พลังปฏิรูปต้องไม่กระจุกในเมือง แนะองค์กรชุมชนจัดสมัชชาผลักดันวาระสังคม
อ.ไพบูลย์ชี้ปฏิรูปต้องทำแบบมาราธอนไม่มีวันเสร็จ แนะสภาองค์กรชุมชนเป็นเครื่องมือได้ แต่ต้องปรับองค์กรใหม่ หมออำพลบอก คกก.ปฏิรูปเป็นพญานาค 2 หัวยังรอลำตัวคือประชาชน แนะองค์กรชุมชนจัดสมัชชาร่วมผลักดันวาระสังคม รองปธ.สพม.บอกพลังปฏิรูปต้องไม่กระจุกในเมือง แต่กระจายสู่ชนบท รองปลัด พม.รับไปเสนอต่อรัฐคืนอำนาจตัดสินใจให้ท้องถิ่น-แก้ระเบียบไม่เป็นธรรม-ส่ง ผู้แทนร่วมปฏิรูป
วันนี้(30 มิ.ย.) ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดประชุม ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล โดย นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ชุมชนท้องถิ่นเป็นรากฐานของสังคมที่ยังอ่อนแอเพราะระบบรวมศูนย์อำนาจรัฐ ควรให้ท้องถิ่นจัดการตนเองทั้งเรื่องคน งาน และอำนาจทุกระดับโดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งเป็นหน่วยย่อยเข้าถึงดูแลชุมชนดีที่สุด แต่ที่ผ่านมากลับทำตามการเมืองระดับชาติที่ไม่พัฒนา แสวงหาผลประโยชน์ อำนาจ คอรัปชั่น ต้องเปลี่ยนวิธีคิด ทำรากให้เข้มแข็งสู่การปรับปรุงระบบราชการที่อ่อนด้อยและพัฒนาการเมืองใหม่
“บทบาทองค์กรชุมชนต่อการปฏิรูปประเทศ ต้องเริ่มจากทำองค์กรให้ดีและมีข้อเสนอที่ชัดเจนเหมาะสมแล้วค่อยเสนอให้คน อื่นทำ ส่วนสภาองค์กรชุมชนต้องปรับปรุงทั้งเรื่องคน โครงสร้าง เครือข่าย”
อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวคิดปฏิรูปที่เกื้อกูลกันสามแบบ 1.กงล้อสู่ความเจริญสันติสุขที่ต้องเคลื่อนอย่างสมดุลระหว่างความดี-ความ สามารถ-ความสุข 2.สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาโดยใช้พลังเอื้อกันพลังสังคมหรือมวลชน-พลังปัญญา จากภาควิชาการ-พลังอำนาจรัฐ 3.แนวทางสามเส้าสันติวิธีป้องกันแก้ไขความขัดแย้งด้วยกระบวนการดี เช่น การจัดการพูดจา-ทัศนคติดี ทำให้เกิดความรู้สึกเอื้ออำนวยให้เจรจา-สาระดี
“การปฏิรูปประเทศไทยเหมือนการวิ่งมาราธอน ควรทำเลยและต้องทำแบบไม่มีวันจบเพราะสังคมอ่อนด้อยเรื่องความถูกต้องดีงาม แม้วันนี้ระดับชาติจะยังดูมืดมนแต่ระดับท้องถิ่นมีทุนเดิมมากอยู่แล้ว ไม่ว่าจะมากหรือน้อยอย่างไรแต่ขอให้ทำเพราะเป็นภารกิจร่วมกัน”
นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องปฏิรูปเป็นข้อเสนอภาคประชาสังคมที่มีมาก่อนที่รัฐนำมาใส่ในแผนปรองดอง ครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ข้อเสนอเป็นจริง แต่ต้องระวังไม่ให้ปนกันกับเรื่องปรองดอง โดยเริ่มจากการตรวจสอบว่าสิ่งใดที่ลิดรอนสิทธิประชาชนและแก้ตรงนั้น ไม่ใช่แค่แก้กฎหมาย ส่วนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศหรือที่ขอเรียกว่า “กลไกพญานาค 2 หัว” ยังรอลำตัวที่เป็นประชาสังคม จึงสามารถทำงานได้
“การตื่นตัวของสภาองค์กรชุมชนเพื่อปฏิรูปประเทศถูกต้องแล้ว แต่ต้องจัดสมัชชาร่วมกันให้เป็นวาระสังคมเพื่อขับเคลื่อน ใช้ปัญญานำและทำประเด็นให้ชัดแล้วค่อยส่งต่อให้ผู้ที่มีหน้าที่สุดท้ายคือ ชุมชนต้องจัดการตัวเองทุกระดับ ต้องปรับวิธีคิด และอย่าดูถูกภูมิปัญญาท้องถิ่น”
ดร.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า พลังที่เกิดขึ้นต้องไม่กระจุกตัวอยู่ที่เมืองหรือหัวเมืองใหญ่ ต้องทำให้ศักยภาพกระจายไปในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้ประเทศโตไปพร้อมกัน สาเหตุปัญหาไม่ใช่กฎหมายแต่เป็นการใช้อำนาจ ซึ่งต้องปฏิรูปคนเพื่อแก้ปัญหา เพราะการเมืองระบบตัวแทนจากการเลือกตั้งไม่ได้ทำงานตอบสนองชุมชนแต่ตอบสนอง หัวหน้ามุ้งเข้าสู่ศูนย์กลางทั้งหมด
