แนวทางการแปรรูปยางธรรมชาติ เพื่อนำไปสร้างพื้นลู่ - ลานกรีฑา พื้นลานอเนกประสงค์
วันที่ 6 มกราคม 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลงานการวิจัย เรื่อง การพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์ และยางธรรมชาติเพื่อจัด สร้างลู่ - ลานกรีฑา
2. เห็นชอบให้ วท. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของผลงานวิจัยแปรรูปยางฯ ไปใช้เป็นส่วนผสมในการทำลู่วิ่งกรีฑาได้ มีดังนี้
1. ผลการวิจัยและการพัฒนายางธรรมชาติเป็นลู่ - ลานกรีฑาการสร้างลู่ - ลานกรีฑารวมทั้งพื้นสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานหรือมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations : IAAF) ประเทศไทยจะดำเนินการโดยใช้วัสดุสังเคราะห์สำเร็จรูปที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมดและมีค่าใช้จ่ายสูง กรมวิทยาศาสตร์บริการจึงได้ร่วมมือกับการกีฬาแห่งประเทศไทยดำเนินงานโครงการศึกษาและพัฒนาวัสดุยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติเพื่อจัดสร้างลู่ - ลานกรีฑา และพัฒนาเทคโนโลยีลู่ - ลานกรีฑาให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการใช้วัตถุดิบยางธรรมชาติภายในประเทศ ตลอดจนสามารถลดค่าใช้จ่ายและนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ซึ่งมีคุณสมบัติดังนี้
1.1 พื้นลู่ - ลานกรีฑาที่พัฒนาขึ้นมีค่าคุณสมบัติต่าง ๆ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดโดยสหพันธ์กรีฑานานาชาติ (IAAF) ทุกรายการ โดยได้ส่งชิ้นงานดังกล่าวเข้ารับการทดสอบที่ Institut fut Sportbodentechnik ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองจาก IAAF
1.2 พื้นลู่ - ลานกรีฑาที่พัฒนาขึ้นประกอบด้วย 2 ชั้น ดังนี้
ชั้นที่ 1 (ชั้นล่าง) เป็นชั้นที่ใช้รองรับน้ำหนักของพื้นจะมีความหนาประมาณ 10 มิลลิเมตร ประกอบด้วย ส่วนผสมของพอลียูรีเธนและเม็ดยางดำ โดยสามารถใช้ยางธรรมชาติหรือเม็ดยางครัมบ์ (ขยะยาง เช่น ยางรถยนต์ที่เสื่อมสภาพ) เพื่อทดแทนการใช้ยางสังเคราะห์ได้ถึงอัตราร้อยละ 100 ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน (การผลิตเดิมจะใช้วัสดุยางสังเคราะห์ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด)
ชั้นที่ 2 (ชั้นบน) เป็นชั้นที่ใช้สร้างแรงเสียดทานของผู้ใช้กับพื้นสนามกีฬามีความหนาประมาณ 2 - 3 มิลลิเมตร ประกอบด้วย พอลียูรีเธนและเม็ดยางแดง โดยสามารถใช้ยางธรรมชาติร่วมกับยางสังเคราะห์ในอัตราส่วน 60 : 40 (การผลิตเดิมจะใช้วัสดุยางสังเคราะห์ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด)
1.3 การสร้างลู่ - ลานกรีฑาโดยใช้สูตรที่คิดค้นขึ้นนี้ มีค่าใช้จ่ายตารางเมตรละประมาณ 1,700 บาท (คำนวณจากต้นทุนยางกิโลกรัมละ 50 บาท) ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในงานทำพื้นลู่ - ลานกรีฑาในแบบเดิมที่ต้องนำเข้าคิดเป็นตารางเมตรละ 2,500 บาท (ข้อมูลปี พ.ศ. 2554) พบว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายลงตารางเมตรละ 800 บาท คิดเป็นประมาณอัตราร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายเดิม ดังนั้น หนึ่งสนามกรีฑามาตรฐานที่มีพื้นที่ 6,500 ตารางเมตร จะสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ จำนวน 5.20 ล้านบาท
1.4 การส่งเสริมการใช้ยางธรรมชาติภายในประเทศ พบว่า หนึ่งสนามกรีฑามาตรฐานจะใช้ยางธรรมชาติเป็นวัตถุดิบถึง 12 ตัน โดยใช้เป็นส่วนผสมของเม็ดยางแดงที่อยู่ด้านบนในอัตราส่วน ยางธรรมชาติ : ยางสังเคราะห์ เป็น 60 : 40 และส่วนเม็ดยางดำที่อยู่ด้านล่างสามารถใช้ยางธรรมชาติเป็นส่วนผสมเพียงอย่างเดียว
2. ความสามารถในการผลิตเชิงอุตสาหกรรม การผลิตวัสดุปูพื้นลู่ - ลานกรีฑาดังกล่าว ในการผลิตระดับอุตสาหกรรมนั้น พบว่ามีภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องใน 2 กลุ่มหลัก คือ
2.1 กลุ่มอุตสาหกรรมยาง ได้แก่ บริษัทที่ดำเนินกิจการด้านยางที่มีความพร้อมในด้านเครื่องมือการบดผสมและการขึ้นรูปยาง ทั้งที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง และผู้ประกอบการยางระดับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยทั่วไป ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 300 ราย โดยจะทำหน้าที่แปรรูปยางธรรมชาติจากวัตถุดิบยางแห้งทุกประเภทให้เป็นยางเม็ดยางแดงและเม็ดยางดำแบบพร้อมใช้งานสำหรับกระบวนการก่อสร้างหรือขึ้นรูปพื้นยางต่อไป ทั้งนี้ บริษัทสามารถใช้เครื่องมือการบดผสมและการขึ้นรูปยางที่มีอยู่เดิมในการดำเนินการได้
2.2 กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ได้แก่ บริษัทที่ดำเนินกิจการสร้างพื้นลู่ - ลานกรีฑา และพื้นสนามประเภทต่าง ๆ รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้างทั่วไป โดยจะทำหน้าที่ก่อสร้างหรือติดตั้งพื้นยางประเภทต่าง ๆ