โพล ธ.ก.ส.เผยชาวไร่อ้อยสุขมากสุด จากราคาน้ำตาลในตลาดเพิ่ม
ธ.ก.ส.เผยผลสำรวจระดับความสุขเกษตรกรไทย พบชาวไร่อ้อยมีความสุขมากที่สุด เหตุทิศทางราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่วนผลสำรวจรายภาคพบเกษตรกรภาคอีสานมีความสุขมากที่สุด
นางอภิรดี ยิ้มละมัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส.ได้สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรจากทุกภาคทั่วประเทศ ภายใต้หัวข้อ “ระดับความสุขของเกษตรกรไทย” จำนวนกลุ่มตัวอย่างรวม 2,044 ราย เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2557 พบว่า ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทยในภาพรวมอยู่ใน ระดับมาก (คะแนนเฉลี่ย 3.11 จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน) โดยเกษตรกรมีความสุขในระดับมากถึงมากที่สุดร้อยละ 80.26
สำหรับความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จำแนกตามอาชีพการเกษตรหลัก พบว่า เกษตรกรทุกอาชีพมีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.22) เป็นผลสืบเนื่องมาจากราคาขายเฉลี่ยของน้ำตาลทรายในตลาดโลกเดือนพฤศจิกายนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.6 และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
รองลงมา คือ เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน และเลี้ยงไก่เนื้อ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมเท่ากับ 3.19 และ 3.17 ตามลำดับ เนื่องจากราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรขายได้มีทิศทางการปรับเพิ่มขึ้นจากความต้องการผลผลิตปาล์มน้ำมันเพื่อการบริโภคและใช้ในอุตสาหกรรม รวมทั้งผลิตน้ำมันไบโอดีเซล
สำหรับราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณไก่เนื้อออกสู่ท้องตลาดไม่มากนัก ขณะที่ความต้องการบริโภคเนื้อไก่มีมากขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวและเทศกาลเฉลิมฉลอง
"เกษตรกรที่รับจ้างทำการเกษตรมีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.01) เมื่อเทียบกับอาชีพอื่น" ผอ.ศูนย์วิจัย ธ.ก.ส. กล่าว
ขณะที่ความสุขมวลรวมของเกษตรกรไทย จำแนกเป็นรายภาค นางอภิรดี ระบุว่า เกษตรกรทุกภาคมีความสุขมวลรวมอยู่ในระดับมาก โดยเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมสูงที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.19) เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น จึงทำให้เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย มีความสุขมวลรวมสูงที่สุด ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกหลักอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ส่วนเกษตรกรในภาคกลางและภาคใต้ มีคะแนนเฉลี่ยความสุขมวลรวมต่ำที่สุด (คะแนนเฉลี่ย 3.04) เมื่อเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่น ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในภาคกลางส่วนใหญ่ปลูกข้าว และกลุ่มตัวอย่างในภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกยางพารา.
ภาพประกอบ:เดลินิวส์ออนไลน์