รู้จักโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว” จิตอาสาคนเมือง เชื่อมหัวใจชาวนา
"...ผูกปิ่นโตข้าวเป็นโครงการที่กลุ่มคนเมืองต้องการสนับสนุนชาวนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยไม่แสวงหากำไร แต่แสวงหาสังคมที่ดีขึ้น ไม่มีพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทมารับซื้อข้าว และไม่ใช่กิจการเพื่อสังคม"
“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กล่าวชื่นชอบและชื่นชมโครงการ “ผูกปิ่นโตข้าว” ออกทีวี ผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติค่ำวันศุกร์ 2 มกราคม ที่ผ่านมา ในฐานะเป็นโครงการจิตอาสาด้านการเกษตรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
“เป็นโครงการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เน้นความพอเพียง เน้นความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง เน้นความเสียสละเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเป็นโครงการที่สามารถเข้าถึงประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องการจะเห็นข้าวไทยกลับมามีเอกลักษณ์ มีคุณภาพ สะอาดและปลอดภัยสำหรับการบริโภคอีกครั้งหนึ่ง”
นายกฯ บอกว่า โครงการนี้ เป็นกลไกเชื่อมระหว่างครอบครัวคนในเมืองกับครอบครัวชาวนาที่ปลูกข้าวอินทรีย์ หรือข้าวปลอดสารโดยตรง ซึ่งได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลำดับ
นอกจากนี้ ทางโครงการกำลังพยายามจะขยายขอบเขตของความร่วมมือนี้ให้ครอบคลุมถึงธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทห้างร้าน ร้านอาหาร โรงแรม โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการใด ๆ ที่ต้องการสนับสนุนส่งเสริมพี่น้องชาวนา และข้าวไทย ควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาพของบุคลากรให้แข็งแรง
“ทางโครงการได้เล่าให้ผมฟังว่า เมื่อชาวนาเลิกใช้ปุ๋ยเคมี และหันมาใช้สารธรรมชาติในการกำจัดศัตรูพืช พวกเขาพบว่าที่ดินทำกินของเขาสามารถรองรับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อื่น ๆ ได้อีก ถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมไปอีกทางหนึ่ง” นายกฯประยุทธ์ กล่าวชื่นชม
ถามว่า “โครงการผูกปิ่นโตข้าว” คืออะไร? มีที่มาที่ไปอย่างไร? ล่าสุด วารสาร “ไทยคู่ฟ้า” เล่มที่ 19จัดทำโดย สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เฉลยว่า
โครงการนี้คือหนึ่งในหลายโครงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มคนเมืองที่รวมตัวกัน เพื่อต้องการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวนาให้มีรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
โดยได้รับแรงบันดาลใจจากกิจกรรมของโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งที่ต้องการให้เด็กๆได้มีที่นา เพื่อเรียนรู้ถึงวิธีการปลูกข้าวและวิถีชีวิตชาวนาไทยที่มีความผูกพันกับผู้บริโภคมาช้านาน
แต่เมื่อสังคมขยายตัวมากขึ้น ความต้องการในการบริโภคข้าวมีมากขึ้น จึงทำให้ชาวนาปรับเปลี่ยนการปลูกข้าวเพื่อกินมาปลูกข้าวเพื่อขาย จากที่ชาวนาเคยรู้จักกับคนกิน ก็จะไม่รู้จัก ไม่เกิดความผูกพันฉันญาติมิตร
วันนี้กลุ่มคนเมืองที่รวมตัวกันจึงได้พยายามคิดหาวิธีที่จะทำให้บรรยากาศเก่าๆกลับคืนมา สร้างความผูกพันระหว่างคนขายกับคนซื้อให้ได้ใกล้ชิดกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันเหมือนอดีตที่ผ่านมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการผูกปิ่นโตข้าว
เปิดดูรายละเอียด “โครงการผูกปิ่นโตข้าว” อธิบายว่า เป็นโครงการที่กลุ่มคนเมืองต้องการสนับสนุนชาวนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน โดยไม่แสวงหากำไร แต่แสวงหาสังคมที่ดีขึ้น ไม่มีพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทมารับซื้อข้าว และไม่ใช่Social Enterpriceหรือกิจการเพื่อสังคม
ทั้งนี้ กลุ่มคนเมืองที่รวมตัวเป็นทีมงาน มีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแนะนำชาวนา ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ มาพบกับกลุ่มผู้บริโภค ที่ต้องการบริโภคข้าวปลอดสารเคมี โดยให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้พูดคุยถึงความต้องการ เช่น จำนวนข้าว วิธีรับข้าว ค่าขนส่ง การจ่ายเงิน และตกลงใจผูกปิ่นโตกันเป็นเวลา 12 เดือน
ทีมงานจะช่วยแนะนำแนวทางพื้นฐาน แนวทางที่น่าสนใจ หรือแนวทางที่มีคนทำอยู่แล้วหรือกำลังริเริ่มทำ เพื่อให้แต่ละคู่มีความมั่นใจว่าจะตัดสินใจเลือกแบบใดที่เหมาะสมกับความต้องการของตนเอง
จากนั้น ผู้บริโภคก็จะแวะเวียนไปมาหาสู่กับชาวนา เพื่อติดตามผลผลิตกันเอง โดยทีมงานไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขายของทั้ง2 ฝ่ายแต่อย่างใด ผู้บริโภคก็จะจ่ายเงินให้กับชาวนาด้วยตนเองตามที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งทีมงานไม่ได้รับค่านายหน้าแม้แต่บาทเดียว
อธิบายง่ายๆก็คือ เป็นการจับคู่กันระหว่างผู้บริโภคคือ “กลุ่มครอบครัวคนในเมือง”กับ “ผู้ผลิตหรือครอบครัวของชาวนาโดยตรง” ส่วนข้าวที่ปลูกเป็นข้าวอินทรีย์หรือข้าวปลอดสารเคมีเท่านั้น สอดคล้องกับนโยบายที่ต้องการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชาวนาไทยหันมาปลูกข้าวอินทรีย์
ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการนี้คือ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวนา ด้วยการเชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ผลิตโดยตรง ไม่ต้องโดนหักเปอร์เซ็นต์จากนายหน้าหรือพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งสามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก
เมื่อชาวนาขายข้าวได้ราคา ผู้บริโภคก็ได้ทั้งข้าวที่มีคุณภาพตามที่ได้ตกลงกันไว้ และยังสามารถลดช่องว่างระหว่างคนเมืองและคนชนบทให้มีความผูกพันเชื่อมโยงกันเหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา
นี่คือหนึ่งโครงการดีๆที่ผูกหัวใจชาวนาและชาวเมืองให้เป็นหนึ่ง ...ด้วยข้าวไทย
ผู้อ่านท่านใดสนใจ ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.facebook.com/pookpintokao
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/pookpintokao