เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัย 2 เท่าเป็น 3 เท่า
เรื่อง มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
วันที่ 30 ธันวาคม 2557 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นขอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ ดังนี้
1. เพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก 2 เท่าเป็น 3 เท่า
2. ค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในข้อ 1 จะต้องไม่เกินค่าใช้จ่ายสูงสุดที่ กค. ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กำหนด
3. กำหนดระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นเวลา 5 ปี โดยเริ่มตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2562
4. โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามข้อ 1 จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโครงการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) วท.และหน่วยงานอื่น ๆ ที่ กค. ประกาศกำหนด
ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะดำเนินการเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ปัจจุบัน กค. ให้การส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนโดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยให้หักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นการวิจัยอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานและการวิจัยเชิงประยุกต์ให้แก่หน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ทั้งนี้ โครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี (โครงการฯ) ดังกล่าว จะต้องได้รับการตรวจสอบและรับรองโดย สวทช. ก่อนยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 297) พ.ศ. 2539 ประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 3) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.103/2544
2. ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ครั้งที่1/2557 เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2557 ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบในหลักการสำหรับข้อเสนอมาตรการเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของภาคเอกชนด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มการลงทุนวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยให้เป็นร้อยละ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และมีสัดส่วนการลงทุนดังกล่าวของภาคเอกชนต่อภาครัฐเป็นร้อยละ 70 ต่อร้อยละ 30 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
2.1 การปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยให้หักค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาจากปัจจุบัน 2 เท่า เป็น 3 เท่า และค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนานั้น ให้รวมถึงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
2.2 การยกเลิกขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบความเป็นโครงการฯ ก่อนยื่นขอสิทธิประโยชน์ทางภาษี (Project Pre-approval) และเปลี่ยนมาใช้วิธีระบุรายการค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมในงบการเงินของบริษัท (Self-declared)
2.3 กค. พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชให้เพิ่มขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน รวมถึงการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนประกอบกับการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 20 ทำให้การประหยัดภาษีจากค่าใช้จ่ายการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีลดลงตามสัดส่วน จึงเห็นควรปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม