จับพิรุธคำชี้แจงทหารปม "ผช.ผบ.ทบ" เยือนเชียงราย เรียบง่ายไม่พิธีรีตองจริงหรือ?
"...ไม่ว่าจะเป็นการเชิญ บอกกล่าว เกณฑ์ หรือ สั่งการ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในการเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ของ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และคณะ ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2557 มีการทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในสังกัด ไปร่วมรับ-ส่ง ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายจริง ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้พิพากษา ที่มีกฎระเบียบเข้มงวดในการเข้าสังคม ที่ต้องไม่แสดงออกถึงการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง.."
"การปฏิบัติของหน่วยในพื้นที่ที่มักจะมีการแจ้งบอกกล่าวหน่วยราชการที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในฐานะที่เป็นเพื่อนข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่ เมื่อมีเพื่อนข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชาต่างถิ่นไปเยี่ยมเยือน เพื่อให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์ทักทายกัน และในบางพื้นที่อาจถือเป็นธรรมเนียมมารยาทที่สมควรไปต้อนรับผู้มาจากต่างถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่การเชิญบอกกล่าวกัน ก็ให้เป็นไปตามความสะดวกของแต่ละบุคคล ไม่ใช่การเกณฑ์ หรือการสั่งบังคับอย่างแน่นอน"
(ที่มาข่าวจาก http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=587773)
นี่คือคำยืนยันของ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อกรณี พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการที่ จ.เชียงราย และปรากฎว่าหน่วยงานทหารในพื้นที่ได้ทำหนังสือแจ้งให้หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการทั้งจังหวัดไปรับ-ส่ง ที่สนามบิน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้พิพากษา
พ.อ.วินธัย ยังกล่าวย้ำด้วยว่า "ไม่ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานใดมาต้อนรับและโดยส่วนตัวแล้วผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ท่านมีนิสัยเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตองที่เอิกเกริก"
ไม่ว่าคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย จะมีข้อเท็จจริง และน้ำหนัก เพียงพอให้คนในสังคมเชื่อว่า การเดินทางไปเยือนเชียงราย ของ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก "ไม่ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานใดมาต้อนรับ" รวมถึง "โดยส่วนตัวแล้วผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ท่านมีนิสัยเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตองที่เอิกเกริก" ได้หรือไม่
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอให้สาธารณชน ได้ลองพิจารณาข้อความที่ปรากฎไว้ในหนังสือต้นเรื่อง ที่ พันเอกสุปัญญา วิไลรัตน์ นายทหารปฏิบัติการประจำมณฑลทหารบกที่ 33 รักษาราชการแทนรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย ทำการแทนผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย ได้ทำหนังสือแจ้งหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการในจังหวัดเชียงราย ร่วม รับ-ส่ง พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกและคณะ ที่จะเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2557 อย่างละเอียดอีกครั้ง
(เนื้อหาในหนังสือ)
เรื่อง ขอเรียนเชิญ ร่วม รับ-ส่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
เรียน ผู้พิพากษาหวัหน้าศาลจังหวัด เชียงราย
ด้วย พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และคณะจะเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ในห้วงวันที่ 23-24 ธันวาคม 2557
จังหวัดทหารบกเชียงราย จึงขอเรียนเชิญท่าน, หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการในสังกัดร่วมรับ -ส่ง ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ดังนี้
1. กำหนดการรับ วันอังคารที่ 23 ธันวาคม 2557 เวลา 13.30 น.
2. กำหนดการส่ง วันพุธที่ 24 ธันวาคม 2557 เวลา 13.00 น.
การแต่งกาย เครื่องแบบตามสังกัด
หากพิจารณารายละเอียดเนื้อความในหนังสือฉบับนี้ เทียบเคียง กับคำชี้แจงของ พ.อ.วินธัย ที่ระบุไว้ข้างต้น จะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจดังนี้
ประการที่หนึ่ง
พ.อ.วินธัย กล่าวยืนยันว่า "ไม่ได้มีการสั่งการให้หน่วยงานใดมาต้อนรับและโดยส่วนตัวแล้วผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ท่านมีนิสัยเรียบง่าย ไม่ชอบพิธีรีตองที่เอิกเกริก"
แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฎ คือ ฝ่ายทหาร ออกหนังสือแจ้งให้หัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการ มาร่วมกันรับ-ส่ง โดยกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน
พร้อมระบุให้ การแต่งกาย เครื่องแบบตามสังกัด ด้วย
ค่อนข้างจะสวนทางกับคำชี้แจง ของ พ.อ.วินธัย โดยเฉพาะนิสัยของ พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่บอกว่าเรียบง่าย และไม่ชอบพิธีรีตองที่เอิกเกริก
ประการที่สอง
ไม่ว่าจะเป็นการเชิญ บอกกล่าว เกณฑ์ หรือ สั่งการ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในการเดินทางมาปฏิบัติราชการในพื้นที่ จังหวัดเชียงราย ของ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และคณะ ระหว่างวันที่ 23-24 ธันวาคม 2557 ฝ่ายทหารมีการทำหนังสือแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ หัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในสังกัด ไปร่วมรับ-ส่ง ณ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงรายจริง
ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้พิพากษา ที่มีกฎระเบียบเข้มงวดในการเข้าสังคม มีความเป็นกลางและเป็นอิสระ ทั้งต้องไม่เข้าร่วมกิจการใดๆ อันจะกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือเกียรติศักดิ์ของผู้พิพากษา ตามประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ
(อ่านประกอบ : ปธ.ศาลฎีกาย้ำจุดยืนผู้พิพากษาเป็นกลาง-อิสระ หลังถูกดึงนั่งกุนซือ"รมต.-สนช.")
ประการที่สาม
"การปฏิบัติของหน่วยในพื้นที่ที่มักจะมีการแจ้งบอกกล่าวหน่วยราชการที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ ในฐานะที่เป็นเพื่อนข้าราชการที่อยู่ในพื้นที่ เมื่อมีเพื่อนข้าราชการระดับผู้บังคับบัญชาต่างถิ่นไปเยี่ยมเยือน เพื่อให้ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์ทักทายกัน และในบางพื้นที่อาจถือเป็นธรรมเนียมมารยาทที่สมควรไปต้อนรับผู้มาจากต่างถิ่น"
กรณีหากพิจารณารายละเอียดในหนังสือ จะพบข้อเท็จจริง 2 ประการ คือ
1. หนังสือฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยฝ่ายทหาร แจ้งเวียนไปยังหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการในสังกัด การดำเนินการลักษณะนี้ คือ ธรรมเนียม มารยาท ที่ฝ่ายทหารใช้กันเป็นปกติ?
2. ในหนังสือระบุเงื่อนไขเวลาในการรับ-ส่ง และสถานที่ชัดเจน คือ ที่สนามบิน ซึ่งมีระยะเวลาในการพบปะกันสั้นๆ ไม่มีการแจ้งกำหนดการรับประทานอาหารร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น การปฏิบัติราชการ ของหน่วยงานราชการในพื้นที่แม้แต่น้อย
คำถาม คือ การเดินทางไปรับ-ส่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่สนามบิน มีโอกาสพบปะพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์ทักทายกับข้าราชการทั้งจังหวัด ครบถ้วนทุกรายจริงหรือ? หรือแค่ให้ไปยืนตั้งแถวรอต้อนรับ จับมือและส่งมอบรอยยิ้มให้ก็พอ?
ประการที่สี่
หลังจากที่หนังสือแจ้งเชิญชวนหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ ไปร่วมรับ-ส่ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ที่สนามบิน ถูกนำมาเผยแพร่ในโลกออนไลน์
สำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยังมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงราย เพื่อขอคำชี้แจงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
เบื้องต้น ได้รับการยืนยันจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบว่า เตรียมทำเรื่องขอโทษไปยังหัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ รวมถึงผู้พิพากษาในจังหวัดเชียงรายแล้ว เนื่องจากอาจเป็นการเข้าใจผิดกัน และคาดว่าอาจมีประเด็นในการล่วงละเมิดอำนาจหน้าที่กันด้วย
(อ่านประกอบ : ทหารจ่อขอโทษ“ขรก.-ผู้พิพากษาเชียงราย” หลังถูกเชิญรับ-ส่งผู้ช่วยผบ.ทบ.)
แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายทหารในพื้นที่ ก็รับรู้และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และน้อมรับความผิดพลาด โดยเตรียมทำหนังสือขอโทษออกมาเป็นทางการ
แต่ผ่านไปไม่กี่ชั่วโมง พ.อ.วินธัย โฆษกกองทัพบก ตัวแทนกองทัพบก กลับออกมาชี้แจงกับสื่อมวลชน แบบหนังคนละม้วน เสมือนไม่ได้ทำหน้าที่อยู่ในหน่วยงานเดียวกัน
ด้วยข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดแบบนี้
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ ณ วันนี้ คนในสังคมบางส่วน จะเริ่มตั้งคำถามกับการทำงานของทหารในหลายเรื่อง ว่า มีมาตรฐานที่ "แตกต่าง" และ "ดีเด่น" กว่า "นักการเมือง" ตรงไหน?
ซึ่งขณะนี้ ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ยังมีเวลาพอที่จะตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่ เพื่อความถูกต้องอีกครั้ง
หากพบว่ามีความผิดพลาดเกิดขึ้นจริง และมาจากความไม่ตั้งใจ ก็ควรรีบแก้ไขทำสิ่งที่ผิดพลาดไปให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของทหารโดยตรง ไม่ให้ถูกมองว่า ใหญ่คับเมือง ไปไหนมาไหน ต้องมีขรก.มาคอยต้อนรับทั้งจังหวัด เบียดบังเวลาการทำงานเพื่อรับใช้ประชาชน
เชื่อว่า คนในสังคมก็จะรับรู้และเข้าใจ และให้โอกาสให้อภัยกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น
ยกเว้นแต่ว่า "ผู้นำกองทัพ" มีวิธีคิดแบบนี้เหมือนกันหมด ว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ สามารถทำได้ ไม่ต้องไปแคร์หรือไปสนใจ ความรู้สึกนึกคิดคนในสังคม เพราะมีอำนาจคับประเทศ
ทั้งที่ ประเทศไทย กำลังอยู่ระหว่างการปฏิรูปเพื่อสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม ตามที่ "ท่านผู้นำ" พูดโฆษณาประชาสัมพันธ์อยู่เป็นประจำทุกเย็นวันศุกร์ แบบที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ ?