เริ่มภารกิจปีแพะ เช็ค คดีถอดถอน ในสนช.
เปิดศักราชปีมะแม 2558 อันเป็นปีที่หลายฝ่ายประเมินว่าอุณหภูมิการเมืองในประเทศ ปีนี้น่าจะลดโทนการเผชิญหน้ากันของคู่ขัดแย้งทางการเมืองลงไปมากเมื่อเทียบกับหลายปีที่ผ่านมา เหตุเพราะเงื่อนไขต่างๆ ไม่เปิดโอกาส
กระนั้นแม้การเมืองในรอบปีนี้ ที่เป็นปีแห่งการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และการปฏิรูปประเทศ ที่สองเรื่องนี้จะเป็นศูนย์กลางใหญ่ที่จะกำหนดความเป็นไปทางการเมืองในบริบทต่างๆ ตลอดทั้งปี แต่เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ถูกจับตามองในปีนี้ก็คือ
“การพิจารณาสำนวนคดีถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ”(สนช.) ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้สนช. จะเริ่มเปิดฉากกันแล้วในช่วงปลายสัปดาห์นี้ ตามคิวที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว
เริ่มจากคดีถอดถอนนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภาและสมาชิกวุฒิสภา และสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภาและอดีตส.ส. พรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเริ่มเปิดโรงกันในวันที่ 8 ม.ค.นี้ ถัดจากนั้นอีกหนึ่งวัน คือศุกร์ที่ 9 ม.ค. ก็จะเป็นคิวของ สำนวนคดีถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในเรื่องโครงการรับจำนำข้าว
โดยความเป็นไปของทั้งสามสำนวน “นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์” ทางวิปสนช.และสนช.สายนักกฎหมายประเมินใกล้เคียงกันว่านับตั้งแต่วันเริ่มแถลงเปิดคดีในสัปดาห์นี้ไปจนถึงวันนัดประชุมสนช.ว่าจะลงมติ ถอดถอนหรือไม่ถอดถอน กระบวนการทั้งหมดน่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วันเท่านั้น เต็มที่ก็ไม่น่าเกิน 40 วัน
ดังนั้น นัดหมายวันลงมติของสนช.ว่าจะถอดถอน นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ จึงน่าจะอยู่ในช่วงไม่เกินสัปดาห์ที่สองของเดือนกุมภาพันธ์คือไม่เกิน 13 กุมภาพันธ์หรืออาจเร็วกว่านั้นเล็กน้อย ก็จะรู้ผลแล้ว
โดยเป็นไปได้ที่ วันลงมติ นิคม-สมศักดิ์ จะติดกับวันลงมติ คดียิ่งลักษณ์ แบบเดียวกันกับที่วันแถลงเปิดคดีก็อยู่วันติดกัน ซึ่งหากสนช.มีมติด้วยเสียง 3 ใน 5 คือ 132 ให้ถอดถอนทั้งสามคน ก็จะทำให้ อดีตนายกรัฐมนตรี-อดีตประธานสภาฯ –อดีตประธานวุฒิสภา ต้องเว้นวรรคการเมืองห้าปีนับแต่วันที่สนช.มีมติทันที แต่หากเสียงไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าว ทั้งสามคนก็มีเฮ
ซึ่งถึงวันนี้ สนช.เกือบทั้งสภาฯ ก็ ยังไม่มีใครกล้า ฟันธงว่า นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ จะรอดหรือไม่รอด?
