11ปีไฟใต้...รัฐบอกดีขึ้นแต่ชาวบ้านไม่รู้สึกเลย
4 ม.ค.2558 เป็นวันครบรอบ 11 ปีไฟใต้...
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้สถานการณ์ต่างๆ ดูดีขึ้น สถิติเหตุรุนแรงที่รัฐบาลนำมาแสดงก็ลดลง ผู้คนในพื้นที่อื่นๆ ให้ความสนใจปัญหาชายแดนใต้ไม่มากนัก บางคนลืมไปด้วยซ้ำว่าปัญหานี้เรื้อรังมานานถึง 11 ปีแล้ว
ทว่าจากการลงพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้าน ผู้คนรากหญ้าในสามจังหวัด และคนที่ทำงานกับภาคประชาชน ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน กลับพบความรู้สึกที่สวนทาง
นางมารีแย ดอมะ อายุ 52 ปี ชาวบ้าน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส อาชีพกรีดยาง บอกว่า เป็นคนกรีดยางธรรมดาๆ ก็ไม่รู้จะพูดอะไร เพราะพูดไม่เป็น แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกของตัวเองตอนนี้ ถ้ามองไปที่รัฐบาลก็จะพบว่ารัฐบาลไม่สนใจปัญหาของชาวบ้านเลย
"เห็นชัดๆ ก็ราคายางที่ตกต่ำที่สุดในรอบ 40 ปี เท่าที่มีชีวิตอยู่มาก็ไม่เคยตกต่ำขนาดนี้ รัฐบาลก็ยังแก้ไขไม่ได้ แต่ก็มาคิดๆ อีกที ถือว่าโชคดีหน่อยที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำลง ราคาน้ำมันลดลงด้วย ก็เลยบรรเทาความเดือดร้อนไปได้บ้าง แต่มันก็ไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลที่แก้ปัญหานี้ คิดว่ามันแค่บังเอิญเท่านั้น"
"ปีที่ผ่านมาราคาผลไม้ก็เหมือนกับราคายาง ทุกอย่างแย่ลง แต่ชาวบ้านก็ต้องอยู่กันต่อไป มีก็กิน ไม่มีก็อด แค่นั้นเอง"
นางมารีแย กล่าวต่อว่า หันมาดูเรื่องความปลอดภัย เหตุการณ์รุนแรงเกิดมานานมาก เมื่อก่อนมีลูก 5 คน ตอนนี้มีลูก 6 คน คนเล็กก็มีอายุเท่าๆ กับอายุของเหตุการณ์ คือ 10 ปี 11 ปี เท่าที่จำได้เหตุการณ์ก็เกิดตลอด น้อยมากที่จะไม่มีเหตุรุนแรงในแต่ละวัน รู้สึกไม่ปลอดภัยเลยตลอด 11 ปีมานี้ รัฐก็มีแต่พูดว่าดีขึ้น แต่พวกเราไม่รู้สึกว่าดีขึ้นเลย เพราะยังกลัว ยังมีคนเสียใจ ยังมีคนเสียชีวิต มีคนตายทุกวัน
"ในพื้นที่มีปืน มีกำลังเจ้าหน้าที่ เขาบอกว่าต้องเฝ้าระวัง ก็ไม่รู้ว่าระวังอะไร ระวังใคร 11 ปีที่ผ่านมามีแต่ความรู้สึกกลัว แต่ก็ไม่รู้ว่ากลัวอะไร พอเห็นเจ้าหน้าที่ก็กลัว เห็นปืนก็กลัว จะไปกรีดยางก็กลัว แต่ก็ต้องไป เพราะไม่ไปก็อด พอได้ยางมา เอาไปขายก็ราคาถูกอีก คงเป็นชีวิตของคนจนกระมังที่ต้องอยู่แบบนี้"
นางมารีแย กล่าวด้วยว่า ปีใหม่นี้ถ้าขออะไรได้ ก็อยากขอให้พื้นที่นี้สงบ ไม่ต้องเห็นความตาย ไม่ต้องเห็นคนเจ็บนอนอยู่บนถนนอีก
น.ส.เดาะ มามะ อายุ 48 ปี คนขายไก่สดที่ จ.ปัตตานี บอกว่า ตอนนี้ข้าวของทุกอย่างแพง เศรษฐกิจไม่ดี ชาวบ้านเดือดร้อน รัฐก็แก้ปัญหาแบบลวกๆ ทำให้เป็นข่าว พูดให้เป็นข่าว แต่ชาวบ้านเดือดร้อนเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนสำหรับชาวบ้าน
สำหรับปัญหาภาคใต้ รัฐได้งบประมาณมาจนถึงตอนนี้ใช้งบไปเท่าไรแล้วก็ไม่รู้ แต่ก็คิดว่าน่าจะเยอะมาก 11 ปีใช้เงินไปเท่าไร แต่ปัญหาของประชาชนยังเหมือนเดิม ก็ควรคิดใหม่ทำใหม่ได้แล้ว คิดที่จะทำอะไรให้มันจบ หรือให้สงบลง ทำให้พื้นที่มีความปลอดภัย ชาวบ้านสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จะพูดอะไรจะคิดอะไรก็ได้
"การแก้ปัญหาโดยใช้งบประมาณไม่ได้ผลกับภาคใต้ ถ้าคิดว่าไม่ถูกก็ควรเปลี่ยนวิธีใหม่ หรือถ้าคิดว่าถูก หรือมาถูกทางแล้วอย่างที่พูด ปัญหาควรจบไปแล้ว แต่นี่มันไม่จบสักที เวลาก็ใช้มานานมาก เงินก็ใช้มาเยอะมาก แล้วต้องให้ทำอย่างไรถึงจะจบ ก็ต้องมาคิดว่าทำอย่างไรชาวบ้านจะไม่ลำบาก หรือว่าคิดไม่เป็น สิ่งที่ชาวบ้านพูดก็หัดฟังบ้าง หัดไปทำดูบ้าง ชาวบ้านต้องการอะไร เรียกร้องอะไร ลองพิจารณาแล้วทำดู เพราะเมื่อก่อนคิดเอง ปัญหาไม่จบ ลองให้ชาวบ้านคิด แล้วไปทำดู เผื่อแนวคิดของชาวบ้านจะทำให้ได้ผล ชาวบ้านไม่เดือดร้อน"
