ส่องแผน (Road Map) 'ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง-อ้อย-ปาล์ม'
สำรวจโรดเเมป 12 ปี กับผู้บริหารระดับบิ๊ก 4 กลุ่มธุรกิจพืชเศรษฐกิจชูโรง 'ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์-มันสำปะหลัง-อ้อย-ปาล์มน้ำมัน' ยกระดับคุณภาพสินค้าสู่ระดับโลก
จากการประเมินแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2558 ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดว่า น่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2-3 ส่วนหนึ่งเกิดจากการขยายตัวเพิ่มขึ้นของพืชเศรษฐกิจ 4 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน ซึ่งล้วนเป็นตัวชูโรงของภาคอุตสาหกรรมเกษตรไทย
สำหรับภาพ ‘อนาคตสินค้าเกษตรไทยภายใต้ Road Map’ จะเป็นอย่างไร บรรดาผู้บริหารระดับบิ๊กขององค์กรธุรกิจเกษตรหยิบยกแผนขับเคลื่อน 4 พืชเศรษฐกิจ ขึ้นมาเพื่อมองภาพอนาคตในอีก 12 ปีข้างหน้า ว่าไทยจะอยู่จุดไหนของโลก
นายสัตวแพทย์ประกิต เพียรศิริภิญโญ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักจัดซื้อ บริษัท เบทาโกร จำกัด เห็นว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชที่มีความสำคัญกับระบบการผลิตอาหารประเภทเนื้อสัตว์ของไทย เพราะทุกเมล็ดจะถูกนำไปแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ใช้ในการปศุสัตว์ ฉะนั้นข้าวโพดจึงเป็นต้นทางของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ถ้าไม่มีข้าวโพดก็จะไม่มีเนื้อสัตว์ไว้บริโภคในอนาคต
ปัจจุบันทั่วโลกมีปริมาณผลผลิตข้าวโพดราว 1 พันล้านตัน/ปี โดยประเทศใหญ่ ๆ อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ และ ‘บราซิล’ มีการส่งออกมากเป็นอันดับต้น ๆ ส่วน ‘จีน’ ส่งออกน้อย เพราะมีประชากรมาก จึงนิยมปลูกเพื่อใช้ในประเทศแทน
สำหรับในประเทศไทย ผู้บริหาร เบทาโกร ชี้ว่า ปัจจุบันมีผลผลิตข้าวโพดราว 5 ล้านตัน/ปี แต่ปริมาณความต้องการบริโภคกลับสูงมากกว่า โดยอยู่ที่ราว 5-6 ล้านตัน/ปี อย่างไรก็ตาม ปี 2569 มีการประเมินว่า อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไทยจะเติบโตขึ้น จึงต้องใช้ผลผลิตข้าวโพดสูงถึง 7-8 ล้านตัน/ปี ฉะนั้น พื้นที่เพาะปลูกและความสามารถการผลิตต้องมีมากขึ้นด้วย ถ้าทำไม่ได้จะส่งผลให้เป้าหมายการผลิตอาหารไม่เพียงพอ
นายสัตวแพทย์ประกิต ยังกล่าวถึงขั้นตอนการขับเคลื่อนพัฒนาในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ มุ่งเน้น 3 ประการ คือ
1.ความปลอดภัย เป็นเรื่องสำคัญ เพราะข้าวโพดเป็นต้นทางของอาหารสัตว์ หากเกษตรกรใช้ยากำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก จะทำให้เกิดสารตกค้างในสัตว์เลี้ยง และส่งผลต่อความเสี่ยงกับผู้บริโภคได้
2.ความมั่นคง มิฉะนั้นจะประสบปัญหาเหมือน ‘กากถั่วเหลือง’ ที่มีผลผลิตเพียง 7 หมื่นตัน/ปี ต้องนำเข้าเพิ่ม 15 ล้านตัน/ปี เพราะถั่วเหลืองเป็นแหล่งโปรตีนสำคัญ ฉะนั้น หากไทยยังไม่มีมาตรการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดจะยิ่งขาดความมั่นคง
3.ความยั่งยืน เป็นแหล่งวัตถุดิบเลี้ยงสัตว์ที่เพียงพอ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
ส่วนอนาคตจะเพิ่มผลผลิตข้าวโพดในประเทศอย่างไร ผู้บริหาร เบทาโกร ระบุว่า ควรส่งเสริมการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพให้มีปริมาณเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพาการส่งออก หากเลวร้ายที่สุด อาจต้องหวังพึ่งพื้นที่เพาะปลูกในประเทศเพื่อนบ้าน
“ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก แต่พื้นที่เหมาะสมเข้าถึงแหล่งน้ำมีไม่มากนัก ดังนั้นในเมื่อน้ำเป็นปัจจัยสำคัญจึงควรสร้างระบบชลประทานให้ทั่วถึง” นายสัตวแพทย์ประกิต กล่าว และว่า ไม่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ แต่ขอให้บริหารจัดการแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมเกิดประโยชน์มากที่สุด
ผู้บริหาร เบทาโกร กล่าวเสริมว่า ภาครัฐควรส่งเสริมให้ชาวไร่รวมกลุ่มมี ‘เครื่องอบ’ และ ‘ระบบไซโล’ ของตัวเอง เพื่อสร้างการบริหารจัดการ และรักษาเสถียรภาพราคามากยิ่งขึ้น เมื่อตลาดมีปริมาณผลผลิตมากก็เก็บไว้ก่อน หากปริมาณผลผลิตน้อยค่อยปล่อยออกมา
ชาวไร่ยังต้องเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย พร้อมกันนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์มีแนวคิดศึกษาวิจัยข้าวโพดให้มีคุณสมบัติแตกต่างจากพันธุ์ทั่วไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ภายใต้หลักการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีสารเคมีตกค้าง และสร้างนวัตกรรมใหม่ ประเภทเครื่องจักรขนาดย่อม ซึ่งทุกภาคส่วนต้องช่วยเหลืออย่างจริงจัง เพื่อไทยเป็นแหล่งวัตถุดิบครัวของโลก เติบโต และแข่งขันกับนานาชาติได้
ส่วนตลาดมันสำปะหลัง นายบุญมี วัฒนเรืองรอง เลขาธิการสมาคมแป้งมันสำปะหลัง ระบุถึงการพัฒนาที่จากเดิมที่จำหน่ายในรูปแบบอาหารสัตว์ แต่ปัจจุบันถูกนำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้ ซึ่งไทยมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์กรขับเคลื่อน ปัจจุบันมีความต้องการผลผลิตทั้งในและนอกประเทศราว 40 ล้านตัน แต่ไทยผลิตได้เพียง 30 ล้านตัน ดังนั้นอีก 12 ปี ข้างหน้า ตั้งเป้าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดทั้งสิ้น 60 ล้านตัน ซึ่งสาเหตุที่เราดำเนินนโยบายไม่หวือหวามากนัก เพราะไม่ต้องการให้ผลผลิตมีมากเกินไปจนฉุดราคาให้ตกต่ำลง และเพื่อให้แน่นใจว่า มีตลาดรองรับ
“เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกในประเทศมีจำนวนจำกัด เราจึงมีเป้าหมายให้พื้นที่เพาะปลูกคงที่ แต่เน้นการเพิ่มผลผลิตแทน” เลขาธิการสมาคมแป้งมันสำปะหลัง กล่าว
ขณะที่นายคมกริช นาคะลักษณ์ ผู้อำนวยการด้านบริหารและธุรกิจสัมพันธ์ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า ทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนมาก แต่การผลิตน้ำตาลไม่เพียงพอสำหรับการบริโภค โดยผลิตได้เพียง 60 ล้านตัน/ปี จากความต้องการทั้งหมด 70 ล้านตัน/ปี เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกอ้อยน้อย จึงต้องอาศัยการนำเข้าจากภูมิภาคอื่น
ทั้งนี้ ภาพรวมการผลิตน้ำตาลทั่วโลกมีราว 180 ล้านตัน/ปี โดย ‘บราซิล’ เป็นประเทศมีผลผลิตอ้อยมากที่สุด ราว 600 ล้านตัน/ปี มากกว่าไทย 6 เท่า ครึ่งหนึ่งนำมาผลิตเอทานอล อีกครึ่งหนึ่งนำมาผลิตน้ำตาล ได้ราว 30 ล้านตัน/ปี ขณะที่ ‘ออสเตรเลีย’ มีราว 4-5 ล้านตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศส่งออกน้ำตาลมายังเอเชีย
ผอ.ด้านบริหารฯ กลุ่มมิตรผล กล่าวว่า สำหรับไทยมีผลผลิตอ้อยราว 100 ล้านตัน/ปี นำมาผลิตเป็นน้ำตาลได้ราว 11 ล้านตัน และถือเป็นประเทศส่งออกน้ำตาลอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล แม้ปริมาณการผลิตจะห่างกันมาก แต่ไทยมีข้อได้เปรียบอยู่ใกล้ตลาดในเอเชียมากกว่า จึงลดต้นทุนการผลิตได้
“อ้อยไม่ได้นำไปผลิตน้ำตาลอย่างเดียว แต่มีการพัฒนาทำกากน้ำตาล เพื่อไปผลิตเอทานอล”