ผลการสู้คดีสามสำนวนดังกล่าว จะออกมาแบบไหน คาดเดากันว่า เมื่อถึงวันแถลงปิดสำนวนด้วยวาจาต่อที่ประชุมสนช. ซึ่งเมื่อทั้งสองฝ่ายแถลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องมีการนัดประชุมสนช.เพื่อลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ถอดถอนภายในไม่เกิน 3 วันหลังจากการแถลงปิดคดีด้วยวาจา ถึงตอนนั้น ให้จับตาดูกันให้ดี เชื่อว่า กระแสข่าวในทำนองเรื่องการล็อบบี้ฝุ่นตลบ การเช็คเสียงสนช.หรือไปถึงขั้นเรื่องการเจรจาอะไรต่างๆ ของคนบางกลุ่ม อาจออกมาเป็นชุด ที่อาจจะเป็นความจริงหรือเป็นข่าวลือ ข่าวปล่อย เพื่อดิสเครดิตกันก็ได้
แน่นอนว่า มติสนช.ไม่ว่าผลออกมาแบบไหน ย่อมมีฝ่ายเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย พอใจ-ไม่พอใจ เกิดขึ้นตามมาแน่นอน
โดยเฉพาะกับคดีที่มีแรงสะเทือนทางการเมืองสูงคือ ”คดียิ่งลักษณ์” ที่ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่า คนบางกลุ่มก็ต้องการหาคนรับผิดชอบทางการเมืองต่อความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ที่ขนาดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็บอกเองว่าผลการทำโครงการนี้ทำให้รัฐเสียหาย-ขาดทุนร่วม 6.8 แสนล้านบาท และต้องมีคนรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา
ดังนั้นหาก สนช.ไม่ถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ฝ่ายที่สนับสนุนคสช.-รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ก็ย่อมไม่พอใจแน่นอน และรังสีความไม่พอใจดังกล่าว จะไม่ได้เกิดแค่กับพวกสนช.เท่านั้นแต่มันจะแผ่กระจายไปถึง พลเอกประยุทธ์ ด้วยในฐานะผู้เลือกคนมาเป็นสนช.ทั้ง 220 คนด้วย บนความข้องใจว่าทำไม สนช.ที่เป็น 1 ใน แม่น้ำ 5 สายของคสช. ถึงไม่ถอดถอน ยิ่งลักษณ์
และกลับกัน ถ้าหากสนช.มีมติถอดถอน ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องทำให้มวลชนผู้สนับสนุน พรรคเพื่อไทย ก็ย่อมไม่พอใจสนช.-พลเอกประยุทธ์ เพราะมองว่าเป็นมติที่ไม่ชอบธรรม เอาคนที่มาจากการแต่งตั้งโดยหัวหน้าคณะรัฐประหาร มาถอดถอน อดีตนายกฯ-อดีตส.ส.ผู้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งประเทศ หรือเกิดรู้สึกว่ามีกระบวนการจ้องทำลายล้างพรรคเพื่อไทยและคนตระกูล ชินวัตร ไม่จบไม่สิ้น ซึ่งแม้ความไม่พอใจในส่วนนี้อาจแสดงออกไม่ได้มาก เพราะติดขัดเงื่อนไขต่างๆ เช่น กฏอัยการศึก แต่ก็ประมาทไม่ได้เช่นกัน ถ้าความไม่พอใจดังกล่าวถูกกดทับถมไว้เรื่อยๆ
จึงไม่ผิด ที่นักวิเคราะห์การเมืองทุกฝ่ายมองว่า คดีถอดถอนของสนช.จะเป็นตัวเร่งสำคัญที่ส่งผลต่อโรดแมพของคสช.ว่าจะประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เช่น เรื่องการสร้างความปรองดอง มากพอสมควร
ยิ่งเมื่อดูปฏิทินคดีถอดถอนของสนช. ก็พบว่า ระเบิดเวลาการเมืองไม่ได้มีแค่คดีนิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์เท่านั้น แต่เริ่มทยอยเข้ามาเรื่อยๆ เพราะล่าสุด แม้ระเบียบวาระการประชุมสนช.ในสัปดาห์นี้ จะยังไม่มีการบรรจุระเบียบวาระเรื่องสำนวนถอดถอน อดีตสมาชิกวุฒิสภาชุดที่แล้ว 38 คนที่ถูกป.ป.ช.ลงมติชี้มูลกรณีสมัยเป็นสว.รอบที่แล้วได้ร่วมกันลงมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขรธน.เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา เพราะล่าสุด พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ก็ออกมาระบุว่าได้เตรียมบรรจุระเบียบวาระการพิจารณาเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสนช.แล้ว
ที่หมายถึงว่า อีกไม่กี่วันข้างหน้าต่อจากนี้ คดี 38 อดีตสว. ก็จะต่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เป็นสำนวนที่ 4 ต่อจากนิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ ซึ่งหากมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ ก็จะมีการนัดประชุมสนช.เพื่อกำหนดวันแถลงเปิดคดีด้วยวาจาต่อไป แล้วขั้นตอนคดีก็จะเดินไปเรื่อยๆ เหมือนคดีนิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ ซึ่งกระบวนการสู้คดีนี้ ประเมินดูแล้ว คงเข้มข้นพอสมควร เพราะอดีตสว.ทั้งหมด ไม่มีทางยอมโดนถอดถอนง่ายๆ ต้องสู้ทุกกระบวนท่าเพื่อไม่ให้โดนป.ป.ช.และสนช.สอยร่วงยกคณะ สำนวนถอดถอนอดีตสว. 38 คนดังกล่าวจึงน่าจับตาไม่แพ้คดียิ่งลักษณ์-นิคม-สมศักดิ์แน่นอน เผลอๆ จะดุเดือดกว่าหลายเท่าด้วยซ้ำ
สนช.ประสานเสียง ไร้ล็อบบี้-ใบสั่ง
โดยความเป็นไปในการพิจารณาคดีถอดถอนของสนช.ที่ก็จะรวมทั้งสิ้น 4 คดีต่อจากนี้ ทาง”ทีมข่าวฯ”ได้พูดคุยถามความเห็นกับสนช.บางส่วน ก่อนที่จะถึงวันเริ่มต้นแถลงเปิดคดีถอดถอนในปลายสัปดาห์นี้ เพื่อให้เห็นทิศทางว่าสนช.จะเดินหน้าเรื่องนี้กันไปอย่างไร
เริ่มจาก”ธานี อ่อนละเอียด-สนช.สายนักกฎหมาย” ที่ก่อนหน้านี้ เคยเป็นแกนนำสนช.ฝ่ายที่ยืนกรานคัดค้านไม่ให้สนช.รับเรื่องคดีถอดถอน นิคม-สมศักดิ์ ไว้พิจารณา แต่สุดท้ายก็แพ้มติเสียงส่วนใหญ่ของสนช.
