ใครเป็นใคร? รายชื่อ-อำนาจหน้าที่ คณะ กก.ต่อต้านการทุจริตฯฉบับ "ประยุทธ์"
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันอังคาร 6 มกราคม 2558 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติรับทราบคำสั่งแต่งตั้ง"คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ"
และพิจารณามอบหมายสำนักงบประมาณอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประธานกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติเสนอ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1 รับทราบคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 127/2551 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2558 ลงวันที่ 5 มกราคม 2558
2 มอบหมายให้สำนักงบประมาณอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานและรับผิดชอบงานธุรกรรมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงานตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 127/2557 ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2557 และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 1/2558 ลงวันที่ 5 มกราคม 2558
และพิจารณาการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ และการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้เบิกจ่ายได้ตามระเบียบของทางราชการ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงานประมาณ
ทั้งนี้ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับสถานที่ปฏิบัติงานของคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ
สำหรับ คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ประกอบด้วย
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธานกรรมการ
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ
พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ
กรรมการ ประกอบด้วย
พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก
พลเรือเอกไกรสร จัรทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ
พลอากาศเอกตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ บริษัททุนภัทร จำกัด(มหาชน) และคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ(คนร.) หรือ ซุปเปอร์บอร์ด
นางจุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย และสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ
นายต่อตระกูล ยมนาค นายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
นางสาววลัยรัตน์ ศรีอรุณ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย
รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยมีประธานกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ เป็นกรรมการและเลขานุการ ผู้แทนสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (1) ผู้แทนสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (2) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ (3)
ทั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าว มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) จัดทำแนวทางและมาตรการในการบูรณาการเพื่อเสริมสร้างและประสานความร่วมมือ ในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบระหว่างหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินการตามนโยบายในเรื่องดังกล่าวเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและไปในทิศทางเดียวกันและเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
(2) ติดตาม ประสานงาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการดำเนินงานของคณะกรรมการตามกฏหมายหรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนพิจารณาข้อเสนอของภาคเอกชนในการต่อต้าน ป้องกัน และขจัด การทุจริตและประพฤติมิชอบ
(3) จัดทำผลการดำเนินการและเสนอแนะความเห็นหรือกลไกในการดำเนินการที่จำเป็น ในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือเพื่อมีมติสั่งการให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการ
(4) จัดทำข้อเสนอแนะในการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควร
(5) ในกรณีที่เห็นสมควรอาจแจ้งต่อหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อปรึกษาหารือหรือพิจารณาแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาในเรื่องของการป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
(6) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อพิจารณาหรือช่วยเหลือในการปฏิบัติงานตามความจำเป็น
(7) เชิญเจ้าหน้าที่ บุคคล หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงให้ข้อเท็จจริง ความเห็นหรือคำแนะนำทางวิชาการ หรือเรียกเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาได้ตามความจำเป็น
(8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมอบหมาย
ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม พุทธศักราช 2558 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจาก "พลเอกประยุทธ์" เป็นนายกฯมาแล้ว 4 เดือน
ขอบคุณภาพจาก:คลังภาพ ศูนย์สื่อทำเนียบ