นักวิชาการชี้สร้างระบบตรวจสอบเข้มข้น ลดช่องโหว่ทุจริตม.นอกระบบ
นักวิชาการเผยอยากให้อุดมศึกษาก้าวหน้าอย่าตีกรอบหลักสูตรเหมือนกันทั้งประเทศ ชี้ความต่างคือความเจริญงอกงาม ย้ำการบริหารที่คล่องตัวต้องมีระบบการตรวจสอบที่เข้มข้น แนะตกผลึกพันธะกิจให้ชัดเจนก่อนร่างกฎหมายควบคุม
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดงานประชุมสัมมนาวิชาการเรื่อง “การพัฒนาระบบกฎหมายของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคม” ณ ห้องกิ่งเพชร โรงแรมเอเชีย กรุงเทพมหานคร โดยภายในงานมีการอภิปรายในหัวข้อ “การพัฒนากฎหมายกับชุมชนอุดมศึกษาเพื่อการรับผิดชอบต่อสังคม”
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า หากเทียบความเป็นอิสระในการบริหารระหว่างมหาวิทยาลัยกับหน่วยงานอื่นๆของรัฐแล้ว มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระมากกว่าเนื่องจากมีพระราชบัญญัติเฉพาะ อำนาจสูงสุดอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย แม้จะมีการกำกับนโยบายบางอย่างจากสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่การจัดการสิ้นสุดของมหาวิทยาลัยจะอยู่ที่สภามหาวิทยาลัย ตรงจุดนี้จึงทำให้ได้เปรียบเรื่องความคล่องตัวในการบริหาร
อย่างไรก็ตามกฎหมายบางอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องการจัดการบริหาร เช่น ระเบียบเงินรายได้มหาวิทยาลัยซึ่งทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนา รศ.ดร.กิตติชัย กล่าวว่า จุดนี้ส่งผลให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งอยากออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ แต่เมื่อออกไปแล้วก็กล้าๆกลัวๆในการบริหาร
“การที่จะออกไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐระบบกฎหมายให้สิทธิในการบริหารอย่างคล่องตัวแล้วก็ต้องมีการตรวจสอบที่เข้มข้นด้วยเช่นกัน หากมีความผิดพลาดผู้มีอำนาจสูงสุดในการบริหารต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นก็จะเหมือนข่าวที่เกิดขึ้นในขณะนี้ที่โกงกันเป็นพันล้าน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐที่สะท้อนให้เกิดคำถามว่า เกิดช่องโหว่นี้ได้อย่างไร เป็นเพราะระบบกำกับติดตามตรวจสอบไม่เข้มข้นใช่หรือไม่จึงสร้างความสูญเสียมหาศาล”
อธิการบดีม.ขอนแก่น กล่าวถึงเรื่องการจัดการเรียนการสอนที่ดูเหมือนจะมีเสรีภาพว่า สามารถเปิดหลักสูตรอะไรก็ได้สุดท้าย สกอ.ก็กำหนดกรอบในการเปิดรายวิชาจนเกิดเป็นปัญหา เช่นกำหนดให้มีวิชาทั่วไป 30 หน่วยกิจ ซึ่งบางวิชาซ้ำซ้อนกับในระดับมัธยมศึกษาและทำให้มหาวิทยาลัยต้องเอาวิชาอาชีพมาเป็นตัวหลอก ทุกวันนี้แต่ละหลักสูตรเรียนกัน 140-150 หน่วยกิจ หากเป็นเช่นนี้เด็กจะเกิดความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร สกอ.จะต้องทบทวนเพราะนี่คือปัญหาหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษา จากระดับมัธยมสู่อุดมศึกษาจะส่งไม้ผลัดกันได้อย่างไร เรียนเท่าที่จำเป็น เรียนในวิชาที่ขาดหาย วันนี้เด็กไทยเป็นเด็กที่ตัดแปะเก่งที่สุดในโลก ตัดแปะแถมอ่านก็ไม่รู้เรื่อง
“ปัญหาโลกแตกอีกอย่างของการปฏิรูประบบการศึกษาคือองค์กรวิชาชีพที่กำกับผู้สำเร็จการศึกษา ดูรายวิชาที่สอนต้องเรียนแบบนี้ๆ ต้องมีคุณสมบัติแบบนี้ แล้วจะมีเสรีภาพในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งสถาบันที่สอนด้านวิศวกรรมศาสตร์ที่เรียนหลักสูตรเดียวกันทั้งประเทศ กรอบลึกเนื้อหาวิชาต้องเหมือนกัน เรียนแบบนี้ประเทศไทยจะเป็นเลิศทางวิชาการได้อย่างไร จะเป็นเลิศทางนวัตกรรมอย่างไร เด็กในศตวรรษที่20 ความคิดเขาทะลุหมดแล้ว หากทำแบบนี้เท่ากับไปครอบกรอบความคิดไม่ให้แสดงออก”
ด้านผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า วันนี้ทุกมหาวิทยาลัยจะเดินหน้าหลักสูตรเหมือนกันทั้งหมดใช่หรือไม่ หรือจะทำต่างกัน มองความเหมือนคือความงดงาม หรือความต่างคือความงดงาม หากมองในความคิดส่วนตัวสำหรับปรัชญาของการศึกษามองว่าการศึกษาคือความเจริญงอกงาม การมีความรู้ความเข้าใจสร้างบัณฑิตที่ปฏิบัติได้และรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นความเจริญงอกงามของอุดมศึกษาต้องไม่ใช่ความเหมือน ต้องมีอิสระในการปกครองตนเอง มีอิสระในการสืบค้นในการแสวงหาความรู้ เผยแพร่ความรู้บนพื้นฐานของคุณธรรมที่เป็นประโยชน์สุขกับคนในสังคม
“ก่อนที่จะร่างกฎหมายใดๆก็ตามเพื่อที่จะให้องค์กรหนึ่งทำหน้าที่ จะต้องสร้างความเข้าใจของพันธะกิจเสียก่อนแล้วจึงค่อยร่างตัวบทกฎหมาย ไม่ใช่นำตัวบทกฎหมายมาเป็นตัวชี้นำว่าจะนำเสนออะไรให้กับสังคมบ้าง”
ผศ.ดร.นิวัต กล่าวด้วยว่าอิสระในการบริหารในอุดมศึกษาที่ต้องยึดหลักการบริหารตัวเองให้ได้นั้น กฎหมายไม่ควรกำกับแต่ควรเป็นการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยมีอิสระในการสืบค้นทางด้านวิชาการ การบริหารด้านการเงิน งบประมาณ ซึ่งเป็นโจทย์ที่แต่ละองค์กรต้องมาร่วมถกกันเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนแล้วจึงค่อยมาร่วมกันร่างกฎหมาย ที่สำคัญต้องเป็นการร่างที่เคารพศรัทธาความเห็นต่างและสำหรับมหาวิทยาลัยที่จะออกไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐจำเป็นต้องมีกฎหมายบังคับให้ผู้บริหารต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดการผิดพลาดในการบริหารอย่าปล่อยให้มีการลอยตัว องค์กรสภาก็อย่าลอยตัวแล้วทิ้งปัญหาไว้
ขณะที่ดร.สุชาติ เมืองแก้ว รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่าจากประสบการณ์ที่เคยทำงานที่สกอ.และอยู่ในแวดวงอุดมศึกษามาหลายสิบปี อีกทั้งปีหน้าก็จะเข้าแข่งขันอาเซียน ประเทศอื่นๆพยายามสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นต่อไปในแง่กฎหมายปรัชญาด้านการศึกษาต้องไม่ใช่แค่การบอกว่าผลิตบัณฑิตไทยเพื่อรับใช้คนไทย แต่ต้องเปลี่ยนเป็นผลิตบัณฑิตไทยที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ปรัชญาของการศึกษาคือการสร้างปัญญาให้กับบัณฑิตดังนั้นต้องไม่ใช่แค่บอกว่าเรียนรู้กฎหมายไทยแต่ไม่รู้กฎหมายในระดับสากล ไม่รู้กฎหมายนานาชาติ และไม่ใช่แค่สร้างบัณฑิตให้พูดภาษาอังกฤษได้ จีนได้แต่ไม่เข้าใจวัฒนธรรม วันนี้จำเป็นที่จะต้องสร้างหลักสูตรให้เข้มข้นและปรับเปลี่ยนปรัชญาในการบริหารและสร้างกฎหมายอะไรออกมาก็ต้องดูบริบทรอบข้างและความสามารถในการแข่งขันด้วย
ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์ su