คุก 10 ปี อดีตผกก.ตำรวจม้า ยักยอกเพชรซาอุฯ
ศาลฎีกาพิพากษายืนให้จำคุก 10 ปี อดีตผกก.ตำรวจม้า ลูกน้อง “พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ” แอบยักยอกทรัพย์สิน-เงินสด ของกลางคดีอาถรรพ์เพชรซาอุฯ ชี้พยานต่างเบิกความตรงกัน เชื่อจำเลยกระทำผิดจริง
เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีหมายเลขดำ 4903/2536 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 2 เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ , พ.ต.อ.ประเสริฐ จันทราพิพัฒน์ ผู้กำกับการตำรวจม้า กองบังคับการตำรวจสายตรวจ (ยศขณะนั้น), พ.ต.ต.ธานี สีดอกบวบ สารวัตร กก.กาฬสินธุ์ (หลบหนีการดำเนินคดี) , ร.ต.อ.ฤทธิศาสตร์ แก้วเดช รองสว.สส. สภ.อ.บ้านตาก จ.ตาก, ด.ต.เท่ง ติ๊บปะละวงศ์ ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน จ.ลำปาง , จ.ส.ต.สนิท กาวิชา ผบ.หมู่ สภ.อ.เถิน, จ.ส.ต.เสวก หรือ ส่วย กันทะมา สังกัด ผ.5 กก.2ป.และ นายสุรจิต หรือ แดงหงอก ชัยศิริ (เสียชีวิตเมื่อปี 2547) เป็นจำเลยที่ 1-8 ตามลำดับ ในความผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ , เป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น , ร่วมกันเบียดบังยักยอกทรัพย์ของผู้อื่นเป็นของตนเองโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 , 149 , 147 และความผิดอื่นๆ อีกหลายข้อหา
คดีนี้โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2536 สรุปว่า พวกจำเลยซึ่งเป็นคณะพนักงานสอบสวนสืบหาเครื่องเพชรมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ของเจ้าชายไฟซาล ประเทศซาอุดีอาระเบีย ซึ่งถูกนายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยขโมยมาจากพระราชวังก่อนกลับประเทศไทยและนำมาขายให้กับนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร “สันติมณี” ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีรับของโจร โดยระหว่างสืบสวนสอบสวนคดีพวกจำเลยทั้งหมดได้เรียกรับเงินจากนายสันติ ผู้ต้องหาหลายครั้งจำนวน 3 ล้านบาท , จำนวน 6.6 แสนบาท และจำนวน 1.2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการไม่ดำเนินคดีผู้ต้องหาในคดีรับของโจร และยังได้ร่วมกันยักยอกเพชรและทรัพย์สินของกลางหลายรายการ เช่น นาฬิกาข้อมือฝังเพชรยี่ห้อโชปาร์ด ,นาฬิกายี่ห้อบูเช่กิรอด ,อัญมณีแดงรูปดอกลำดวน 5 แฉก สร้อยเพชร สร้อยคอทองคำฝังเพชร จี้เพชร ต่างหู และอื่น ๆ ไปโดยมิชอบไม่นำส่งคืนให้กับพนักงานสอบสวน ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีจำเลยทั้งหมดแถลงให้การปฏิเสธต่อสู้คดี
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2549 โดยพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.149 จำคุก 2 กระทงๆ ละ 10 ปี รวมจำคุกเป็นเวลา 20 ปี จำเลยที่ 4 มีความผิดตาม ม.147 จำคุก 7 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนและคำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษเห็นควรลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกไว้เป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2, 5, 6, 7 เนื่องจากพยานโจทก์ยังไม่เพียงพอ และให้คืนทรัพย์สินของกลาง 9รายการและเงินจำนวน 200,000 บาท แก่ผู้มีสิทธิ์ ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์
ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2555 โดยพิพากษายืนจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี และพิพากษาแก้ในส่วนของจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.147 ลงโทษจำคุกเป็นเวลา 10 ปี ส่วนจำเลยที่ 5, 6 และ 7 มีความผิดตาม ป.อาญา ม.149 ประกอบ ม.83 ลงโทษจำคุกเป็นเวลาคนละ 7 ปี แต่จำเลยที่ 5 และ 6 นำเงินของกลางจำนวน 2 แสนบาทมาคืน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุกเป็นเวลา 4 ปี 8 เดือน นอกเหนือจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 1 , 4-7 ไม่ยื่นฎีกาคดีจึงยุติในชั้นอุทธรณ์ โดยระหว่างฎีกาจำเลยที่ 2 คงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังยักยอกทรัพย์จากผู้ต้องหาซึ่งรับซื้อทรัพย์สินที่ถูกลักมาจากพระราชวังประเทศซาอุดิอาระเบีย รวมจำนวน 6.6 แสนบาท เป็นของตนจริงหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดได้ขโมยทรัพย์สินมาจากพระราชวังซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นเพชร เครื่องประดับ อัญมณีและอื่นๆ น้ำหนักรวมประมาณ 30 กิโลกรัม รวมมูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ก่อนเดินทางกลับประเทศไทย จากนั้นทางการซาอุดิอาระเบียทราบข่าวจึงได้ประสานมายังทางการไทยเพื่อให้ติดตามจับกุมตัวนายเกรียงไกร โดยมีการตั้ง พล.ต.ท.ชลอ จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าชุดสืบสวนในการติดตามจับกุมคนร้าย โดยมีจำเลยที่ 2-4 อยู่ในชุดสืบสวนด้วย เมื่อนายเกรียงไกรทราบว่ามีการตั้งชุดสืบสวนติดตามจับกุมจึงได้หลบหนีและนำทรัพย์สินไปฝากไว้กับญาติและขายให้กับผู้ต้องหารายอื่นๆ และนำไปมอบให้กับ พล.ต.ท.ชะลอ จำเลยที่ 1 บางส่วน นอกจากนี้ชุดสืบสวนก็ติดตามยึดทรัพย์สินคืนมาได้บางส่วนแต่ไม่นำส่งพนักงานสอบสวน ซึ่งต่อมานายเกรียงไกร ถูกจับกุมได้ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก จนกระทั่งถูกศาลพิพากษาจำคุกจนคดีถึงที่สิ้นสุด
ส่วนที่จำเลยที่2 ฎีกาคัดค้านว่าพยานโจทก์ไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินไป และพยานจำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้เดินทางไปยังบ้านพักของนายนิคม เตชะโม่ง ญาติของนายเกรียงไกร เพื่อเรียกรับทรัพย์สินด้วยหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้คำให้การของพยานโจทก์จะให้การขัดแย้งกันบ้าง แต่จำเลยที่ 2 ก็มิได้ยืนยันว่าไม่ได้เดินทางไปยังบ้านของนายนิคม แต่จำเลยที่ 2 กลับยอมรับว่าได้เดินทางไปยังบ้านหลังดังกล่าวจริง เพียงแต่บ่ายเบี่ยงว่าไม่ได้เข้าไปในบ้านพักโดยรออยู่ในรถด้านนอกก่อนจะเดินทางกลับ ศาลฎีกาได้ตรวจดูบันทึกคำให้การของพยานในชั้นสอบสวนของศาลจังหวัดเชียงใหม่และศาลจังหวัดตากแล้วเห็นว่า การสอบสวนพยานทั้ง 4 ปากซึ่งเป็นกลุ่มผู้ต้องหา เป็นไปด้วยความรอบคอบรัดกุม ไม่ชักนำหว่านล้อมเพื่อให้พยานให้การผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง ซึ่งในการสอบสวนดังกล่าวมีทั้งข้าราชการฝ่ายกระทรวงมหาดไทยและเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ นำโดย พล.ต.ท.ธนู หอมหวล พร้อมคณะ ร่วมทำการสอบสวนด้วย และมีการสอบสวนถึง 5 ครั้ง มีการทำบันทึกถ้อยคำอย่างละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งพยานต่างเบิกความสอดคล้องตรงกันไปตามที่รู้เห็น มิได้บิดเบือนข้อเท็จจริง ซึ่งหากพยานทั้ง 4 ปาก ไม่ได้สมัครใจในการเข้าให้ถ้อยคำ ก็เป็นการยากที่พนักงานสอบสวนจะปรุงแต่งเรื่องขึ้นมาเอง เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนและมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก
ถึงแม้พยานโจทก์จะไม่ได้ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เอาเงินจำนวน 6.6 แสนไปหรือไม่ แต่ก็รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เดินทางไปบ้านของผู้ต้องหาจริง โดยศาลฎีกามีอำนาจรับฟังจากพยาน 4 ปากในชั้นสอบสวนและสืบเสาะข้อเท็จจริงได้ โดยมิต้องถือถ้อยคำตามพยานโจทก์ ซึ่งพยานทั้ง 4 ปากต่างยืนยันตรงว่าจำเลยที่ 2 ได้รับเงินจากนายนิคม ซึ่งไปฝากไว้กับพันจ่าอากาศเอกคนหนึ่ง จำนวน 6.6 แสนบาทจริง โดยไม่ส่งมอบให้กับพนักงานสอบสวน แต่กลับเบียดบังทรัพย์สินไปเป็นของตนโดยทุจริต จึงมีความผิดตาม ป.อาญา ม.147 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนให้จำคุก 10 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ในศาลชั้นต้นใช้เวลาสืบโจทก์-จำเลยนานกว่า 13 ปี เนื่องจากเอกสารในคดีมีจำนวนมาก และต้องส่งประเด็นไปสืบตามศาลจังหวัดต่างๆ รวมทั้งการติดตามพยานในศาลอุทธรณ์อีก 6 ปี รวมเป็นเวลากว่า 19 ปี โดยคดีนี้เป็นคดีแรกที่ยื่นฟ้องพล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในสำนวนคดีเพชรซาอุฯ กระทั่งต่อมามีการยื่นฟ้อง พล.ต.ท.ชลอ กับพวก ในคดีอุ้มฆ่านางดาราวดี และ ด.ช.เสรี ภรรยาและบุตรชายของนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชร“สันติมณี” ที่รับซื้อเพชรมาจาก นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ที่เป็นผู้ขโมยเพชรมาจากวังเจ้าชายไฟซาล ซึ่งคดีอุ้มฆ่า 2แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์โดยนำศพทั้งสองไปไว้บนรถแล้วให้รถสิบล้อวิ่งทับอำพรางเป็นอุบัติเหตุนั้น คดีถึงที่สุดแล้วโดยศาลฎีกาพิพากษาให้ประหารชีวิต พล.ต.ท.ชลอ ส่วน นายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุกในความผิดฐานรับของโจร เป็นเวลา 3 ปี คดีสิ้นสุดแล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม พล.ต.ท.ชลอ ได้ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำเมื่อวันที่ 25 ต.ค.2556 หลังถูกจำคุกมาแล้วนานกว่า 19 ปี ซึ่งก่อนหน้านี้ทางเรือนจำกลางบางขวางได้เสนอขอพักการลงโทษให้กับ พล.ต.ท.ชลอ เนื่องจากเป็นผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติเข้าเงื่อนไขพักการลงโทษ หลังจากการรับโทษจำคุกมาแล้วเกิน 2 ใน 3และยังเป็นผู้ต้องขังที่จัดอยู่ในกลุ่มนักโทษชรา มีอายุเกิน 70 ปี รวมทั้งมีอาการป่วยเรื้อรัง แต่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของเรือนจำ โดยไปรายงานตัวเจ้าพนักงานคุมประพฤติทุกเดือน ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.ชลอ ยังถูกถอดยศตำรวจและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2553 เนื่องจากต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษประหารชีวิตในคดีอุ้มฆ่าสองแม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ โดยปัจจุบัน พล.ต.ท ชลอ อายุ 72 ปี และได้เปลี่ยนชื่อเป็น"ธัชพล เกิดเทศ"แล้ว
ขอบคุณข่าวจาก