"ขอให้ไม่ต้องตาย" พรปีใหม่ที่ครูชายแดนใต้ร้องขอ
เทศกาลปีใหม่เวียนมาอีกคำรบ คนทั่วไปมักขอพรหรืออำนวยพรให้ตนเองและครอบครัว ตลอดจนญาติพี่น้อง มิตรสหาย รวมถึงบุคคลอันเป็นที่รักมีความสุข แต่ที่สามจังหวัดชายแดนใต้ พรปีใหม่ที่บางคนอยากได้อาจไม่ใช่ความสุข แต่ขอแค่ "ไม่ตาย" ก็เป็นพรอันยิ่งใหญ่พอแล้ว
ครูสาวไทยพุทธที่สอนอยู่โรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.นราธิวาส บอกว่า สิ่งที่เธอต้องการมากที่สุดตอนนี้ คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองสามารถย้ายออกไปสอนหนังสือที่โรงเรียนนอกพื้นที่เสี่ยงโดยเร็วที่สุด
"ฉันเป็นครูพุทธคนเดียวของโรงเรียนในขณะนี้ รู้สึกกลัวมากเวลาเกิดเหตุยิงครู ยิงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยครู แต่ก็ไม่มีทางเลือก จะเลิกเป็นครูก็สงสารเด็กๆ ไม่อยากไปซ้ำเติมพวกเขา ฉะนั้นถ้าย้ายไม่ได้ สุดท้ายก็คงต้องตายที่นี่ ฉันจึงไม่คิดอยากขออะไรแล้ว ขอแค่ให้ไม่ตาย ให้ได้ย้ายโรงเรียน แค่นี้ก็เกินพอแล้วสำหรับครูตัวเล็กๆ อย่างเรา"
ครูสาวรายนี้บอกว่า อุปสรรคที่ทำให้เธอย้ายสถานที่สอนค่อนข้างยาก คือ การที่เธอเองยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่เป็นครูอัตราจ้าง หากจะย้าย ต้องหาเพื่อนมาสอนแทนตัวเองให้ได้ก่อน ถ้าไม่มีก็ต้องสอนที่เดิมจนกว่าจะหาคนมาแทนได้
"การที่ต้องเจอเรื่องร้ายๆ ทำให้น้อยใจระบบเหมือนกัน เพราะทุกครั้งที่มีครูถูกกระทำ ก็จะมีคนออกมาโวยวาย ขอสวัสดิการทุกอย่างสารพัด รัฐก็พูดว่าจะให้ทุกอย่าง แต่สุดท้ายก็แทบไม่มีอะไรเปลี่ยน ครูที่อยู่ในพื้นที่ก็ต้องทำหน้าที่ต่อไปเท่าที่จะทำได้ เรื่องของครูจะได้รับความสนใจอีกก็เมื่อมีครูคนใหม่ตายอีกนั่นแหละ"
ส่วนที่รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั้น ครูสาวบอกว่า ถ้าเป็นไปได้ก็อยากขอให้การพูดคุยประสบความสำเร็จ และทำให้พื้นที่สงบเร็วๆ ครูจะได้ไม่ต้องย้ายหนีออกจากพื้นที่
บ้านไม่สงบ จะมีสุขได้อย่างไร
ด้านความรู้สึกของชาวบ้านจาก จ.ยะลา นายอามะ จินตรา วัย 85 ปีซึ่งเป็นอัมพาต เขาบอกว่านอนอยู่กับที่มานาน ไม่สามารถลุกไปไหนมาไหนได้ แต่ก็พอจะรู้ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากข่าวทีวีและวิทยุที่ลูกๆ เปิดให้ฟัง เมื่อรู้ก็รู้สึกไม่สบายใจ เป็นห่วงลูกหลาน ถ้าสังคมยังเป็นอยู่แบบนี้ ลูกหลานคงอยู่ลำบากแน่นอน
"เมื่อบ้านเราไม่สงบ เกิดความวุ่นวาย แล้วคนจะมีความสุขได้อย่างไร ส่วนลุงเองไม่นานก็คงลงหลุมแล้ว ไม่น่าห่วงอะไร แต่ที่เป็นห่วงคือลูกหลาน"
อามะ กล่าวต่อว่า ถ้าถามว่าคนแก่ๆ อย่างเขาต้องการอะไร สิ่งที่ต้องการก็คืออยากบ้านเกิดมีแต่ความสุข ไม่มีเหตุรุนแรง ทุกคนจะได้มีความสุข ไปไหนมาไหนก็สะดวก จะทำงานก็คงรู้สึกคล่องตัวขึ้น ยิ่งทุกวันนี้ยางราคาถูก ตัดได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะฝนตกบ้าง เพราะกลัวบ้าง พอได้กรีด ราคาก็ถูกอีก ทุกอย่างรวมๆ แล้วเชื่อว่าลูกหลานคงไม่มีความสุขที่จะต้องใช้ชีวิตเช่นนี้
"ความสงบสุขจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าลูกหลานเราทุกคนไม่ร่วมมือกับรัฐ และรัฐก็ต้องทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจริงใจ ไม่สร้างเงื่อนไขเพิ่ม เชื่อว่าปีหน้าสถานการณ์จะดีขึ้น ถ้าทุกคนทำดี มีเป้าหมายเพื่อคนส่วนมาก ความสุขก็จะเกิดกับคนส่วนมาก"
ส่วนความพยายามในการพูดคุยสันติสุขนั้น อามะ บอกว่า เป็นทางออกที่ดีของทุกฝ่าย แต่อยู่ที่ว่าแต่ละฝ่ายจะมีความเคารพอีกฝ่ายมากขนาดไหน เพราะการพูดคุยจะสำเร็จได้เมื่อทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน และเข้าใจทุกอย่างตรงกัน ถ้าทำได้ปัญหาก็จะจบลง
อยากให้หยุดเสียงระเบิด