ตัวของ”ธานี.”บอกว่า ในส่วนของคดีอดีต 38 สว.นั้น ประธานสนช.สามารถบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมได้เลยไม่ต้องไปพิจารณาอะไรอีกแล้ว ส่วนกระบวนการสู้คดีของอดีตสว.จะเป็นอย่างไรก็ทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาไปพร้อมกันคือทำเป็นกลุ่ม 38 คนหรือจะพิจารณาแบบแยกเป็นรายบุคคล หรือจะทำในรูปแบบการชี้แจงมายังสนช.ด้วยเอกสารอย่างเดียวก็ทำได้ จะทำแบบไหนก็ทำได้หมด แต่ต้องทำตามข้อบังคับการประชุมสนช.ก่อน ด้วยการส่งเรื่องมายังประธานสนช. แล้วที่ประชุมสนช.ก็จะพิจารณา หากทางสนช.มองดูแล้วว่าไม่ได้มีเจตนาจะประวิงเวลาก็อาจอนุญาตให้หมด ที่ต้องรอดูท่าทีของอดีตสว.กลุ่มดังกล่าวด้วย ส่วนตัวมองว่ากลุ่มดังกล่าวอาจใช้วิธีแบบส่งตัวแทนมาดำเนินการในชั้นสนช. แต่หากใช้วิธีการชี้แจงแบบรายบุคคลก็คงใช้เวลานาน ต้องแล้วแต่อดีตสว.กลุ่มดังกล่าว
“สำหรับการพิจารณาของสนช.ในสำนวนถอดถอนนั้น ยืนยันว่า ไม่มีเรื่องการล็อบบี้อะไรทั้งสิ้น อย่าไปเชื่อข่าวลือข่าวปล่อยอะไร เท่าที่ดูตอนนี้ไม่เห็นมีอะไร ไม่ควรมีการปล่อยข่าวอะไรเกี่ยวกับสนช.ในเรื่องพวกนี้ ถ้าทำก็เหมือนกับไม่ให้เกียรติสนช.กัน ถ้ามีอะไรก็นำมาแฉกันเลย แต่อย่ามาตีปลาหน้าไซ ไม่ถูกต้อง สนช.ไม่ควรมีการเมืองเข้ามาเกี่ยว”
เมื่อถามว่าสนช.เป็นอิสระจากคสช.หรือไม่ “ธานี”ตอบว่า คสช.เขาไม่ลงมาเล่นเรื่องพวกนี้หรอก ตอนนี้ก็ปวดหัวเรื่องปัญหาเศรษฐกิจอยู่ ไม่มายุ่งหรอก
ถามย้ำว่า เมื่อเข้าสู่ตอนสนช.ต้องลงมติจะถอดถอนหรือไม่ อาจมีแรงกดดันภายนอกมายังสนช.ในการลงมติ “ธานี”กล่าวว่า เรื่องแบบนี้ แต่ไหนแต่ไรมา สมัยผมเป็นสว.ชุดที่แล้ว ก็เจอเรื่องปัจจัยกดดันต่างๆ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง แต่ดุลยพินิจของสนช.แต่ละคนเขาชี้ได้ว่าอันไหนควรไม่ควร
“ถ้ามติสนช.ออกมาแบบไหน มันก็ต้องจบ ไม่อย่างนั้นก็ไม่รู้จักจบ ไม่รู้จักเลย ไม่ว่าเสื้อไหน ไม่จบ อ้างอย่างโน้นอย่างนี้ อ้างว่าไม่กล้าบ้าง มันไม่ถูก ก็เหมือนอย่างศาลเวลาตัดสินอะไรออกมาก็คือข้อยุติ ถ้าจะถอดถอนไม่ได้ขึ้นมา รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนกันออกมาอย่างไรก็ไปว่ากัน” สนช.ธานีทิ้งท้าย
ด้าน “มหรรณพ เดชวิทักษ์-สนช.”ที่เป็นอดีตสว.สรรหาชุดที่แล้วด้วย กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนถอดถอนของสนช.ต่อจากนี้ว่า ยืนยันว่าสนช.ไม่มีการฟังสัญญาณจากใคร ผมเองก็เป็นอดีตสว.สรรหาชุดที่แล้ว จึงทราบดีว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวที่เกิดเป็นคดีถอดถอนขึ้นมาเป็นอย่างไรเพราะได้สัมผัสด้วยตัวเอง จึงมีจุดยืนและวิจารณญาณของตัวเองไม่มีใครจะสามารถมาสั่งการให้ตัดสินใจไปในทางใดทางหนึ่งได้ ผมมีจุดยืนของผมแล้วผมรู้ว่าผมต้องทำอย่างไร สบายใจเถอะครับ กระบวนการที่จะเริ่มต้นขึ้นในต้นเดือนมกราคมนี้ก็เป็นกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่ายแต่สำหรับผมอยู่ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงทราบเรื่องทั้งหมดดีว่าเป็นอย่างไร ใครทำอะไรมาเป็นอย่างไร ซึ่งสำหรับสนช.ที่เข้ามาใหม่ ก็ควรได้รับรู้รับฟัง ผมเชื่อมั่นว่าสนช.ทุกคนมีวุฒิภาวะ เพราะแต่ละคนมีผลงานและเกียรติประวัติการดำรงสถานภาพทางวิชาชีพและสังคมมาอย่างดี
“ผมไม่เชื่อว่าจะมีใครมาโน้มน้าวพวกเราสนช.ได้ เท่าที่ผมได้ติดตาม ไม่มีเลยเรื่องการไปล็อบบี้อะไรใคร ไม่มีจริงๆ ที่มีการไปพูดกันว่าต้องมีผู้ใหญ่มาส่งสัญญาณกันนั้นไม่เป็นความจริง เราควรให้ความเป็นธรรมว่าเรื่องที่เกิดขึ้น ต้องพิจารณากันไปตามเนื้อผ้า สนช.แต่ละคนก็มีเอกสิทธิ์ในการตัดสินใจ ผมไม่อยากให้เชื่อว่าจะมีใครมาบงการสนช.ให้ทำอะไรไปอย่างใดอย่างหนึ่งเพราะจนบัดนี้ก็ไม่เห็นมีใครมาพูดอะไรกับผม แล้วผมก็ไม่ได้ไปพูดกับใคร ผมเชื่อในความเป็นธรรมของบ้านเมืองและกฎหมายว่ากฎหมายมีความศักดิ์สิทธิ์เสมอ”
เมื่อถามว่า มติของสนช.ที่ให้รับเรื่องคดีนิคมกับสมศักดิ์ไว้ถอดถอน คะแนนเสียงไม่ห่างกับจำนวนเสียงที่เห็นว่าไม่ควรรับเรื่องไว้มาก จะมีผลอะไรหรือไม่ “มหรรณพ”กล่าวตอบว่าไม่เป็นไร ตรงนั้นเป็นแค่การลงมติขั้นต้น ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ ถ้าสนช.แต่ละคนได้ศึกษาเรื่องราวอย่างถ่องแท้ ก็คงใช้วิจารญาณของตัวเองได้อย่างเต็มที่ เชื่อว่าคะแนนที่ออกมาไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร
ถามต่อว่าเป็นห่วงแรงกดดันจากภายนอกต่อการพิจารณาของสนช.ในคดีถอดถอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนับแต่นี้ หรือไม่ “มหรรณพ”กล่าวตอบว่าเรื่องแรงกดดัน มันก็แล้วแต่ ก็มีทั้งสองทาง ทางหนึ่งก็กดดันไม่ให้ถอดถอน ทางหนึ่งก็กดดันให้ถอดถอน อันนี้ผมคิดว่าคนกดดันอาจไม่เข้าใจเงื่อนไขข้อเท็จจริงๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้ ว่าแท้ที่จริงเรื่องราวเป็นอย่างไร แล้วคนอยู่นอกเหตุการณ์ก็ไปตัดสินกันล่วงหน้าเสียก่อน ก็เหมือนกับคดีเวลาไปที่ศาล คนก็ไม่รู้หรอกว่าสำนวนรายละเอียดในคดีเป็นอย่างไร แต่ไปเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นที่ตั้งไปก่อน พอศาลตัดสินมาถูกใจเราก็เฮ พอตัดสินไม่ถูกใจก็ไปวิพากษ์วิจารณ์ในทางที่ไม่เหมาะสม ขอให้เชื่อว่าสนช.ทุกคนมีวิจารณญาณและมีศักดิ์ศรี การไปโน้มน้าวอะไรไม่ใช่ง่ายๆ ทุกคนมีศักดิ์ศรีและวุฒิภาวะ
