เอ็นจีโอจี้ สตช.จับมือยิงแกนนำค้านสร้างอ่างเก็บน้ำเหมืองตะกั่ว
6 เครือข่ายภาคประชาสังคม ร่อนแถลงการณ์จี้ สตช.จับกุมมือปืนยิง ‘สุวิทย์ เจะโช๊ะ’ แกนนำคัดค้านก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว จ.พัทลุง ให้รัฐบาลกำหนดกลไกคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้เสียหาย
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ร่วมกับ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์ข้อมูลชุมชน สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้มีการสอบสวนการข่มขู่คุกคามชีวิตและเสรีภาพ ‘นายสุวิทย์ เจะโช๊ะ’ มีใจความว่า
เนื่องจาก วันที่ 28 ธันวาคม 2557 ได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายใช้อาวุธปืน เอ็ม 16 และปืน 9 มม. ยิงถล่มบ้านพักของ นายสุวิทย์เจะโช๊ะ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญที่คัดค้านการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง จนทำให้ตัวบ้านของนายสุวิทย์ได้รับความเสียหาย แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้าย ขอประณามการบุกยิงดังกล่าว เนื่องจากเป็นการกระทำที่ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย และเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิต อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประกอบกับที่ผ่านมามักปรากฏพฤติการณ์กระทำความรุนแรงต่อบุคคลที่ลุกขึ้นมาตรวจสอบและคัดค้านโครงการต่างๆทั้งของรัฐและเอกชน ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิของตนเอง หรือสิทธิชุมชน ซึ่งได้รับการยอมรับให้บุคคลเหล่านั้นเป็น นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders)
แต่อย่างไรก็ตาม กลับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่รัฐแทบจะไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ ส่งผลให้เกิดวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิด (Impunity) ซึ่งทำให้ยังคงก่อให้เกิดความรุนแรงอย่างต่อเนื่องในสังคม ด้วยเหตุดังกล่าวจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรป่าบอน เร่งดำเนินการสอบสวนและนำตัวผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร่งด่วน และตรวจสอบความเกี่ยวพันของเหตุการณ์ดังกล่าวกับการคัดค้านโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านเหมืองตะกั่ว พร้อมทั้งจัดมาตรการรักษาความปลอดภัยให้แก่บุคคลและชุมชนที่มีความเสี่ยงว่า จะโดนทำร้าย ถูกข่มขู่ คุกคาม เนื่องจากการคัดค้านโครงการดังกล่าว เพราะหากยังมีการคัดค้านโครงการดังกล่าวต่อไปอาจมีการก่อความรุนแรงขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการดังกล่าวเป็นโครงการของรัฐจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องทำการตรวจสอบไม่ให้เกิดเหตุรุนแรงจากการดำเนินโครงการดังกล่าวได้
2. ให้รัฐบาลและหน่วยงานด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้อง เยียวยาประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย และกำหนดให้มีกลไกมาตรการการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders) อย่างเป็นระบบต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการกระทำความรุนแรงต่อนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต