นายกฯชี้สัปดาห์หน้าติดเครื่องสมัชชาปฏิรูป– แก้ต่างงบรายจ่ายประจำเพื่อสวัสดิการรากหญ้า
กรุงเทพฯคืนสู่ปกติหลังเลิกเคอร์ฟิวส์ นายกฯแจงมาตรการช่วยผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการ คนตกงานในและนอกระบบ แก้ ต่างงบรายจ่ายประจำ 80% ที่โดนวิจารณ์ไม่เกิดประโยชน์เน้นสวัสดิการแก้ความเหลื่อมล้ำ วอนอภิปรายไม่ไว้วางใจ 31 พ.ค.-1 มิ.ย.ไม่ซ้ำเติมให้แตกแยก สัปดาห์หน้า เดินเครื่องแผนปรองดองและเวทีสมัชชาปฏิรูปประเทศที่ชะงักไป ย้ำขณะนี้เป็นรูปเป็นร่าง ชวนทุกภาคส่วนดึงใจคนไทยกลับมาสมานฉันท์
เช้าวันที่ 30 พฤษภาคม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว ในรายการ"เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ว่าหลังจากยกเลิกเคอร์ฟิวมื่อคืนเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ยังคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในกรุงเทพฯและหลายจังหวัดไว้จนกว่าจะมีการประเมินความเหมาะสม ต่อไป และยังกล่าวว่าสัปดาห์ที่ผ่านมาสภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554 วาระที่ 1 ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรไว้ 2,700,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณขาดดุล 400,000 ล้านบาท เพื่อให้หนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ และเป็นการนำเอาการเงินการคลังของประเทศกลับสู่ระบบงบประมาณปกติ เพราะ 3 เดือนแรกของปีเศรษฐกิจเติบโตดีถึง 12% และคาด เม.ย.-มิ.ย.ยังโตได้ 3.5-4.5% จึงไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างปีที่แล้วที่ เดิมวางไว้อีก 400,000 ล้านบาท แต่การลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งไม่ว่าจะเป็นถนน แหล่งน้ำ โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ ยังคงเดินหน้าต่อไปโดยใช้งบประมาณปกติ ทั้งนี้ปีนี้มีสัดส่วนการลงทุนรวมถึงร้อยละ 16 ของงบประมาณ
นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึงเสียงวิจารณ์ว่ารายจ่ายประจำซึ่งสูงถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณนั้นก่อประโยชน์หรือไม่ ว่ารายจ่ายส่วนนี้ไม่ได้มีเฉพาะเงินเดือนหรือการบริหารราชการ แต่รวมถึงรายจ่ายสำคัญตามนโยบายที่มุ่งสร้างสวัสดิการประชาชน เช่น การเรียนฟรี 15 ปี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุกว่า 5 ล้านคน เบี้ยคนพิการ 8 แสนคน การเพิ่มงบรายหัวในโครงการรักษาพยาบาลฟรี การประกันรายได้เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง โดยเฉพาะข้าวที่จะมีการประกันรายได้ 2 รอบ
“งบประมาณทั้งหมดนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นำโครงสร้างการเงินการคลังของประเทศกลับสู่ภาวะปกติ ให้ความสำคัญกับสวัสดิการประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น”
สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุม นายกฯกล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์พระราชทานความ ช่วยเหลือชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลก็ใช้เกณฑ์เหตุการณ์ 7 ต.ค.51 ดูแลผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ และมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรุงเทพมหานคร ดูแลพื้นที่ได้รับผลกระทบทั้งการฟื้นฟูสาธารณูปโภคและจิตใจ และตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ตกงาน โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวะสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เช่น กิจการใดประกอบกิจการไม่ได้แต่ไม่เลิกจ้าง รัฐบาลจะช่วยค่าจ้าง ช่วยเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ให้เก็บค่าเช่าผู้ประกอบการรายย่อย คน ตกงานที่มีสิทธิประกันสังคมรัฐบาลจะให้อีก 7,500 บาท ผู้ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมก็จ่ายให้เท่ากัน ส่วนกลุ่มที่ได้รับผล กระทบจากเพลิงไหม้ 19 พ.ค.ให้มาขึ้นทะเบียนภายใน 31 พ.ค. เบื้องต้นช่วยเหลือ 5 หมื่นบาท และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธนาคารเอสเอ็มอี) ให้กู้ 300,000 บาทปลอดดอกเบี้ยปีแรก และเพิ่มวงเงินอีก 700,000 บาทดอกไม่เกินร้อยละ 3 รวมทั้งเตรียมสถานที่ชั่วคราวให้ค้าขายโดยไม่คิดค่าเช่า เบื้องต้นได้ปิดถนนสีลมให้ขายของ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจของสภาผู้ แทนราษฎรในวันที่ 31 พ.ค.-1 มิ.ย. นี้ ว่าเป็นกระบวนการประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ซึ่งหวังว่าจะมีการใช้ข้อเท็จจริงและเหตุผลอย่างระมัดระหวังเพื่อไม่ให้เป็น เวทีสร้างความแตกแยก และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลไกรัฐ ภาคเอกชน เข้ามาร่วมแผนปรองดองซึ่งไม่เพียงในประเด็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทาง สังคมเศรษฐกิจ แต่รวมถึงการสร้างความเข้าใจและรวมใจให้คนไทยกลับมาสมานฉันท์
“ส่วนแผนปรองดองจะเดินหน้าเต็มที่ สัปดาห์หน้าจะเร่งรัดแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระทั้งที่เข้ามาดูแลเหตุการณ์ที่ เกิดขึ้น ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปมปัญหาการเมือง การจัดทำสมัชชารับฟังความคิดเห็นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำหรือปฏิรูปประเทศซึ่ง ขณะนี้เป็นรูเป็นร่างแล้ว มีการให้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย”.