เวทีปฏิรูปเสนอรัฐสวัสดิการแทนประชานิยมสร้างภาพ - คนไทยควรจ่ายภาษีเพิ่มเท่าตัว
เลขาฯพระปกเกล้าแนะปฏิรูปรัฐแก้ความขัดแย้งระยะยาว จัดสรรผลประโยชน์สังคมใหม่ ทำประชานิยมเป็นรัฐสวัสดิการ เลิกภารกิจรัฐที่ไร้ประโยชน์ กป.อพช.เสนอการใช้อำนาจรัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์ ประชาธิปไตยคนต้องกำหนดชีวิตตัวเองได้ ภาคประชาชนชี้ลดช่องว่างชนชั้น ปฏิรูปการเมือง สวัสดิการ ยุติธรรมทีดีอาร์ไอเน้นปฏิรูปประเทศไม่สำเร็จ หากไม่ให้ชุมชนมีส่วนร่วม และคนไทยต้องเสียสละรับภาระภาษีอีกเท่าตัวใน 10-20 ปี
เมื่อวานนี้(30 พ.ค.) มีการประชุมสภาพัฒนาการเมือง(สพม.) ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของสังคมในระยะยาวโดยการปฏิรูประบบรัฐ 2 ประเด็นหลัก 1.จัดสรรผลประโยชน์และทรัพยากรใหม่ โดยปรับระบบภาษีและมาตรการคลังให้เหมาะสม เพื่อทำให้การใช้จ่ายภาครัฐมี ความเป็นธรรมขึ้น และทำให้ “ประชานิยม” เป็น “รัฐสวัสดิการ” ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย 2.ปรับระบบบริหารภาครัฐและความสัมพันธ์ใหม่ใน สังคม เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าภารกิจใดที่รัฐต้องทำเอง หรือต้องโอนให้หน่วยงานอื่นดำเนินการ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่น หรือเป็นภารกิจที่ต้องยกเลิกโดยสิ้นเชิง
ด้านเครือข่ายภาคประชาชนมีข้อเสนอ 4 ประเด็นหลักคือ 1.สร้าง ความเป็นธรรม และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นหรือการเข้าถึงทรัพยากรที่เป็นธรรม 2.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจทางการเมือง 3.ปฏิรูประบบสวัสดิการ และ 4.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
และยังมีข้อเสนอ 4 ประการจากคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) คือ 1.การใช้อำนาจรัฐต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อยู่บนพื้นฐานสิทธิเสรีภาพประชาชน 2.สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนกำหนดวิถีชีวิตตนเองได้ทั้งมิติการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ 3.สร้างระบบตรวจสอบและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนเพื่อถ่วงดุล อำนาจรัฐ 4.สร้างหลักประกันให้ประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม
ขณะที่ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ)กล่าวถึง“การปฏิรูป เศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม” ว่ารากเหง้าความขัดแย้งที่แท้จริงมาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่รุนแรง ทั้งความไม่เท่าเทียมในการกระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา และบทบาทที่จำกัดของรัฐในการกระจายรายได้และทรัพยากร และอีกหลายกรณีที่รัฐมีส่วนเพิ่มความเหลื่อมล้ำเสียเอง ดังนั้นการปฏิรูปเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายเพิ่มความเป็นธรรมในสังคมจึงเป็นแนว ทางการแก้ไขที่ยั่งยืน
“กลไกตลาดมีศักยภาพเพียงจัดสรรทรัพยากรและพัฒนาเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เป็นเครื่องมือแก้ความเหลื่อมล้ำ โลกาภิวัตน์ยังเร่งให้คนเกิดความหวัง และผลการพัฒนาทำให้เกิดชนชั้นกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนชนบทที่หวังยกฐานะความ เป็นอยู่จากดอกผลการพัฒนานั้น ขณะเดียวกันมีคนจำนวนหนึ่งโชคร้ายหรือพ่ายแพ้จนอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถ แก้ไขปัญหาเองได้ จึงเป็นคำตอบว่าทำไมต้องปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”
ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวถึงสาเหตุจากอีก 2 ภาวะแวดล้อม คือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการรุกเข้ามาของแรงงานต่างด้าว กำลังนำไปสู่จุดซึ่งเราต้องพึ่งพิงเพื่อสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งที่ ภาคแรงงานไทยมีล้นตลาด ส่วนอีกประเด็นเกี่ยวเนื่องกับการจ่ายภาษีในอัตราที่ต่ำ ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวว่าเพียงการเติบโตทางเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำไม่ได้ ต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีใหม่ และสร้างสวัสดิการให้คนที่พ่ายแพ้จากการแข่งขันทางสังคม ขณะที่รัฐต้องบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ กำจัดคอรัปชั่น ซึ่งทั้งหมดจะเกิดขึ้นได้ต้องเสียสละ ไม่โยนภาระให้ผู้อื่น ไม่ปล่อยให้สังคมตกอยู่กับรัฐบาลที่สร้างภาพหาเสียง ไม่มีใครกล้าเอากระพรวนไปผูกคอแมว ไม่เช่นนั้นไม่ว่ารัฐบาลใดก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จจากการปฏิรูปได้
“จำเป็นต้องมีระบบสวัสดิการที่มากกว่าเดิม ระบบเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากผลักภาระให้คนอื่นเป็นผู้จ่าย จะต้องมีการปรับภาษีอีกเท่าตัวจากร้อยละ 16 เป็น 30-32 ในช่วง 10- 20 ปีนี้ โดยให้ทุกคนเฉือนเนื้อตัวเอง และสร้างระบบสวัสดิการที่ไม่ใช่ประชานิยมที่เป็นเพียงการหาเสียง แต่ครอบคลุมทุกคน และการผลักดันกลไกเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการหรือชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมจะ ดีขึ้นกว่ารัฐทำฝ่ายเดียว แต่อย่าหวังว่าจะให้ชุมชนมาทดแทนบทบาทรัฐ”.