ด.ญ.อาซีซะ เงาะตาลี อายุ 14 ปี นักเรียนโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งใน จ.ยะลา บอกว่า สิ่งที่อยากได้ในเทศกาลปีใหม่ คือ อยากให้รัฐบาลมีทุนการศึกษาให้กับเด็กๆ ได้เรียนสูงๆ กันทุกคน และอยากให้บ้านเราไม่มีเสียงปืน ไม่มีเสียงระเบิด อยากให้หยุดเสียงเหล่านี้ ไม่อยากให้มีคนเจ็บคนตายอีก และอยากให้ราคายางดีกว่านี้
"ทุกวันนี้เวลาไปโรงเรียนรู้สึกกลัวมาก ไม่รู้กลัวอะไร แต่รู้แค่ว่ากลัวคนมาทำร้ายตัวเองเหมือนกับเด็กคนอื่นๆ ที่ถูกยิง และบางครั้งก็ถูกระเบิดด้วย"
ให้มีแต่ปลอดภัย ไร้การฆ่า
ทหารนายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ทำหน้าที่หาข่าวในพื้นที่ เล่าว่า ในพื้นที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาทำงาน ไปๆ มาๆ ทำให้ทำงานยาก บางหน่วยตั้งงบประมาณด้านข่าวสาร ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวด้วยกันแย่งข่าวกัน หาข่าวจริงบ้างเท็จบ้าง บางครั้งก็มีการสร้างข่าวที่ไม่จริงบ้าง เอาข่าวเก่ามายำใหม่บ้างก็มี
ถ้าถามว่าปีใหม่อยากได้อะไร ก็อยากให้พื้นที่นี้สงบ ไม่มีการฆ่ากันตาย มีแต่ความปลอดภัย ให้ประชาชนได้คุยในสิ่งที่อยากคุย ได้ไปในที่ที่อยากไป ทุกวันนี้ทุกอย่างดูเหมือนดีขึ้น แต่เมื่อมองไปลึกๆ แล้ว ปัญหายิ่งหนักขึ้น
"ผมอยากให้เจ้าหน้าที่รัฐทุกหน่วย ทุกสายงานที่ทำงานในพื้นที่ บูรณาการกันจริงๆ เชื่อมข้อมูลกันให้ได้ ฟังหน่วยงานที่ไม่ใช่สายงานของตัวเองบ้าง ปัญหาที่มีอาจเบาบางลง การแก้ปัญหาของพี่น้องที่ซับซ้อนอยู่แล้ว จะได้แก้กันง่ายๆ เพราะไม่มีปัญหาของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเองไปเพิ่มอีก"
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่าง ทหารผู้นี้บอกว่า เป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้ปัญหานี้จบลงได้ ขอให้ทุกฝ่ายรักษากรอบกติการการพูดคุย เชื่อว่าจะพูดคุยได้สำเร็จ แต่ถ้าแต่ละฝ่ายไม่มีกติกา ใช้เวลาอีก 100 ปีก็ยังลุกเป็นไฟเช่นนี้แน่นอน
สงบปีนี้ต้อนรับ "เออีซี"
ขณะที่ตำรวจนายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ซึ่งปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชายแดนใต้ บอกว่า การแก้ปัญหาทุกวันนี้มีระบบมากขึ้น สามารถแปรนโยบายที่ได้จากการพูดคุยกับพี่น้องประชาชนไปสู่การปฏิบัติได้ ทำให้หลายกลุ่มยอมรับ แต่ก็ยังมีบ้างสำหรับเจ้าหน้าที่นอกแถว
"ระยะยาวผมเชื่อว่าปัญหาน่าจะจบลงได้ถ้าทุกคนร่วมมือกัน มีประชาชนเป็นที่ตั้ง มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง"
เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากได้ในเทศกาลปีใหม่ ตำรวจนายนี้บอกว่า ขอให้พื้นที่นี้สงบเร็วๆ ปลายปี 58 จะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว ก็อยากให้คนในพื้นที่สามจังหวัดได้รับโอกาสดีๆ ไม่เสียโอกาส
"ปีใหม่นี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวด้วย (ปีท่องเที่ยววิถีไทย) บ้านเราอาจดีขึ้น แค่เราเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ ให้ดี เพื่อนบ้านก็จะเข้ามา เชื่อว่าที่สามจังหวัดเศรษฐกิจจะดีขึ้น พอเศรษฐกิจดี ทุกคนมีกินมีใช้ ปัญหาที่เคยมีหลายๆ อย่างอาจลดลงจนทำให้พื้นที่นี้สงบอย่างที่ทุกคนต้องการ"
ทั้งหมดคือความฝัน ความคาดหวัง และพรปีใหม่ที่คนชายแดนใต้ หรือคนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ ณ ดินแดนปลายด้ามขวานร้องขอเนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2558
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เทศบาลนครยะลาประดับไฟแสงสี พร้อมเขียนข้อความสวัสดีปีใหม่ เป็นภาษาไทย อังกฤษ และมลายู บริเวณหอนาฬิกากลางเมืองยะลา