11ปีไฟใต้...ตายครึ่งหมื่น ปืนถูกปล้น 2 พันกระบอก งบทะลุ 2.3 แสนล้าน
วันที่ 4 ม.ค.เวียนมาบรรจบอีกครั้ง สำหรับผู้ที่สนใจติดตามปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้คงทราบดีว่าเป็นวันครบรอบเหตุการณ์ปล้นปืนครั้งมโหฬารจำนวน 413 กระบอก จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ม.ค.2547 หลายคนเรียกว่า "วันเสียงปืนแตก" เพราะเสมือนหนึ่งเป็นปฐมบทของเหตุรุนแรงรอบใหม่ในลักษณะสงครามก่อการร้ายและเหตุรุนแรงรายวันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ อ.จะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงวันนี้ 4 ม.ค.2558 นับได้ 11 ปีเต็ม!
โดยตลอดปี 2557 ที่ผ่านมา (ปีที่ 11) มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบปัญหาภาคใต้ครั้งสำคัญ โดยเฉพาะหลังการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยกองทัพบก (ทบ.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เข้ามามีบทบาทแบบเต็มร้อย มีอำนาจเต็มงานด้านความมั่นคงและการกำหนดทิศทางการพัฒนา เนื่องจากลดบทบาทของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ลงไป
พร้อมกันนั้นก็ได้เดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งแม้จะเป็นการสานต่อภารกิจที่ริเริ่มไว้ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2556 ทว่ารัฐบาล คสช.ก็ยกเครื่องโครงสร้างและรูปแบบการทำงานใหม่ทั้งหมด
แม้จนถึงขณะนี้ยังมิอาจบอกได้ว่าความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้จะยุติลงเมื่อใด แต่ปี 2557 หรือปีที่ 11 แห่งสงคราม ณ ดินแดนปลายด้ามขวาน สถานการณ์ในพื้นที่เริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น
ป่วนใต้1.7หมื่น-เหตุมั่นคง9พัน
จากข้อมูลที่เก็บรวบรวมโดยศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) พบว่า ภาพรวมของสถานการณ์ตลอด 11 ปีไฟใต้ (4 ม.ค.2547 ถึง 4 ม.ค.2558) มีเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น 16,969 เหตุการณ์ หรือเฉลี่ย 4.24 เหตุการณ์ต่อวัน แยกเป็นเหตุความมั่นคง ซึ่งหมายถึงเหตุรุนแรงที่กระทำโดยขบวนการก่อความไม่สงบ จำนวน 9,000 เหตุการณ์ หรือเฉลี่ย 2.25 เหตุต่อวัน ส่วนที่เหลือเป็นอาชญากรรมทั่วไป
อย่างไรก็ดี ทิศทางของเหตุรุนแรงมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2551 กล่าวคือ มีเหตุรุนแรงที่เป็นเหตุความมั่นคงต่ำกว่า 1,000 เหตุการณ์ และลดต่ำลงต่อเนื่อง พิจารณาจากสถิติตัวเลขรายปี ดังนี้
ปี 2551 เกิดเหตุรุนแรงทั้งสิ้น 769 เหตุการณ์ เฉลี่ย 2.10 เหตุต่อวัน, ปี 2552 เกิดเหตุรุนแรงรวม 757 เหตุการณ์ เฉลี่ย 2.07 เหตุต่อวัน, ปี 2553 เกิดเหตุรุนแรง 652 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.79 เหตุต่อวัน, ปี 2554 เกิดเหตุรุนแรง 680 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.86 เหตุต่อวัน, ปี 2555 เกิดเหตุรุนแรง 542 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.48 เหตุต่อวัน, ปี 2556 เกิดเหตุรุนแรง 614 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.68 เหตุต่อวัน และปี 2557 (นับถึงวันที่ 11 ธ.ค.) เกิดเหตุรุนแรง 461 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.26 เหตุต่อวัน
