แอมเนสตี้เผย มีรัฐภาคีสนับสนุนพักการใช้โทษประหารชีวิตจำนวนเพิ่มขึ้น
จำนวนรัฐภาคีสนับสนุนให้พักการใช้โทษประหารชีวิตมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยงดออกเสียงเป็นปีที่สาม และไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันเป็นปีที่ 5
เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UNGA) ซึ่งเป็นโครงสร้างการตัดสินใจหลักขององค์การสหประชาชาติ และมักเรียกว่าเป็น “รัฐสภาโลก” ได้ลงคะแนนเสียงให้มีข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราว ถือว่าเป็นขั้นตอนแรกของเส้นทางในระดับโลกที่นำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยผลโหวตในปีนี้มีจำนวนประเทศมากเป็นประวัติการณ์ที่สนับสนุนมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในเรื่องนี้ พร้อมทั้งร่วมกันกำหนดแนวทางยกเลิกโทษประหารชีวิตระดับโลกด้วย
รัฐภาคี 117 จาก 193 แห่งขององค์การสหประชาชาติ ลงคะแนนเสียงเห็นชอบมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่กรุงนิวยอร์ก โดยมีเสียงคัดค้าน 38 เสียงและงดออกเสียง 34 นับเป็นครั้งที่ห้าที่มีการลงคะแนนในมติดังกล่าวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ โดยการลงคะแนนเสียงครั้งที่ผ่านมาเกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2555 โดยครั้งนั้นมีรัฐที่เห็นชอบ 111 แห่ง คัดค้าน 41 และงดออกเสียง 34
Chiara Sangiorgio ผู้ชำนาญการด้านโทษประหารชีวิต แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่าคะแนนเสียงที่มากเป็นประวัติการณ์ในวันนี้สะท้อนให้เห็นอีกครั้งหนึ่งถึงแรงสนับสนุนระดับโลกเพื่อขจัดโทษประหารชีวิต เป็นคะแนนเสียงที่ส่งสัญญาณอย่างหนักแน่นว่า มีประเทศต่าง ๆ จำนวนมากขึ้นที่พร้อมจะดำเนินการเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิตอย่างสิ้นเชิง
“แรงสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากทั่วทุกภูมิภาคซึ่งเห็นได้จากคะแนนเสียงในครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่าการพักการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเป้าหมายระดับโลกอย่างแท้จริง ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักว่า โทษประหารชีวิตเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน และเปิดพื้นที่ให้มีการอภิปรายครั้งใหม่เกี่ยวกับความพยายามที่จะยกเลิกการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรีมนุษย์”
นับแต่ปี 2550 มีการลงมติห้าครั้งเรียกร้องให้มีข้อตกลงระดับโลกเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และมีแรงสนับสนุนเพิ่มขึ้นทุกครั้ง ในการลงมติครั้งนี้มีอีกหกประเทศที่ออกเสียงสนับสนุน เมื่อเปรียบเทียบกับการลงมติที่คล้ายคลึงกันเมื่อปี 2555
เสียงสนับสนุนเพิ่มเติมมาจากประเทศอิเควทอเรียลกินี เอริเทรีย ไนเจอร์และซูรินาเม นอกจากนั้น ยังมีสัญญาณในเชิงบวกเนื่องจากประเทศบาห์เรน พม่า ตองกา และยูกันดาได้เปลี่ยนจากท่าทีคัดค้านมาเป็นการงดออกเสียง แต่เป็นที่น่าเสียใจที่ปาปัวนิวกินีเปลี่ยนจากการงดออกเสียงมาเป็นการคัดค้านมติดังกล่าว
แม้ว่ามติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติจะไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่มีน้ำหนักทางศีลธรรมและการเมืองที่สำคัญ
“ผลการลงคะแนนเสียงในวันนี้เป็นสัญญาณเตือนสำหรับ 38 ประเทศที่ยังคงลงคะแนนคัดค้านข้อตกลงดังกล่าว พวกเขาเริ่มเป็นประเทศที่โดดเดี่ยวในขณะที่ยังสนับสนุนการลงโทษที่โหดร้าย โทษประหารชีวิตไม่ได้ตอบสนองเป้าหมายที่ชอบธรรมแต่อย่างใด หากเป็นรอยด่างของสถิติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเหล่านั้น” Chiara Sangiorgio กล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลขอกระตุ้นทุกประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต ให้จัดทำข้อตกลงเพื่อยุติการประหารชีวิตโดยทันที โดยให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นโทษอย่างอื่น และให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท
นางสาวปริญญา บุญฤทธิ์ฤทัยกุล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่าสำหรับประเทศไทย เป็นปีที่ห้าติดต่อกันที่ไม่มีการประหารชีวิต ถือเป็นพัฒนาการที่ดีอีกขั้นหนึ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชนของไทย
ในปีนี้ประเทศไทยได้ “งดออกเสียง” เป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าอีกครั้งหนึ่งเมื่อเทียบกับการลงมติ “คัดค้าน” เมื่อปี 2550 และ 2551 สำหรับการลงมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตในครั้งต่อไป เราคาดหวังว่าประเทศไทยจะลงมติ “สนับสนุน” รับมติพักการใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ
เหตุผลที่ทำให้มีเสียงสนับสนุนมติที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะข้อเท็จจริงสะท้อนให้เห็นว่าโลกกำลังถอยห่างออกจากการใช้โทษประหารชีวิต ในปี 2488 ซึ่งมีการก่อตั้งองค์การสหประชาชาติ มีเพียงแปดประเทศที่ยกเลิกกฎหมายให้ประหารชีวิตสำหรับความผิดอาญาใด ๆ แต่ในทุกวันนี้ รัฐภาคีสหประชาชาติ 140 จาก 193 แห่งยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย เมื่อปีที่แล้ว มีรัฐภาคีเพียง 20 แห่งที่ประหารชีวิตบุคคล
“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ดำเนินการตามเจตน์จำนงที่ระบุไว้ในแผนแม่บทสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สามสำหรับปีพ.ศ. 2557-2561 ที่กำหนดรวมถึงการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ด้วย และขอประกาศพักใช้โทษประหารชีวิตชั่วคราวอย่างเป็นทางการ รวมทั้งให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติกา ICCPR ด้วย” ปริญญากล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม