10 ข่าวเจาะบัญชีทรัพย์สินฯปี 57 "อิศรา" 2 พี่น้อง“จันทร์โอชา”ร้อนแรง
ประมวล 10 ข่าวตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินนักการเมืองแห่งปี 2557 สำนักข่าวอิศรา “บิ๊กตู่-บิ๊กติ๊ก” สองพี่น้อง “จันทร์โอชา” ตีคู่อันดับ 1-2 หลังได้รับความสนใจจากสาธารณชนล้นหลาม “ยิ่งลักษณ์”ตามที่ 3 หลังถูกสอบเชิงลึกโครงการจำนำข้าว “เก่ง-กี้ร์”ด้วย
ในรอบปี 2557 ที่ผ่านมา เกิดเหตุเปลี่ยนผ่านทางขั้วอำนาจที่สำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) หัวหน้า คสช. และปัจจุบันในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดีสิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไป คือผู้มีอำนาจ-มากบารมีไม่ว่าจะมาจากแห่งหนใด ได้รับเลือกโดยมติของประชาชน หรือเข้าสู่อำนาจโดยรัฏฐาธิปัตย์ หากกระโจนเข้าสู่เส้นทางการเมืองแล้ว เมื่อมีการจัดตั้ง “รัฐบาล” มีคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีบรรดา ส.ส.-ส.ว. ที่แม้ว่าขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่แทนโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ตาม
จะต้องดำเนินการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ทุกราย
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวล “บัญชีทรัพย์สินฯ” 10 บัญชีของนักการเมืองที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ว่ามาจากการเลือกตั้ง หรือรัฐประหาร ที่มีความน่าสนใจ และโดดเด่น-ถูกจับตามองมากที่สุดในปีที่ผ่านมา ดังนี้
1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.
พล.อ.ประยุทธ์ ถูกจับตาเรื่องความโปร่งใสมาตั้งแต่แรกเริ่มรัฐประหาร โดยมีการเรียกร้องของกลุ่มก๊วนต่าง ๆ ให้สมาชิก คสช. ดำเนินการยื่นแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินฯ แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช. หารือกันแล้วว่า ไม่สามารถตรวจสอบได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ดังนั้นแม้จะยื่นมาที่ ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถเปิดเผยให้สาธารณชนทราบได้
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเลือกเป็นนายกฯโดยมติของ สนช. และดำเนินการตั้ง “ครม.ประยุทธ์ 1” ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯแก่ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย
และสิ่งที่สร้างความฮือฮาให้กับสังคมคือ “บิ๊กตู่” ได้รับเงินจาก “บิดา” ที่ขายที่ดินแถบบางบอน กทม. จำนวน 9 โฉนด มูลค่ากว่า 540 ล้านบาท ช่วงกลางปี 2556
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ แจ้งว่าล่าสุด มีรายได้ทั้งหมด 25,838,007 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 478,476,594 บาท (คืนเงินกองกลางให้พ่อและน้องกว่า 267 ล้านบาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 128,664,535 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 654,745 บาท
2.พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
สร้างความฮือฮาให้กับสังคมทันทีภายหลังได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. ที่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯ พบว่า ทรัพย์สินเกือบทั้งหมดได้มาภายหลังการรัฐประหารของ “พี่ชาย” แม้จะชี้แจงว่า ทรัพย์สินส่วนใหญ่ได้มาจาก “บิดา” ที่เพิ่งขายที่ดินไป พร้อมอ้างว่า “นายกฯ (พล.อ.ประยุทธ์) รวยกว่าผมอีก”
อย่างไรก็ดีเมื่อพินิจพิเคราะห์ดูชัด ๆ จะพบว่า “บิ๊กติ๊ก” บวกลบตัวเลขในบัญชีทรัพย์สินผิดไป เนื่องจากลืมใส่บัญชีเงินฝากของ “ภริยา” เข้าไปด้วย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 46 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีเงินไหลเวียนเข้าออกเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ระบุว่า “ภริยา” ไม่ได้ทำธุรกิจ
ขณะเดียวกัน พล.อ.ปรีชา ยังมีอำนาจสั่งจ่ายบัญชีกองทัพภาคที่ 3 อดีตต้นสังกัดอยู่ด้วย ทั้งที่ได้รับตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกแล้ว
ทั้งนี้ พล.อ.ปรีชา แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 1,920,000 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 1,560,000 บาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 79,821,468 บาท ไม่มีหนี้สิน
3.น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
เป็นตัวละครสำคัญในห้วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา เป็นคนที่ถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมากที่สุด ไม่ว่าจะโดนดำเนินคดีอาญาในคดีรับจำนำข้าวแล้ว ยังถูกรัฐประหารยึดอำนาจ ขณะเดียวกันก็ถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินเชิงลึกพร้อมกับ 4 รัฐมนตรีที่เกี่ยวพันในโครงการรับจำนำข้าวอีกด้วย
ที่น่าสนใจคือในช่วงยุบสภา พ้นตำแหน่ง ส.ส. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยืมเงิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร “พี่ชาย” อดีตนายกฯกว่า 28 ล้านบาท โดยใช้ 27 ล้านบาทไปซื้อที่ดินแถบบึงกุ่ม กทม. ส่วนที่เหลือนำไปใช้จ่ายในครอบครัว แต่ต่อมาช่วงพ้นตำแหน่งนายกฯ พบว่า หนี้สินดังกล่าวหายไปจนเกลี้ยง
รวมไปถึงกรณี “นาฬิกาฉาว” 2.5 ล้านบาท ที่ถูกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ก็ยังไม่เคลียร์ว่าซื้อมาจริงหรือไม่อีกด้วย
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 28,474,770 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 14,670,000 บาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 639,979,569 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 28,847,269 บาท
4.นายการุณ โหสกุล หรือ “เก่ง” อดีต ส.ส.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย
นักการเมืองที่ถูก ป.ป.ช. สอบมาตั้งแต่ปี 2556 กรณีการครอบครองและขายพระเครื่อง-นาฬิกามูลค่ากว่า 24 ล้านบาท ต่อมาช่วงพ้นตำแหน่งครบ 1 ปี “เก่ง-การุณ” แจ้งบัญชีทรัพย์สินอีกครั้งพบว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่า 18 ล้านบาท ซื้อมอเตอร์ไซค์ดูคาติราคากว่า 5 แสนบาท ซึ่งน่าสังเกตว่ายังแจ้งรายได้-รายจ่ายเท่าเดิมเหมือนกับช่วงพ้นตำแหน่งทุกประการ นอกจากนี้ยังเจอข้อมูลใหม่คือ ออกจากการถือหุ้นบริษัท เคโซน จำกัด และตั้งบริษัทใหม่ชื่อ ปริ้น โฟร์ ยู จำกัด
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า “เก่ง-การุณ” ไม่ได้แจ้งการถือหุ้นบริษัทกำจัดขยะ มูลค่ากว่า 2.5 แสน ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รวบรวมข้อมูลชุดใหม่รวมกับข้อมูลเก่า และเรียก “เก่ง” ให้มาชี้แจงเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ก่อนจะสรุปคดีต่อไป
ทั้งนี้ “เก่ง-การุณ” แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 35,404,120 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 1,390,000 บาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 190,224,136 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 4,151,847 บาท
5.นางระพิพรรณ พงศ์เรืองรอง อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และนายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง สามี อดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
สำหรับนางระพิพรรณ และนายอริสมันต์ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมกว่า 57 ล้านบาท ภายหลังพ้นตำแหน่ง ส.ส. หากเทียบกับช่วงรับตำแหน่งที่มีทรัพย์สินเพียง 11 ล้านบาทเท่านั้น โดยมีรายได้จากบิดา-มารดาสามี 1 ล้านบาท และรายได้จากค่าเช่าขายบ้านและที่ดินบางส่วน 15 ล้านบาท ส่วนนายอริสมันต์ มีรายได้จากสัญญาจ้าง “ทำของ” 8.1 ล้านบาท พร้อมลงทุนประกอบธุรกิจใหม่กว่า 27 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังพบว่า “มิสเตอร์เฉิน” ตัวแทนบริษัทขายข้าวยุค “พรทิวา นาคาศัย” อดีต รมว.พาณิชย์ ปล่อยเงินกู้ให้กับนางระพิพรรณ 5 ล้านบาท ทั้งที่เป็นบุคคลล้มละลายอีกด้วย
ทั้งนี้ นางระพิพรรณ แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 25,378,561 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 6,870,710 บาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 68,437,156 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 36,297,822 บาท
6.น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา
น.ส.ปารีณา เพิ่งปรากฏเป็นข่าวไปสด ๆ เมื่อไม่กี่วันก่อนภายหลังถูกซัดทอดว่าเกี่ยวพันกลุ่มค้าอาวุธสงคราม อย่างไรก็ดี น.ส.ปารีณา เคยถูกตรวจสอบพบว่า ไม่ได้แจ้งรายได้จากการปล่อยเช่าพระเครื่องมูลค่า 25 ล้านบาท รวมไปถึงหุ้นอย่างน้อย 7 บริษัท รวมมูลค่ากว่า 91 ล้านบาท ของนายอุปกิต ปาจรียางกูร สามี (ขณะนั้น) โดย น.ส.ปารีณา อ้างว่า เพิ่งทราบเรื่อง และคงเป็นความผิดพลาดของเลขานุการในการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินแก่ ป.ป.ช. ล่าสุด ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบแล้ว แต่เรื่องก็เงียบหายไป
ทั้งนี้ น.ส.ปารีณา แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 81,491,960 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 42.4 ล้านบาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 678,001,547 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 24,107,150 บาท
7.นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ อดีต ส.ส.จันทบุรี พรรคประชาธิปัตย์
นายพงศ์เวช ลูกพี่ลูกน้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แจ้งทรัพย์สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ล่าช้ากว่าปกติ 6 เดือนนับแต่วันที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 โดยมีการแจ้งรายได้จากการเลี้ยงสัตว์-ทำไร่ รวมกว่า 3 ล้านบาท
อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบพบว่า นายพงศ์เวช และภริยา ไม่ได้แจ้งการถือครองหุ้นบริษัท พี.วี.ฟาร์ม จำกัด มูลค่ารวม 7 แสนบาท โดยอ้างว่าไม่ได้อยู่ในตลาดดหลักทรัพย์ ทว่า ป.ป.ช. เห็นว่าข้ออ้างนี้ฟังไม่ขึ้น สั่งลุยตรวจสอบความผิดปกติทันที
ทั้งนี้ นายพงศ์เวช แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 3,540,000 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 1,134,794 บาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 13,122,741 บาท มีหนี้สินทั้งสิ้น 12,629,361 บาท
8.นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.