นายคมกริช คาดว่า ภายใน 12 ปี ข้างหน้า จะเพิ่มผลผลิตอ้อยออกสู่ตลาด 180 ล้านตัน/ปี จากพื้นที่เพาะปลูกเดิม 10 ล้านไร่ ปรับเป็น 16 ล้านไร่ เพื่อนำมาผลิตน้ำตาลและเอทานอลเพิ่มขึ้น โดยจะสนับสนุนนำพื้นที่ปลูกข้าวไม่เหมาะสมมาปลูกอ้อยแทน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคอีสาน
“แผนพัฒนาพลังงานทดแทนของประเทศคาดการณ์อนาคตจะใช้เอทานอลราว 9 ล้านลิตร/ปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 3 ล้านลิตร/ปี ดังนั้น เมื่อสิ้นสุดแผน 12 ปี จะผลิตเอทานอลจากอ้อยได้มากที่สุดราว 7 ล้านตัน/ปี” ผอ.ด้านบริหารฯ กลุ่มมิตรผล ระบุ
สุดท้ายนายกฤษดา ชวนะนันท์ นายกสมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กล่าวว่า ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกปาล์มน้ำมันราว 5 ล้านไร่ เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากอินโดนีเซียกว่า 30 ล้านไร่ และมาเลเซีย 24 ล้านไร่ โดยสามารถผลิตน้ำมันได้ 2.3 ล้านตัน/ปี ซึ่งเทียบไม่ได้กับกำลังการผลิตของประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่เคยคิดเป็นคู่แข่งกัน
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า ในอีก 36 ปีข้างหน้า โลกจะมีประชากรเพิ่มเป็น 9 พันล้านคน ฉะนั้นจะนำน้ำมันที่ใดมาให้บริโภคได้อย่างเพียงพอ โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำมัน 11 กิโลกรัม/คน จีน 18 กิโลกรัม/คน ขณะที่ยุโรป 50 กิโลกรัม/คน สาเหตุที่คนยุโรปบริโภคน้ำมันเยอะ เพราะภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าธุรกิจน้ำมันปาล์มของไทยจะประสบปัญหา
“รัฐบาลมักกังวลว่า แผนขับเคลื่อนพัฒนาด้านปาล์มน้ำมันจะสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ซึ่งหากประเมินข้อได้เปรียบเสียเปรียบ พบไทยมีข้อได้เปรียบหลายด้าน จึงไม่มีประโยชน์อะไรที่ประเทศเพื่อนบ้านจะมาทุบเราให้ตาย เพราะตลาดน้ำมันปาล์มของไทยเล็กมาก” นายกฯ สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม กล่าว และว่า ประเทศเหล่านั้นคงไม่มาทุบของเล็กเพื่อเสียของใหญ่ เพราะถ้าทุบ ไทยก็ต้องออกไปสู่ตลาดโลก และจะทำให้ราคาตลาดโลกเสียหาย ฉะนั้นขอแค่ขึ้นขี่หลังยักษ์ใหญ่ไปเรื่อย ๆ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องแข่งขันกัน
นายกฤษดา กล่าวด้วยว่า นอกจากเป้าหมายการส่งออกที่คาดว่าตลาดผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์มจะเติบโตปีละ 3% อย่าลืมว่าไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกน้ำมันปาล์มด้วย เพราะพื้นที่เพาะปลูกไม่ได้ล้มป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ต่างจากเบอร์ 1 ของโลก อย่างอินโดนีเซีย ที่ล้มป่าเพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน จนกลุ่มสหภาพยุโรปต่อต้าน เพราะทำให้ลิงอุรังอุตังไร้ที่อาศัย
“การผลิตน้ำมันให้เพียงพอกับความต้องการของโลกอนาคต ไทยยังประสบปัญหาพื้นที่เพาะปลูกจำกัด ฉะนั้นต้องเร่งขยายพื้นที่ราว 2.5 แสนไร่/ปี ในอีก 12 ปีข้างหน้า โดยอาศัยพื้นที่ส่วนหนึ่งจากแหล่งเพาะปลูกยางพาราเก่า พร้อมกันนี้ ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดกฎหมาย เพื่อขจัดปัญหาต่าง ๆ ผ่านองค์กรอิสระที่ทำงานเกี่ยวกับพืชชนิดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้มีความพยายามผลักดันอยู่” นายกฯ สมาคมโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ทิ้งท้าย .