สำหรับสถิติเหตุรุนแรงปี 2547-2550 นั้น ปรากฏว่ายกเว้นปี 2547 ปีเดียวที่มีเหตุรุนแรงไม่ถึง 1,000 เหตุการณ์ กล่าวคือ ปี 2547 เกิดเหตุรุนแรง 601 เหตุการณ์ เฉลี่ย 1.54 เหตุต่อวัน, ปี 2548 เกิดเหตุรุนแรง 1,006 เหตุการณ์ เฉลี่ย 2.76 เหตุต่อวัน, ปี 2549 เกิดเหตุรุนแรง 1,249 เหตุการณ์ เฉลี่ย 3.42 เหตุต่อวัน และปี 2550 จำนวนเหตุรุนแรงพุ่งไปถึง 1,669 เหตุการณ์ หรือเฉลี่ย 4.57 เหตุต่อวัน ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในรอบ 11 ปีไฟใต้ และหลังจากนั้นในปี 2551 ก็มีทิศทางลดลงตามลำดับดังกล่าว
ระเบิด3พันลูก-ปะทะ258ครั้ง
ส่วนในภาพรวมเหตุรุนแรงตลอด 11 ปีไฟใต้ 16,969 เหตุการณ์นั้น แยกเป็นประเภทของเหตุรุนแรงได้ดังนี้
เหตุยิงด้วยอาวุธปืน 8,027 เหตุการณ์ คิดเป็น 47.30 % ของเหตุรุนแรงทั้งหมด, ลอบวางระเบิด 3,022 เหตุการณ์ หรือ 17.51% ลอบวางเพลิง 1,647 เหตุการณ์ คิดเป็น 9.71% ทำร้าย 339 เหตุการณ์ คิดเป็น 2% ปะทะ 258 เหตุการณ์ คิดเป็น 1.52%
ชิงอาวุธ 172 เหตุการณ์ คิดเป็น 1.01% ฆ่าทารุณ 102 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.6% ประท้วง 65 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.36% ก่อกวน 3,315 เหตุการณ์ คิดเป็น 19.54% และอื่นๆ 22 เหตุการณ์ คิดเป็น 0.13%
ยอดตายแตะ4พัน-ชาวบ้านกว่าครึ่ง
ทางด้านสถิติความสูญเสีย จำนวนผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บตลอด 11 ปีไฟใต้ มีผู้เสียชีวิต (เฉพาะจากเหตุความมั่นคง) รวมทั้งสิ้น 3,929 คน แยกเป็น ประชาชนทั่วไป 2,610 คน คิดเป็น 66.43% ทหาร 509 นาย คิดเป็น 12.95% ตำรวจ 365 นาย คิดเป็น 9.29% ครูและบุคลากรทางการศึกษา 138 คน คิดเป็น 2.70% พระ 18 รูป คิดเป็น 046% และคนร้าย 321 คน
จำนวนผู้บาดเจ็บทั้งสิ้น 9,602 คน แยกเป็นประชาชนทั่วไป 5,548 คน คิดเป็น 57.78% ทหาร 2,453 นาย คิดเป็น 25.55% ตำรวจ 1,422 นาย คิดเป็น 14.81% ครูและบุคลากรทางการศึกษา 147 คน คิดเป็น 1.29% พระ 24 รูป คิดเป็น 0.25% และคนร้าย 31 คน
ปี 57 ความสูญเสียลดลง
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถิติความสูญเสียในปี 2557 พบว่ามีทิศทางลดลงจากปีก่อนหน้า กล่าวคือ มียอดผู้เสียชีวิตรวม 212 คน แยกเป็นประชาชน 129 คน ทหาร 40 นาย ตำรวจ 28 นาย ครูและบุคลากรทางการศึกษา 5 คน พระ 2 รูป และคนร้าย 8 คน ขณะที่ปี 2556 มียอดเสียชีวิตรวมอยู่ที่ 322 คน และปี 2555 อยู่ที่ 326 คน
ส่วนยอดผู้บาดเจ็บเฉพาะปี 2557 มีทั้งสิ้น 502 คน แยกเป็น ประชาชน 307 คน ทหาร 127 นาย ตำรวจ 66 นาย ครู 1 คน และคนร้าย 1 คน ซึ่งในภาพรวมถือว่าลดลงหากเทียบกับปีก่อนหน้าเช่นกัน โดยปี 2556 มียอดผู้บาดเจ็บรวม 714 คน และปี 2555 อยู่ที่ 1,037 คน
หมู่บ้านสีแดงวูบ-กลุ่มป่วน1.1หมื่น
สำหรับการประเมินสถานภาพหมู่บ้านในมิติความมั่นคง จากเดิมที่แบ่งเป็นหมู่บ้านสีแดง เหลือง เขียว ซึ่งหมายถึงหมู่บ้านที่มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อความไม่สงบอย่างรุนแรง, ปานกลาง และเบาบาง ตามลำดับนั้น ปัจจุบันฝ่ายความมั่นคงเปลี่ยนเป็น หมู่บ้านเสริมความมั่นคง (หมู่บ้านสีแดง) หมู่บ้านเฝ้าระวัง (สีเหลือง) และหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา (สีเขียว)
ข้อมูลล่าสุดพบว่า หมู่บ้านเสริมความมั่นคง ลดลงจาก 319 หมู่บ้าน เหลือ 136 หมู่บ้าน, หมู่บ้านเฝ้าระวัง ลดลงจาก 517 หมู่บ้าน เหลือ 234 หมู่บ้าน และหมู่บ้านเสริมสร้างการพัฒนา เพิ่มจาก 1,160 หมู่บ้าน เป็น 1,600 หมู่บ้าน จากจำนวนหมู่บ้านรวม 1,970 หมู่บ้าน
นอกจากนั้น ตลอด 11 ปีไฟใต้ ฝ่ายความมั่นคงยังได้พิสูจน์ทราบโครงสร้างกลุ่มก่อความไม่สงบ จากข้อมูลการซักถาม สอบสวนผู้ถูกจับกุม และการข่าว สรุปว่ามีผู้เกี่ยวข้องอยู่ในขบวนการราว 11,000 คน เป็นระดับอูลามา หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ 315 คน แกนนำสั่งการ 208 คน อาร์เคเค หรือกลุ่มติดอาวุธขนาดเล็กที่ผ่านการฝึกรบแบบจรยุทธ์ จำนวน 2,314 คน แนวร่วม 6,075 คน และแกนนำอื่น 1,123 คน
ปืนถูกปล้น 2 พันกระบอก!
ดังที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า วันที่ 4 ม.ค.2547 เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์คนร้ายบุกปล้นอาวุธปืนจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง ได้ปืนไป 413 กระบอก และหลังจากนั้นก็มีเหตุรุนแรงรายวัน โดยเฉพาะการโจมตีรูปแบบต่างๆ กับเป้าหมายซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งตำรวจ ทหาร ซึ่งหลายๆ เหตุการณ์มีการปล้นชิงอาวุธปืนไปด้วย
ปรากฏว่าตลอด 11 ปีไฟใต้ มีปืนถูกปล้นไปทั้งสิ้น 2,004 กระบอก ติดตามคืนได้ 751 กระบอก แยกเป็น ปืนพก 302 กระบอก ลูกซอง 71 กระบอก เอ็ม 16 จำนวน 221 กระบอก เอชเค 33 จำนวน 23 กระบอก อาก้า 106 กระบอก และอื่นๆ 28 กระบอก
สำหรับอาวุธปืนที่ถูกปล้นไปล็อตใหญ่ มี 2 ครั้ง คือ 1.กองพันพัฒนาที่ 4 เมื่อ 4 ม.ค.2547 จำนวน 413 กระบอก ตามคืนได้ 93 กระบอก แยกเป็น เอ็ม 16 จำนวน 84 กระบอก และ ปืนพก 11 มม. จำนวน 9 กระบอก
2.ฐานพระองค์ดำ กองร้อยทหารราบที่ 15121 (ร้อย ร.15121) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 38 ต.มะรือโบตก อ.ระแงะ จ.นราธิวาส เมื่อ 19 ม.ค.2554 ปืนถูกปล้น 65 กระบอก ตามคืนได้ 16 กระบอก เป็นปืนเอ็ม 16 จำนวน 12 กระบอก อูซี่ 3 กระบอก และมินิมิ 1 กระบอก
นอกจากนี้ ตลอด 11 ปีไฟใต้ หน่วยพิสูจน์หลักฐานได้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนที่ยึดได้จากคนร้ายและกลุ่มบุคคลต้องสงสัยต่างๆ รวม 6,255 กระบอก/ครั้ง พบเป็นปืนที่ถูกใช้ซ้ำหรือยิงซ้ำในเหตุการณ์ความไม่สงบ 895 กระบอก คาดว่าเป็นปืนที่หมุนเวียนในกลุ่มขบวนการ
คดีความมั่นคงยกฟ้อง 61%
ด้านการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม พบว่ามีการออกหมายจับ (เฉพาะคดีความมั่นคง) โดยอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) และตามกฎหมายพิเศษ คือ พระราชกำหนดการบริหาราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมาย ฉฉ.) รวมทั้งสิ้น 10,291 หมาย แยกเป็นหมาย ฉฉ. 5,512 หมาย, หมาย ป.วิอาญา 4,779 หมาย ยอดจับกุมรวม 7,275 หมาย แยกเป็นหมาย ฉฉ. 4,350 หมาย และหมาย ป.วิอาญา 2,925 หมาย
ผลการสอบสวนและการดำเนินคดี พบว่าตลอด 11 ปีไฟใต้มีคดีอาญารวมทั้งสิ้น 147,049 คดี เป็นคดีความมั่นคง 9,755 คดี คิดเป็น 6.63%
ทั้งนี้ คดีความมั่นคง 9,755 คดี เป็นคดีรู้ตัวผู้กระทำผิด 2,264 คดี คิดเป็น 23.21% ไม่รู้ตัวผู้กระทำผิด 7,491 คดี คิดเป็น 76.79%