ไม่พลิกโผตามที่หลายคนคาดไว้ สำหรับคนคุม “แม่น้ำสายที่ 1” ในเครือข่าย “จุฬาฯคอนเน็คชั่น” สำหรับนายพรเพชร นั่งหัวโต๊ะคุมเกมใน สนช. อย่างไรก็ดีในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯในช่วงรับตำแหน่ง กลับไม่เปิดเผยภาพประกอบทรัพย์สินของตัวเองและภรรยาแต่อย่างใด โดยอ้างว่า กลัวถูกขโมยขึ้นบ้าน-ไม่ปลอดภัย
อย่างไรก็ดีเมื่อสอบถามไปยังนายพรเพชร กลับระบุว่า เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เป็นคนแนะนำให้ทำเอง พร้อมย้ำว่า เคยยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯมาหลายครั้งแล้ว ดังนั้นรับรองว่าโปร่งใสอย่างแน่นอน และเมื่อเปิดกฎหมาย ป.ป.ช. พบว่า เป็นระเบียบที่ออกขึ้นใหม่ เพิ่งบังคับใช้ในปี 2554 ที่ไม่ต้องเปิดเผยภาพประกอบของทรัพย์สิน
ทั้งนี้ นายพรเพชร แจ้งว่าล่าสุดมีรายได้ทั้งหมด 8,864,985 บาท มีรายจ่ายทั้งหมด 1.5 ล้านบาท มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 48,536,225 บาท ไม่มีหนี้สิน
9.นายอิสระ ว่องกุศลกิจ สนช. และเจ้าของเครือมิตรผล
นายอิสระ เจ้าของเครือธุรกิจน้ำตาลมิตรผล เป็น สนช. ที่ร่ำรวยที่สุดในชุดนี้ มีมูลค่าทรัพย์สินกว่า 5.2 พันล้านบาท โดยมีรายได้ทั้งหมดกว่า 339 ล้านบาท เป็นเงินปันผล 288 ล้านบาท มีรายจ่ายทั้งหมด 13 ล้านบาท
ขณะที่มีทรัพย์สินกว่า 5.2 พันล้านบาท เป็นของนายอิสระ 5 พันล้านบาท โดยในส่วนนี้เป็นมูลค่าเงินลงทุนเฉียด 3.5 พันล้านบาท เงินให้กู้ยืม 1.1 พันล้านบาท มีหนี้สินแค่ 13.9 ล้านบาทเท่านั้น
10.ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายเศรษฐกิจ)
“หม่อมอุ๋ย” เป็นหนึ่งในรัฐมนตรีหลายคนที่กลับมาเป็น “เสนาบดีท็อปบู้ต” อีกครั้งภายหลังรัฐประหาร โดยคราวนี้ครองแชมป์มีทรัพย์สินมากที่สุดใน “ครม.ประยุทธ์ 1” โดยมีทรัพย์สินกว่า 1,378,394,902 บาท เป็นเงินลงทุนกว่า 831 ล้านบาท ปล่อยกู้บริษัทตัวเองที่ทำกิจการหอพักนักศึกษา 60 ล้านบาท มีรายได้กว่า 30 ล้านบาท โดยเป็นค่าตอบแทนจากบริษัทเอกชน 2.5 ล้านบาท และดอกเบี้ยจากเงินกองทุนกว่า 16 ล้านบาท มีรายจ่ายกว่า 8.1 ล้านบาท และไม่มีหนี้สิน
ทั้งหมดนี้คือ 10 บัญชีทรัพย์สินนักการเมืองที่มีความโดดเด่น-น่าจับตาในปี 2557 ที่ผ่านมาในทัศนะของ “สำนักข่าวอิศรา”
ส่วนในปี 2558 ที่จะถึงนี้ ป.ป.ช. เตรียมเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินฯของ ส.ส. ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่พ้นครบ 1 ปี
ส่วนรายละเอียดจะเป็นอย่างไร คงต้องรอติดตามด้วยใจระทึก !