น.ส.เดาะ บอกว่า ถ้ารัฐยังทำเหมือนเดิม คิดว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ชาวบ้านก็ยังเดือดร้อนเหมือนเดิม ส่วนการพูดคุยสันติสุขนั้น เห็นว่ากำลังจะมีพูดคุยกันอีก บางคนก็บอกว่ามีการพูดคุยไปแล้ว บางคนก็พูดว่ากำลังจะพูดคุยรอบใหม่ แต่สำหรับตัวเองคิดว่าปัญหาใต้ไม่จบด้วยวิธีนี้ เพราะว่าเท่าที่สังเกตทั้งสองฝ่ายต่างมีผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่มีกติการ่วม ปัญหาไม่จบด้วยวิธีนี้แน่นอน
ชาวบ้านอีกรายจาก จ.ปัตตานี (ขอสงวนนาม) กล่าวว่า สิบกว่าปีที่ผ่านมาชายแดนใต้ขาดโอกาสทุกด้านอย่างมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจดิ่งลง ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนยิ่งขาดแคลน
"สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเราส่งผลกระทบต่อทุกคน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ใครจะเจออะไร ความสูญเสียเกิดขึ้นทุกวันด้วยสาเหตุและเหตุผลมากมาย ทั้งเรื่องส่วนตัว เรื่องสถานการณ์ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ทำงานเต็มที่ก็เหมาเป็นเรื่องจากสถานการณ์ไปหมด เรื่องที่ยืดเยื้อมาถึงทุกวันนี้คิดว่าด้วยผลประโยชน์มหาศาลที่หลายคนหลายฝ่ายเข้ามาฉกฉวยในพื้นที่ด้วย ทำให้ความรุนแรงยังคงอยู่ เพื่อเอื้อกับการทำผิดเหล่านั้น"
ซาฮารี เจ๊ะหลง จากสำนักสื่อวาระตานี (Wartani) สื่อภาคประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า สถานการณ์คงยืดเยื้อไปอีกนานด้วยเหตุผลคือรัฐยังไม่รู้โครงสร้างทั้งหมดของขบวนการที่คิดต่างจากรัฐ ทั้งระดับนำและระดับหมู่บาน ยังมีการปิดล้อม ตรวจค้น กำลังทหารยังไม่ถอนออกจากพื้นที่ กฎอัยการศึกยังประกาศใช้อยู่ ทั้งๆ ที่ใช้มานานกว่าสิบปี และยังไม่นับกฎหมายพิเศษอีกสองฉบับ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กับพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551)
ส่วนการพูดคุยสันติสุขนั้น เป็นองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งของกระบวนการสันติภาพ แต่ไม่ควรเร่งในกระบวนการ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องซับซ้อน มันต้องมีก็จริง แต่ถ้าเร่ง มันจะพัง
ด้านคนทำสื่อปาตานีอีกรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) บอกว่า 11 ปีที่ผ่านมา ไม่มีอะไรเปลี่ยนสำหรับการแก้ปัญหาจากรัฐ ด้วยหลักคิด ทัศนคติของรัฐไม่เคยพัฒนา ยังวนอยู่กับความเชื่อเดิมๆ เปลี่ยนแค่เพียงรูปแบบการแก้ปัญหา เจ้าภาพหลักก็ใช้กลไกเดิม เพียงแค่สลับสับเปลี่ยนเจ้าภาพเท่านั้น
ส่วนภาคประชาสังคม แม้จะทำงานหนัก แต่ยุทธศาสตร์ยังห่างไกลต่อการยึดโยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียคือชาวบ้าน ยังทำงานภายใต้ความคิดและความเชื่อว่าตัวเองคือกลไกสำคัญในการแก้ปัญหา ลืมไปว่าภาคประชาสังคมคือกลไกที่เชื่อมโยงปัญหากับชาวบ้าน และเฟ้นหาความต้องการมาสู่การปฏิบัติ ซึ่งบางครั้งต้องปรับเปลี่ยนการทำงานหรือกิจกรรมให้สอดคล้องตรงกับบริบทของชุมชนปาตานี แม้จะอ้างว่ามีอะไรมากมายเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ถามกลับว่าอำนาจยังคงอยู่ที่เดิมใช่หรือไม่ คือ ภาครัฐและชนชั้นนำภาคประชาสังคม
ทั้งหมดนี้คือความเห็นของชาวบ้านและคนทำงานในพื้นที่ที่ปราศจากการปรุงแต่ง หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการสะท้อนภาพจริงของปัญหาและความรู้สึกจริงๆ ของคนชายแดนใต้ให้รัฐบาลได้เห็นและได้ยินบ้าง...
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : พี่น้องมุสลิมชายแดนใต้พร้อมใจกันประกอบพิธีละหมาดที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี
ขอบคุณ : แฟ้มภาพของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่