Bike Idol จักรยานบันดาลใจ
กระแสปั่นจักรยานปัจจุบันได้รับความสนใจจากคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น และกำลังถูกผลักดันสู่นโยบายสาธารณะ แต่ในหลายๆ พื้นที่ก็ยังมีคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรให้การใช้จักรยาน กลายเป็น "กิจวัตร" ไม่ใช่เป็นแค่ "กิจกรรม" ไม่ใช้ปั่นเพื่อพ่อวันหนึ่ง ปั่นเพื่อแม่วันหนึ่ง ปั่นเพื่ออะไรอีก 2-3 ครั้ง แล้วก็เก็บจักรยาน
บางคนเอาจักรยานใส่ท้ายรถไปร่วมกิจกรรม เสร็จก็ใส่ท้ายรถกลับบ้าน และหลังจากนั้นก็ลืมจักรยาน จะมาใช้อีกทีก็ตอนยางรั่วและนำมาสูบลม
หรือมีแม่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ลูกชายลงทุนเกือบล้านบาท ไม่ใช่แค่ค่าจักรยาน เพราะค่าจักรยานแค่แสนกว่าบาท แต่อีก 7-8 แสนบาท เป็นค่ารถปิกอัพ ลูกชายถอย 2 อย่างออกมาพร้อมกัน เพื่อเอาจักรยานใส่ปิกอัพไปขี่ที่ถนนสีเขียว แถวสนามบินสุวรรณภูมิ
ผ่านไปแค่ 3-4 สัปดาห์ ตอนนี้ ลูกชายเขา เบื่อแล้ว และก็จอดจักรยานไว้เฉยๆ...
ในเวทีเสวนาพิเศษ การประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 7 "เดินหน้าสมานฉันท์ ร่วมกันปฏิรูป สังคมสุขภาวะ" ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ที่เพิ่งจบไปเมื่อเร็วๆ นี้ นำคนรักการปั่นจักรยาน "Bike Idol จักรยานบันดาลใจ" มาถ่ายทอดประสบการณ์จากหลากหลายพื้นที่
"น่าน" จังหวัดเล็กๆ พื้นที่เมืองเก่าช่วงวันหยุดยาวรถแน่นขนัดรถแทบไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ คนในเมืองนี้จะเห็นรถราจอดติดเต็มไปหมด หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป น่านที่ถูกวางไว้เป็นจังหวัดดาวรุ่ง 12 จังหวัด อาจกลายเป็นดาวร่วงก็ได้ในไม่ช้า
"สุรพล เธียรสูตร" นายกเทศมนตรีเมืองน่าน ระบุถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่หลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ ปัญหาก็คือ ที่กิน ที่จอดรถ ที่พัก ไม่เพียงพอรองรับนักท่องเที่ยว เขาจึงมีความคิดจะทำอย่างไร เปลี่ยนเทรนด์ในการท่องเที่ยว ถ้าจะมาเที่ยวน่านไม่จำเป็นต้องขับรถมา ให้นั่งเครื่องบินมาแทน
เมืองน่าน นอกจากหาที่จอดรถยากแล้ว การหันมาใช้จักรยานจะเป็นทางเลือกทีดีกว่าหรือไม่ สิ่งสำคัญที่สุด เขาเห็นว่า เวลาใช้จักรยาน ปัจจัยเอื้อคืออะไร ทำไมถึงต้องใช้จักรยาน ทำอย่างไรให้จักรยานมีความปลอดภัย และเป็นบุคคลชั้น 1 รถอย่างอื่นต้องเป็นบุคคลชั้น 2 ในพื้นที่นี้
สดๆ ร้อน ๆ นายกเล็กเมืองน่าน เล่าว่า "เกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากการขี่จักรยานที่เมืองน่าน ปัญหาคือ ถนนแคบ เป็นถนนเมืองเก่า ทีนี้ถนนแคบนั้นเราจะแก้อย่างไร ก็กำลังคุยกับจราจรว่า เดินรถทางเดียวได้หรือไม่ ถ้าเดินทางเดียวได้ไม่ต้องสวนกัน ไฟแดงก็ไม่มีต้องมี ทางจักรยานมีได้แน่ๆ 1 ทาง ที่จอดรถมีแน่ๆ 1 เส้น ซึ่งมีความปลอดภัยกว่า"
แต่การตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเช่นนี้ เขาเห็นว่า ผู้ได้รับผลกระทบ คนที่เคยจอดรถบริเวณนั้นจะยอมหรือไม่ เพราะเขาเคยได้รับความสะดวกสบาย จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็น แต่ก่อนที่จะรับฟังความคิดเห็นก็จะต้องใช้กระบวนการที่จะต้องเอางานทางวิชาการเข้ามาเสริมให้ความรู้ความเข้าใจด้วย
"ขณะนี้กำลังยื่นหนังสือถึงสมาคมวิศวกรแห่งประเทศไทย เชิญกรมทางหลวง และเครือข่ายความปลอดภัยทางถนน โดยบอกว่า ให้มาช่วยดูเมืองน่านให้หน่อยว่า ควรจะออกแบบอย่างไร อย่างน้อยๆมีวิทยาการไปพูดจะได้ไม่โดนด่า เอาอะไรมาคิด"
นายกเล็กเมืองน่าน ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เหมือนถนนสีแดงที่ อปท.ไปทำที่เมืองน่านแล้วโดนด่ากันทั้งเมือง สุดท้ายก็โดนด่าว่า เพราะนายกฯ ไปยกถนนให้เขาทำ
"ผมก็บอกว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่า เขาจะเอาแบบนี้ เพราะเขาบอกว่ามาขอพื้นที่ทำให้เขตเมืองเก่าให้เป็นถนนสีที่แตกต่างกัน แต่พอทำไปแล้วปรากฎว่า ถนนลื่นขึ้น เพราะเอาสีไปทา แล้ววิธีทำเทคโนโลยีอะไรของเขาก็ไม่รู้ ทำคนสงสัยกันทั้งเมือง เสร็จก็มีป้ายมาบอกว่า 15-16 ล้านบาท แพงมาก จนสุดท้ายกระแสของคนน่าน ปกป้องอัตลักษณ์ คือไม่เอา แต่ผมบอกสีผมรับได้ แต่ลื่นผมไม่รับ เพราะอยากให้น่านเป็นชุมชนปลอดภัยระดับโลก ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่าเป็นชุมชนปลอดภัยระดับโลก ซึ่งจะมีการประชุมปีหน้า"
ส่วนโอกาสที่เมืองน่าน จะเป็นเมืองจักรยานเหมือนต่างประเทศได้หรือไม่นั้น สุรพล ชี้ว่าโอกาสมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับปัจจัยเอื้อ อยู่ที่คน และต้องมีกฎหมายมาคุ้มครองคนขี่จักรยานอย่างแท้จริง เพราะคนขี่จักรยานอ่อนแอกว่ารถทุกชนิด ดังนั้นต้องมีบทลงโทษให้มากกว่า
"ทำอย่างไรให้ทุกคนให้ตื่นรู้ การใช้จักรยานนอกจากจอดง่ายไม่ต้องหาที่จอดให้ลำบาก คนขี่จักรยานต้องรู้สึกเท่ห์ รู้สึกดี ขี่ไปไหนมาไหนมีคนยกนิ้วให้"
ขณะที่ "สุรพงษ์ ใจเมือง" ประธานเครือข่ายผู้ใช้จักรยานขอนแก่น ที่ใช้รถยนต์มาแล้วทุกประเภท ทั้งรถมอเตอร์ไซด์ รถบิ๊กไบค์ รถคลาสสิค มองปรากฎการณ์ ที่คนกรุงเทพฯ ขี่จักรยานที่ถนนสีเขียวแถวสนามบินสุวรรณภูมิ นี่คือกระแส แต่เราจะทำอย่างไรไม่ให้การปั่นจักรยาน เป็นแค่กระแสชั่วครั้งชั่วคราว
พร้อมถอดประสบการณ์ย้อนไปเมื่อปี 2551 ที่เขามีแนวคิดจัดกิจกรรมจักรยานในจังหวัดขอนแก่น เริ่มจากในตัวเมือง ซึ่งมีกลุ่มจักรยานอยู่ประมาณ 20 กลุ่ม และส่วนของเขตอำเภอ จากนั้นเริ่มหาข้อมูลว่า กลุ่มแต่ละกลุ่มอยู่ที่ไหนบ้าง มีใครเป็นหัวหน้ากลุ่ม เป็นประธานแล้วก็มาพูดคุยกันว่า เราน่าจะทำกิจกรรมดีๆ ร่วมกัน และส่งเสริมให้มีการใช้จักรยานในหลายๆรูปแบบ
"การรวมกลุ่มจักรยานเป็นเรื่องยาก ถ้าไม่มีความตั้งใจ เพราะความต้องการของแต่ละกลุ่มนั้นต่างกัน แต่ละกลุ่มขี่จักรยานไม่เหมือนกัน บางคนก็ขี่จักรยานเสือหมอบ เสือภูเขา จักรยานคลาสสิค หรือจักรยานธรรมดา เราก็ต้องเอาแนวคิดเหล่านี้มารวมกันแล้วก็มารวมกลุ่มเครือข่าย ในปี 2551 ก็ได้จับกลุ่มเครือข่ายเหล่านั้นมารวมกัน นำเสนอปัญหา อุปสรรคและความต้องการส่งหน่วยงานที่รับผิดชอบ" สุรพงษ์ เล่าถึงที่มาการตั้งชื่อกลุ่มเครือข่ายชมรมจักรยานจังหวัดขอนแก่น ที่เกิดขึ้นมาเกือบ 6 ปีแล้ว