“ทำแบบวิ่งมาราธอนไม่ไหว ต้องเร่งให้เร็วกว่านั้น เพราะทุกวันนี้ระบบต่างๆมักใช้วาทกรรมคนจนต้องเสียสละให้ประเทศรวมศูนย์ การจะปิดช่องคือให้อำนาจประชาชนและมีโครงสร้างที่ตอบสนองชุมชน”
นายวิเชียร เจษฎากานต์ เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การเมืองระบบตัวแทนส่วนมากได้มาแต่นักการเมืองที่มุ่งถอนทุนคืน สภาองค์กรชุมชนสามารถตรวจสอบคัดคานอำนาจนี้ได้ แต่ต้องทำตัวเองให้เข้มแข็งก่อน และชุมชน สังคมต้องเปลี่ยนค่านิยมซึ่งยึดติดอำนาจและเงิน มาสร้างวัฒนธรรมสร้างสุขให้ตนเอง คนรอบข้าง ดูแลคนหมู่มากด้วย
นายไมตรี จงไกรจักร์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง กล่าว สภาองค์กรชุมชน เป็นเครื่องมือจัดการปัญหาได้ในหลายพื้นที่ สะท้อนว่าอำนาจชุมชนมีอยู่แล้วหรือสร้างให้เกิดขึ้นได้ ไม่ต้องรอการหยิบยื่น ควรเลิกบ่นเรื่องปัญหาหรือใช้วิธีการยื่นหนังสือ แต่ตั้งสมัชชารวมสภาองค์กรชุมชนทั้งหมดเพื่อทำตัวเองให้ชัดและเสนอรูปธรรม ว่าจะให้รัฐทำอย่างไร พร้อมกับจัดกระบวนการความสัมพันธ์ในองค์กรใหม่ รวมถึงให้สื่อลงพื้นที่นำปัญหาจากฐานรากมาถ่ายทอดให้สาธารณะทราบให้มากที่ สุด
ที่ประชุมระดับชาติสภาองค์กรชุมชน ได้สรุปภาพรวมการทำงาน โดย นาย พรมมา สุวรรณศรี ประธานคณะกรรมการดำเนินการสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ในรอบปีที่ผ่านมามีการกำหนดเป้าหมายจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล โดยขยายไปยังพื้นที่ที่มีความพร้อมและมีฐานทุนเดิม พร้อมๆกับการพัฒนาความเข้มแข็งองค์กร สร้างศักยภาพแกนนำ พัฒนาจัดระบบและกลไกการทำงานให้เหมาะสมยืดหยุ่น
นายเจษฎา มิ่งสมร สมาชิกสภาองค์กรชุมชน กล่าวว่า ขณะนี้มีสภาฯที่จดแจ้งแล้ว 1,758 ตำบล สมาชิก 60,014 คน และกำลังเร่งเผยแพร่ภารกิจของสภาฯ โดยใช้สื่อพื้นบ้านเป็นเครื่องมือ มีการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยจากสถาบันการศึกษามาสังเคราะห์ โดยมีจุดเน้นเรื่องประชาธิปไตยและรัฐศาสตร์ชุมชน นอกจากนี้ยังเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้ง เชิงประเด็นและงบประมาณ
ด้านข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเชิงพื้นที่ เช่น การจัดการเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ทรัพยากรธรมชาติ โครงการขนาดใหญ่ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ผลักดันกระบวนการยุติธรรม ปรับระบบราชการ แก้ไขกฎหมาย ส่งเสริมกระบวนการสภาองค์กรชุมชนให้เป็นกำลังหลักในการปฏิรูป
นายสุรเดช ฉายะเกษตริน รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า พลังประชาชนเป็นสัญญาณสำคัญที่สุด โดยข้อเสนอมาไม่ว่าจะเป็นการคืนอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการตนเอง, การแก้ไขระเบียบที่ไม่เป็นธรรม และการให้ส่งผู้แทนเข้าร่วมกลไกการปฏิรูป ซึ่ง 2 ข้อหลังทำอยู่แล้ว ที่ต้องทำต่อไปคือส่งเสริมระบบสวัสดิการถ้วนหน้าภายในปี 2560 โดยเน้น 1.ระบบบริการทางสังคม 2.ระบบประกันสังคมที่ประชาชนร่วมสมทบ 3.ระบบการช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และ 4.ระบบการส่งเสริมสนับสนุนภาคีทุกภาคส่วนให้เป็นหุ้นส่วนจัดสวัสดิการ .