นิด้าโพล เผยปชช.พอใจ “บัตรทอง” ร้อยละ 96.62
ผลสำรวจนิด้าโพลปี 57 ประชาชนพึงพอใจ “สิทธิรักษาบัตรทอง” สูงถึงร้อยละ 96.62 ผู้มีสิทธิเลือกใช้สิทธิเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.41 สะท้อนประชาชนเชื่อมั่นประสิทธิภาพและคุณภาพรักษาพยาบาลบัตรทอง ขณะฝั่งผู้ให้บริการพอใจร้อยละ 64.42 สปสช.ชี้แม้ไม่เท่าประชาชน แต่จะพยายามปรับปรุงให้ดีขึ้น พร้อมนำข้อมูลปัญหาและอุปสรรคพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพในปี 58 ดียิ่งขึ้น
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ สปสช. นอกจากมุ่งให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาโดยการใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ยังเน้นการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมา สปสช.จึงได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านการรับรู้สิทธิ ความพึงพอใจ และปัญหาอุปสรรคในการรับบริการ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไป
จาก “ผลสำรวจความคิดเห็นระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปี 2557” จัดทำโดยศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” หรือ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ได้สำรวจตัวอย่างประชาชนและผู้รับบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2,609 ราย จากการสำรวจความพึงพอใจ พบว่า ร้อยละ 96.62 พึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 82.2 ในปี 2556), ร้อยละ 87.08 พึงพอใจการบริหารงาน สปสช., ร้อยละ 84.61 พึงพอใจต่อการเข้าถึงบริการ, ร้อยละ 84.76 พึงพอใจต่อคุณภาพมาตรฐานบริการ และร้อยละ 85.36 พึงพอใจต่อการมีส่วนร่วม
ซึ่งผู้มีสิทธิส่วนใหญ่ยังคงเลือกใช้สิทธิระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยในปี 2557 มีผู้ใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 89.7 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 96.41 ในปี 2557 โดยมีผู้ไม่ใช้สิทธิเพียงแค่ร้อยละ 3.59 ขณะที่ความพึงพอใจต่อการได้รับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงถึงร้อยละ 94.54
ขณะที่ผลการสำรวจต่อปัญหาและความไม่สะดวกที่พบจากการรับบริการ ได้ลดลงจากร้อยละ 21 ในปี 2556 เหลือเพียงร้อยละ 17.08 ในปี 2557 โดยอันดับแรกยังคงเป็นการใช้เวลารอนาน ทั้งการรอตรวจ รอรับยา เป็นต้น สูงถึงร้อยละ 50.40 รองลงมาเป็นปัญหาต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มร้อยละ 27.42 นอกนั้นเป็นปัญหาการรักษาพยาบาลไม่เท่าเทียมกับผู้ใช้สิทธิอื่น การไม่ส่งต่อ สถานพยาบาลปฏิเสธรับคนไข้ ส่วนข้อเสนอแนะที่ควรปรับปรุงนั้น ร้อยละ 44.08 ให้ปรับปรุงเรื่องความรวดเร็วในการให้บริการ, ร้อยละ 18.97 ความสุภาพในการให้บริการ ร้อยละ 9.93 ต้องการให้มีแพทย์อยู่ประจำสถานพยาบาล และร้อยละ 27.02 อื่นๆ
นพ.วินัย กล่าวว่า ส่วนการรับรู้บทบาทหน้าที่ของ สปสช. ประชาชนส่วนใหญ่รับรู้บทบาททั้งการบริหารจัดการลงทะเบียน การจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ การพัฒนาบริการสาธารณสุข การสนับสนุนกองทุนสุขภาพตำบล การบริการข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิผ่านสายด่วน 1330 การลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน รวมถึงการบริหารจัดการกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
“จากผลสำรวจปี 2557 นี้ ประชาชนพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 96.62 นับเป็นขวัญกำลังใจการทำงาน ไม่แต่เฉพาะเจ้าหน้าที่ สปสช. แต่รวมถึงในส่วนผู้ให้บริการ บุคลากรในระบบสาธารณสุข เนื่องจากได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน เช่นเดียวกับผลสำรวจที่มีการเลือกใช้สิทธิเพิ่ม สะท้อนว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อระบบเพิ่มขึ้น ส่วนความพึงพอใจของผู้ให้บริการนั้น แม้จะไม่เท่าที่ประชาชนพึงพอใจ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ซึ่งสปสช.จะนำข้อคิดเห็นและผลสำรวจที่ได้ไปปรับปรุงให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพอใจให้มากที่สุด”เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ขอบคุณภาพประกอบจาก : chiangmainews