ด้านพระครูวิจารณ์ธรรมโสภิต เจ้าอาวาสวัดดงกลาง จังหวัดพิจิตร ในฐานะบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน "ชุมชนจักรยานดงกลาง" ตามวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นแบบชุมชนเกษตรกรรม ชาวบ้านใช้จักรยานในทุกๆ วันอยู่แล้ว
"การขี่จักรยานที่แท้จริงก็ต้องสอนและอธิบายให้เกิดเป็นความเข้าใจลึกๆ ส่งเสริมให้กับญาติโยมที่ยังไม่เข้าใจว่า การขี่จักรยานนั้นเป็นสิ่งเล็กๆ ที่สามารถจุดประกายขึ้นมาได้นับหลายๆร้อยล้าน ถ้ารวมกันทั้งประเทศไทย ถ้าคิดว่า ค่าใช้จ่ายในครอบครัววันหนึ่งกี่บาท แล้วถ้าเราใช้จักรยานจะลดค่าใช้จ่ายในแต่ละวันได้ไปตั้งเท่าไหร่ แถมยังมีประโยชน์อีกมาก เช่น ประหยัด ลดโลกร้อน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อาตมาจึงนำแนวคิดเหล่านี้มาใช้ในชุมชน เมื่อทุกคนเข้าใจจึงหยิบจักรยานเก่าๆขึ้นมาซ่อม มาปรับปรุง เกิดความตื่นตัว ไม่ต้องเป็นจักรยานที่หรูหรา จากนั้นจัดกิจกรรม ชาวบ้านก็ทำกันอย่างสนุกสนาน และยังเป็นสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว คนชุมชนอีกด้วย ทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดีอาตมาก็ภูมิใจ"
ที่มาภาพ:http://www.thaihealth.or.th
สำหรับผู้บุกเบิกโครงการจราจรสีเขียว พ.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ ชูนาค รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ประจวบคีรีขันธ์ มองว่า การปั่นจักรยานต้องเริ่มจากตัวเราก่อน การปั่นจักรยานนั้นก็ต้องศึกษาหลายอย่างอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่ขึ้นคล่อมจักรยานแล้วปั่นไปเลย แต่ต้องศึกษาเส้นทางก่อน รวมทั้งจักรยานทุกคันต้องสภาพมั่นคงแข็งแรง มีอุปกรณ์ต่างๆ ครบถ้วน และก็ต้องปั่นไปในเส้นที่กำหนดให้ ทั้งนี้ก็ต้องหันกลับมามองภาครัฐสนับสนุนเส้นทางจักรยานมากน้อยแค่ไหนด้วย
"ผมทำจราจรสีเขียว พบว่า มี 2 มิติ มิติการขับขี่หรือการใช้รถ ใช้ถนนต่างๆ อีกมิติหนึ่งคือ มิติสิ่งแวดล้อมที่มีสีเขียว ก็มาโดนกับการใช้จักรยาน เพราะเกิดประชาชนหันมาใช้จักรยานจะทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ลดมลพิษ มลภาวะ ช่วยลดโลกร้อนได้ และยังได้สุขถชภาพที่แข็งแรง เพราะฉะนั้นโครงการจราจรสีเขียวเราก็มีขับเคลื่อนว่าให้ทุกชมรมที่มีอยู่ตั้งแต่หัวหินไปถึงบางสะพานน้อย มารวมกันใช้จักรยาน อันนี้ใช้เพื่อการขับขี่ แต่เหตุที่จะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันก็อาจจะมีปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะการปลูกจิตสำนึกของคนขับรถ ให้รู้สึกเป็นมิตรกับคนขี่จักรยาน"
สุดท้าย ฮีโร่ นักปั่นจักยานเหรียญทองเอเชียนเกมส์ "น้องบีซ-จุฑาธิป มณีพันธุ์" บอกว่า กีฬาขี่จักรยานมีอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เหมือนกีฬาชนิดอื่น เช่น ฟุตบอลหรือบาสเก็ตบอล ที่มีแค่สนามสี่เหลี่ยม แต่การขี่จักรยานเห็นวิวทิวทัศน์ พบสนามที่ไม่จำเจ จึงเป็นกีฬาที่มีอะไรใหม่ๆเข้ามาเสมอ ทำให้เราไม่เบื่อ
"จริงๆแล้ว จักรยานคือชีวิต ไปไหนมาไหนก็ต้องใช้จักรยาน ถ้าไปต่างจังหวัดก็ต้องเอาจักรยานไปด้วย ไม่ต้องเปลืองค่าใช้จ่าย" นักปั่นน่องเหล็กดีกรีเหรียญทองเอเชียนเกมส์ กล่าวทิ้งท้าย