“ผมมองว่าเรื่องสำนวนถอดถอนในชั้นสนช.ไม่ได้เรื่องร้อนทางการเมืองอะไรในปีนี้ แต่จะถอดถอนได้หรือไม่ ก็ต้องแล้วแต่เสียงสนช. ในที่ประชุม เราว่าไปตามเนื้อผ้า ถ้าที่ประชุมใหญ่ว่าอย่างไร เราก็ต้องเคารพ เพราะเป็นระบบอบประชาธิปไตย จะมาเอาความเห็นตัวเองเป็นหลักไม่ได้”สนช.ผู้นี้ระบุ
ขณะที่ “นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช.” บอกกับเราเช่นกันว่า วิปสนช.ได้นัดประชุมกันวันอังคารที่ 6 ม.ค. เพื่อหารือเรื่องคดีถอดถอนของสนช. โดยเฉพาะคดีอดีตสว.38 ที่อยู่ระหว่างการเตรียมรอบรรจุวาระการพิจารณาของสนช. เบื้องต้นเห็นว่า หากมีการบรรจุเรื่องนี้แล้วเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาถอดถอน ก็พบว่าทางป.ป.ช.ได้ชี้มูลอดีตสว.ทั้งหมดว่ามีการกระทำในลักษณะเดียวกันเหมือนกันหมด กระบวนการต่างๆ เพื่อสู้คดี ก็ควรที่จะทำในรูปแบบของเป็นคณะบุคคลอดีตสว.38 คน ไม่ควรแยกเป็นรายบุคคล การจะแยกออกมาเป็นรายบุคคลดูแล้วคงอาจทำไม่ได้ ถ้าทำจะเสียเวลาการพิจารณาของสนช. โดยใช่เหตุ ไม่เกิดประโยชน์อะไรแต่ทางสนช.จะว่าอย่างไร ต้องรอดูอีกทีเมื่อเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของสนช.อย่างเป็นทางการในเร็ววันนี้
ด้าน”แหล่งข่าวสนช.”อีกคนหนึ่งวิเคราะห์สำนวนคดีถอดถอนให้ฟังว่า ถ้าดูจากสำนวนคดีถอดถอนที่สนช.จะพิจารณา ดูแล้ว คดีที่ป.ป.ช.ชี้มูล อดีตสว. 38 คน ว่าไปแล้วถือเป็นสำนวนที่เบาที่สุด เพราะ การที่อดีตสว.ทั้งหมด ได้ใช้สิทธิ์ในการร่วมลงมติตอนที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเรื่องที่มาสว.เมื่อปี 2556 ทางอดีตสว.ทั้งหมด ได้ใช้สิทธิ์การเป็นสมาชิกรัฐสภาตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิ์ดังกล่าวไว้
“เท่าที่ดู ก็เห็นว่า ลักษณะความผิดในคดี 38 อดีตสว. ถือว่าบางกว่าอีก 3 คดีก่อนหน้านี้คือคดีสมศักดิ์ นิคม และยิ่งลักษณ์” แหล่งข่าวสนช.รายหนึ่งวิเคราะห์ให้ฟัง
หลังมีการแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอน นิคม-สมศักดิ์-ยิ่งลักษณ์ ในปลายสัปดาห์นี้ไปแล้ว ก็ต้องรอดูว่าสุดท้าย สนช.จะนัดประชุมเพื่อลงมติกันในวันไหน แล้วคดีถอดถอน 38 อดีตสว.จะต่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของสนช.ในช่วงไหน โดยเฉพาะฝ่ายอดีตสว. 38 คนดังกล่าวจะสู้คดีกันอย่างไรเพื่อไม่ให้โดนสนช.ถอดถอน
เรื่องนี้ จึงเป็นประเด็นร้อนการเมืองที่เดาตอนจบได้ยากยิ่งว่าผลจะออกมาแบบไหน
ขอบคุณภาพประกอบจาก google.co.th