คำประกาศ ของ สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง”
คำประกาศ ของ สมัชชาเครือข่ายองค์กรชุมชน “สานพลังชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง”
วันที่ 14 กันยายน 2554 ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
ด้วยเวลากว่าหนึ่งทศวรรษหรือกว่าสิบปีที่ผ่านมา ขบวนองค์กรชุมชนของเราที่กระจายตัวในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อน หนุนเสริมและผลักดันงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ครอบคลุมพื้นที่ 2,953 ตำบลและเมืองทั่วประเทศ จนเกิดรูปธรรมการจัดการตนเองของชุมชนท้องถิ่น ทั้งในระดับตำบล จังหวัด และภูมินิเวศน์ที่หลากหลาย คือ
1.มีการจัดการที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในเมือง 290 เมือง 1,600 ชุมชน
2. มีการแก้ไขที่ดินทำกินในชนบทจำนวน 536 ตำบลเพื่อสร้างความมั่นคงในการดำรงชีวิตของคนจนทั้งในเมืองและชนบท
3. มีการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น ใน 864 พื้นที่
4. มีการบูรณาการกองทุนชุมชนและเศรษฐกิจชุมชน เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินใน 463 ตำบล/เมือง 3,600 องค์กร
5. มีการพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชน ให้เป็นฐานของระบบสวัสดิการชุมชน ด้วยการพัฒนาคุณภาพกองทุนสวัสดิการชุมชนที่จัดตั้งแล้วทั้ง 3,600 ตำบล ให้สามารถดูแลสมาชิกได้อย่างครอบคลุม ทั่วถึงทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย การปรับเปลี่ยนระบบเกษตรกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร
เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเครือข่ายองค์กรชุมชน สู่การจัดการตนเอง สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่นจากฐานรากให้เป็นไปอย่างมีพลังและทั่วถึงและผลักดันข้อเสนอในเชิงนโยบายให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริง
เครือข่ายองค์กรชุมชน ได้ร่วมกันจัดงานประชุมสมัชชา “สานพลังชุมชนท้องถิ่นและภาคีสู่การจัดการตนเอง” ขึ้น ณ ห้องประชุมเอนกประสงค์ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์ รังสิต อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในระหว่างวันที่ 13-15 กันยายน 2554 โดยมีผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ และภาคีเข้าร่วมจำนวน 1,000 คน
ในการจัดงานครั้งนี้ เครือข่ายองค์กรชุมชน ได้นำเสนอบทเรียนรูปธรรม และผลที่ได้จากการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอในเชิงนโยบาย เสนอต่อรัฐบาล หน่วยงาน ภาคี เพื่อร่วมหนุนเสริมการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเองให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญใน 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านกฎหมายและโครงสร้าง ด้านคุณภาพชีวิต ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีเนื้อหาสาระสำคัญ ดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ คือ พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งในภาคเกษตร ลดภาระหนี้สินของเกษตรกร ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งเสริมระบบเศรษฐกิจพอเพียง จัดตั้งกองทุนชุมชนท้องถิ่นระดับตำบล เพื่อส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนตำบลที่ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน ฟื้นฟูพันธุกรรมพืชและสัตว์ท้องถิ่น ร่วมประชาคมอาเซียน ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน
2. ด้านสังคม พัฒนาสังคมโดยเน้นแนวทางปลูกจิตสำนึกคุณธรรมจริยธรรม ใช้ศาสนาและวัฒนธรรม อนุรักษ์ รักษาวิถีชีวิต ภูมิปัญญา ศิลปวัฒนธรรม ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มชาติพันธุ์ในผืนแผ่นดินไทย ร่วมกันสร้างกลไก สำรวจตรวจสอบบุคคลให้ได้รับสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์และได้รับสวัสดิการอย่างเสมอภาค
3. ด้านกฎหมายและโครงสร้าง ร่วมกันสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงสร้างท้องถิ่น การกระจายอำนาจ “ในรูปแบบ ชุมชน/ท้องถิ่น/ จังหวัดจัดการตนเอง” ทุกระดับ ใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์ และรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม สอดคล้องกับฐานทรัพยากรของท้องถิ่นนั้นๆ
4. ด้านคุณภาพชีวิต ร่วมกันสร้างคุณภาพการศึกษาเพื่อชีวิตและสังคมอย่างยั่งยืน และยกระดับการพัฒนาสุขภาวะชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการตนเอง
5. ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม องค์กรชุมชนร่วมกับภาคีทุกระดับในการตัดสินใจ บริหารจัดการ ดูแล อนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงต้นทุนชีวิต สิทธิชุมชน ระบบนิเวศ บนหลักการมีส่วนร่วม “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบ ร่วมติดตามประเมินผล ร่วมรับประโยชน์”