เฉพาะคดีรู้ตัวผู้กระทำผิด จับกุมได้ 1,634 คดี เสียชีวิต 454 คดี หลบหนี 630 คดี
ผลคำพิพากษาคดีความมั่นคง รวม 702 คดี จำเลย 1,493 คน พิพากษาลงโทษ 272 คดี คิดเป็น 38.75% จำเลย 453 คน ยกฟ้อง 430 คดี คิดเป็น 61.25% จำเลย 1,040 คน
สำหรับคดีที่ศาลพิพากษาลงโทษ แยกเป็นประหารชีวิต 46 คดี จำเลย 57 คน จำคุกตลอดชีวิต 76 คดี จำเลย 114 คน จำคุกไม่เกิน 50 ปี 150 คดี จำเลย 282 คน
งบดับไฟใต้พุ่งทะลุ 2.3 แสนล้าน!
งบดับไฟใต้ตามแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปี 2558 ยุครัฐบาล คสช.นั้น ตั้งไว้จำนวน 25,744.3 ล้านบาท ทำให้ยอดรวมงบดับไฟใต้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 ถึงปีปัจจุบัน 2558 พุ่งสูงถึง 234,067 ล้านบาทแล้ว
รายละเอียดงบดับไฟใต้ 12 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปี 2547 จำนวน 13,450 ล้านบาท ปี 2548 จำนวน 13,674 ล้านบาท ปี 2549 จำนวน 14,207 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 17,526 ล้านบาท ปี 2551 จำนวน 22,988 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 27,547 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 16,507 ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 19,102 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 16,277 ล้านบาท ปี 2556 จำนวน 21,124 ล้านบาท ปี 2557 จำนวน 25,921 ล้านบาท ปี 2558 จำนวน 25,744.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นตัวเลขเฉพาะงบฟังก์ชัน หรืองบโครงการ ยังไม่รวมงบรายจ่ายประจำประเภทเงินเดือนและค่าตอบแทนข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ
และจากการตรวจสอบย้อนหลังในส่วนของงบดับไฟใต้ในภาพรวม ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2547 เป็นต้นมาจนถึงปี 2558 ปรากฏว่างบที่ตั้งไว้ในปี 2558 สูงสุดเป็นอันดับ 3 รองจากงบปี 2552 และ 2557
พลิกดูการจัดสรรงบดับไฟใต้ในปีงบประมาณ 2558 พบว่ากระจายอยู่ในกว่า 50 หน่วยงาน โดยหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรเม็ดเงินมากที่สุด คือ กอ.รมน. จำนวน 8,191.18 ล้านบาท รองลงมาคือ ศอ.บต. 2,767.33 ล้านบาท ตามด้วยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย 2,648.99 ล้านบาท สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) 1,881.66 ล้านบาท สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1,742.60 ล้านบาท กรมโยธาธิการและผังเมือง 1,176.42 ล้านบาท และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1,122.84 ล้านบาท (หน่วยงานที่เหลือได้รับการจัดสรรต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท)
เป็นที่น่าสังเกตว่า งบดับไฟใต้ของหน่วยงานด้านความมั่นคงมีทิศทางเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น กอ.รมน.เฉพาะภารกิจดับไฟใต้ ในปีงบประมาณ 2557 ได้รับการจัดสรร 7,516 ล้านบาท ขณะที่ปี 2558 พุ่งขึ้นเป็น 8,191 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 675 ล้านบาท เป็นต้น
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : กราฟฟิกทั้งหมดจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