ก.เกษตรเตรียมชง ครม. ของบฯ ปรับโครงสร้างผลิตข้าว 1.4 หมื่นล.
กระทรวงเกษตรฯ เร่งพัฒนาโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว หวังมีประสิทธิภาพมากขึ้น แก้ปัญหาตรงจุด เพื่อเพิ่มรายได้แก่เกษตรกร
นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือระบบส่งเสริมการเกษตรและโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวว่า โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อบริหารอุปทานให้สอดคล้องกับอุปสงค์ โดยลดปริมาณข้าวคุณภาพต่ำ เพิ่มข้าวคุณภาพดี และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มรายได้ของเกษตรกร เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตข้าวที่ผ่านมาเกินความต้องการของตลาดอยู่ประมาณ 5 ล้านตันข้าวเปลือกต่อปี หรือ 3.3 ล้านตันข้าวสาร
นอกจากนี้ยังมีการปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจำนวน 11.2 ล้านไร่ ทำให้ขาดประสิทธิภาพด้านการผลิต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงได้นำเสนอโครงการนี้ต่อคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้กระทรวงเกษตรฯ พิจารณาปรับปรุงโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าว โดยให้มีการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงมหาดไทย ในประเด็นความต้องการของตลาดและการดำเนินงานในพื้นที่ เพื่อพัฒนาโครงการฯ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายหลังการหารือร่วมกันแล้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการปรับปรุงโครงการฯ ดังกล่าว สรุปได้ดังนี้ การปรับโครงสร้างการผลิตข้าว ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1.พื้นที่ที่เหมาะสมกับการปลูกข้าว โดยการจัดทำโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิต ได้แก่ ข้าวขาว ข้าวหอมปทุม ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว
ทั้งนี้ จะดำเนินการระบบการส่งเสริมแบบแปลงใหญ่ ที่มีผู้จัดการโครงการประจำแต่ละแปลง เนื้อที่ 5,000 ไร่/แปลง และให้มีการเชื่อมโยงด้านการตลาดกับสหกรณ์การเกษตร หรือโรงสี และผู้ประกอบการในพื้นที่ โครงการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง โดยจะเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองก่อน และโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวสำหรับตลาดเฉพาะ เช่น ข้าวอินทรีย์ ข้าวบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการ
2.พื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว โดยการจัดทำโครงการปรับเป็นเกษตรกรรมทางเลือก มีการสนับสนุนเงินทุนเพื่อปรับโครงสร้างพื้นฐานและปัจจัยการผลิต รายละไม่เกิน 5 ไร่ โดยปีแรก สนับสนุนไร่ละ 5,000 บาท/ไร่ ปีที่ 2 ไร่ละ 4,000 บาท/ไร่ นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนสินเชื่อสำรอง จำนวนไม่เกิน 30,000 บาท/ราย เพื่อบริหารจัดการระบบน้ำ และโครงการปรับเปลี่ยนเป็นอ้อย ในพื้นที่ที่เหมาะสมกับอ้อยและอยู่ห่างจากโรงงานไม่เกิน 50 กิโลเมตร โดยสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรน ไม่เกิน 200,000 บาท/ราย เพื่อบริหารจัดการระบบน้ำ
โดยการจัดทำโครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวดังกล่าว จะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาอีกครั้งก่อนนำเสนอ ครม. เพื่อให้ทันในรอบปีการเพาะปลูก ปี 2558/59 โดยในเบื้องต้นได้ของบประมาณไว้ 2 ปี จำนวนประมาณ 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็นปี 2558 จำนวน 7,315 ล้านบาท และปี 2559 จำนวน 6,838 ล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อใช้ในการสนับสนุนปัจจัยการผลิต การปรับโครงสร้างพื้นฐานและระบบน้ำในไร่นา การชดเชยดอกเบี้ย การจัดฝึกอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังสนับสนุนเงินกู้จำนวน 19,126 บาท เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิต จัดการระบบน้ำ และการปรับพื้นที่การเกษตรเพิ่มเติม
“โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวให้ความสำคัญกับเกษตรกรรมทางเลือก เนื่องจากจะเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างถาวร และเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับเกษตรกร โดยมีการปรับปรุงพื้นที่และการขุดบ่อน้ำ ซึ่งนอกจากจะเน้นเรื่องการบริโภคในครัวเรือนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอีกด้วย” นายอภิชาติ กล่าว