ขออะไรมาก ได้แค่นี้ก็ดีใจมากๆ แล้ว จะเป็นคอมพิวเตอร์เสียก็ได้ ผมจะเอามาซ่อมใช้เอง ผมถือว่าเก่าของเขาแต่ใหม่ของผม ขอให้ผมกับพี่สาวสามารถทำงานที่บ้านและได้ปรินท์งานจากที่บ้านได้ แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว"
ขณะที่ น้องเสวิตา พี่สาวของราเชน ซึ่งกำลังจะจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเดียวกับน้องชาย บอกว่า ห่วงเรื่องทุนการศึกษา เพราะอยากเรียนสูงๆ อยากมีงานทำ จะได้เลี้ยงป้าและน้องๆ ที่ร่วมชายคาเดียวกัน เพราะป้าก็อายุเยอะ ทำงานไม่ค่อยไหว
"โชคดีที่ตอนนี้ ศอ.บต.ให้ทำงานในโครงการจ้างงานเร่งด่วน 4,500 บาท ช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ไปช่วยเฝ้าสหกรณ์ชุมชน ก็พอได้เงินมาช่วยป้าได้บ้าง แต่รายจ่ายที่ป้าต้องเลี้ยงพวกเราทั้ง 12 ชีวิตก็คิดว่ายังไม่พอ อยากเรียนและทำงานให้ได้เงินมาช่วยป้าอีกแรง" เสวิตาบอก
นี่คือความหวังเล็กๆ ของเด็กและเยาวชนชายแดนใต้ที่ต้องกลายเป็นเหยื่อทางอ้อมของความรุนแรงที่พวกเขาไม่ได้ก่อ!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 น้องเสวิตา (คนใกล้สุดในภาพ) ขณะกำลังนั่งเรียนหนังสือที่โรงเรียน
2 สองพี่น้อง ราเชน - เสวิตา