ต้นผ้าป่า ‘ความมั่นคงอาหาร’ สามัคคี สู่พื้นที่เรียนรู้อย่างยั่งยืน
เครือข่ายเอ็นจีโอจัดทอดผ้าป่าระดมทุนสร้าง พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร 'พระไพศาล วิสาโล' ชี้ความมั่นคงเเท้จริง คือ การเคารพธรรมชาติ เอื้อเฟื้อเผื่อเเผ่ สร้างความผาสุกระบบนิเวศ ระบุคนปัจจุบันมองค่าเงินกำไรมากกว่าชีวิตเพื่อร่วมโลก
โมเดลจำลอง 'พื้นที่การเรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร' ตั้งตระหง่านอยู่มุมหนึ่งบริเวณใต้โถงอาคารพิทยพัฒน์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) เหนือขึ้นไปปรากฎกรอบรูปสีดำขลับบรรจุภาพลงสีของพื้นที่การเรียนรู้ฯ พร้อมข้อความชวนสะกิดให้ตระหนักขึ้นว่า
"ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ ซึ่งเป็นรากฐานของเกษตรกรรมยั่งยืนเเละความมั่นคงทางอาหารกำลังเสื่อมโทรมพังทลายอย่างรวดเร็วจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คุกคามระบบนิเวศ เเละการเข้ามาเเทนที่ของการผลิตเชิงเดี่่ยว พวกเราทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูพันธุ์พืช เเละทรัพยากรชีวภาพขึ้นมาใหม่ เเละสร้างความเข้มเเข็งให้เกษตรกรรมยั่งยืนสามารถขยายออกไปได้เต็มเเผ่นดิน
โดยการทำงานร่วมกับเกษตรกรรายย่อยเเละชุมชนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เเละปฏิบัติการ ปลูกความหลากหลายทางชีวภาพให้งอกงามเเละสนับสนุนให้เกษตรกรรมยั่งยืนได้เติบโต เพื่อความมั่นคงของเกษตรกรรายย่อยเเละชุมชนท้องถิ่น เเละความมั่นคงทางอาหารของพวกเราร่วมกัน"
การจัดกิจกรรม 'ทอดผ้าป่าสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร' เมื่อไม่นานมานี้ เกิดจากความร่วมมือของเครือข่ายเอ็นจีโอกว่า 20 องค์กร นำโดยมูลนิธิชีววิถีกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจากคีย์แมนหลายท่านร่วมงาน อาทิ ศ.ระพี สาคริก ราษฎรอาวุโส นพ.มงคล ณ สงขลา อดีต รมว.สาธารณสุข นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี นายอุบล อยู่หว้า ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
พื้นที่เรียนรู้ฯ แห่งนี้คาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2560 ด้วยงบประมาณ 7 ล้านบาท ซึ่งจะได้มาจากการระดมทุนในรูปแบบการทอดผ้าป่าสามัคคี บนเนื้อที่กว่า 2 ไร่ ใน จ.นนทบุรี แบ่งเป็น การปรับที่ดิน ถมดิน ยกคันดินรองรับ และปรับพื้นที่สำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อจัดเป็นแปลงรักษาพันธุกรรมและสวนผักคนเมือง เนื้อที่ 1,700 ตร.ม. งบประมาณ 1.5 ล้านบาท
ส่วนการสร้างห้องอบรมอาคารเรียนรู้ ได้แก่ ห้องฝึกอบรมเรื่องพันธุกรรมพื้นบ้านและเรียนรู้เรื่องอาหาร และห้องจัดแสดงนิทรรศการและความรู้ หรือกิจกรรมต่าง ๆ เนื้อที่ 700 ตร.ม. งบประมาณ 5.5 ล้านบาท ซึ่งอาคารจะถูกก่อสร้างด้วยดินทั้งหมดตามหลักเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรอย่างแท้จริง
พระไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ สัมโมทนิยกถา กล่าวภายหลังเสร็จสิ้นพิธีถวายองค์ผ้าป่าสามัคคี โดยระบุว่า การทอดผ้าป่าตามประเพณีจะต้องปฏิบัติที่วัด และจะนำปัจจัยที่ได้รับถวายวัดเพื่อนำไปสร้างโบสถ์วิหาร หรือส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์ แต่ทุนที่ได้รับครั้งนี้ใช้ในการสร้างพื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นกิจกรรมนอกกำแพงวัด
อย่างไรก็ตาม พิธีทอดผ้าป่าประยุกต์ยังคงรักษาหลักการเดิมของประเพณีไว้ คือ การส่งเสริมให้พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญ เมื่อทำความดีหรือมอบปัจจัยใด ๆ บุญจะเกิดขึ้นที่ใจและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งการที่พระสงฆ์เป็นสื่อกลางถือเป็นการรักษาบทบาททางสังคมของศาสนาไว้แล้ว
สำหรับประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดขึ้น พระไพศาล มองว่า เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นศัพท์ที่มีความสำคัญมาก แต่คนไทยตระหนักน้อย เพราะมัวนึกถึงความมั่นคงของประเทศ ความมั่นคงของชีวิต หรือความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร โดยประการหลังมิได้เป็นเรื่องเดียวกับความมั่นคงทางอาหาร
“สังคมปัจจุบันมีอาหารอุดมสมบูรณ์มากจนกินทิ้งกินขว้าง การปฏิบัติเช่นนี้มิได้แปลว่าโลกมีความมั่นคงทางอาหารเพิ่มขึ้น” พระนักปฏิบัติผู้นี้ กล่าว และว่าตรงกันข้ามความมั่นคงกำลังลดน้อยถอยลง เพราะความอุดมสมบูรณ์ล้วนเกิดขึ้นจากการทำลายระบบนิเวศและสมรรถภาพของผู้คนในการผลิตอาหาร
โดยความสามารถในการผลิตอาหารของคนเล็กคนน้อยกำลังจะหมดไปนั้น พระไพศาล ขยายความว่า เกิดจากอำนาจทางเศรษฐกิจ เทคโนโลยี และการเมือง ล้วนเป็นปัจจัยให้ความมั่นคงลดน้อยลง เพราะระบบนิเวศไม่ยั่งยืน ดินกำลังแห้งตาย น้ำเป็นพิษ ปลาหดหายไปจากทะเลและมหาสมุทร อาหารเป็นพิษ ฉะนั้นหากยังมองข้าม แล้วสนใจเพียงความอุดมสมบูรณ์ด้านอาหาร อาจจะเกิดผลร้ายในระยะยาวอย่างคาดไม่ถึง
ทั้งนี้ ความมั่นคงทางอาหารและความอุดมสมบูรณ์ทางอาหารขณะนี้กำลังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง ระบบนิเวศเปราะบาง ขาดความยั่งยืน ไม่สามารถรับมือกับความผันผวนแปรปรวนของดิน ฟ้า อากาศ ได้อย่างเข้มแข็งมั่นคงดังแต่ก่อน
พระนักปฏิบัติ ยังกล่าวถึงระบบการผลิตปัจจุบันสร้างทัศนคติที่เป็นปฏิปักษ์กับธรรมชาติ ทำให้เรามองเห็นธรรมชาติเป็นเพียงวัตถุดิบตักตวงตามใจชอบ จะทำลายผืนน้ำอย่างไรก็ได้ จะทำลายป่าอย่างไรก็ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงทรัพยากรที่ใช้ในการเสริมสร้างกำไรให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง
“ภูมิปัญญาดั้งเดิมของคนไทยและศาสนิกชนจะมองเห็นธรรมชาติเป็นสิ่งที่ควรเคารพ มีเมตตากรุณา โลกนี้มิได้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์เท่านั้น แต่ควรเป็นที่อยู่อาศัยของสิงสาราสัตว์นานาชนิดด้วย” พระไพศาล กล่าว และว่า คนสมัยก่อนคิดจะปลูกต้นไม้สักต้นหรือทำไร่ทำนา จะไม่คิดถึงจำนวนผลิตผลอย่างเดียว แต่กลับนึกถึงสัตว์เล็กสัตว์น้อยมากินไม่เดือดร้อน ถือเป็นทาน แมลงมาเกาะกิน ถือเป็นบุญ
พระนักปฏิบัติ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมุ่งทำลายสัตว์เหล่านี้ด้วยการฉีดยาฆ่าแมลง แม้กระทั่งไส้เดือนยังตาย ไม่คำนึงถึงชีวิตอื่น นอกเสียจากกำไรจากการผลิตเท่านั้น ฉะนั้นระบบการผลิตที่นำเงินตราเป็นตัวตั้งจะนำไปสู่การเบียดเบียนเพื่อนร่วมโลกที่มีสิทธิจะมีชีวิตอยู่
...แล้วความมั่นคงทางอาหารที่แท้จริงคืออะไร???
พระไพศาล ระบุว่า ต้องเคารพธรรมชาติ สรรพสัตว์มีสิทธิจะมีชีวิตอยู่บนโลกนี้เช่นเดียวกับเรา หากการผลิตอาหารยังทำลายสรรพสัตว์ก็จะไม่เป็นประโยชน์ในการเพิ่มผลผลิต ฉะนั้นถ้ามนุษย์ยังมีความเคารพธรรมชาติ ไม่ทำลายป่าจนเหี้ยน เพื่อมาทำไร่ปศุสัตว์ขนาดใหญ่ สำหรับผลิตเนื้อมาให้ผู้คนกินอย่างสุรุ่ยสุร่าย ธรรมชาติจะมีความยั่งยืนที่สามารถมาเลี้ยงเราได้ทุกคน
“โครงสร้างการผลิตทางเศรษฐกิจต้องประกอบไปด้วยน้ำใจไมตรี รวมทั้งการส่งเสริมให้กระจายอำนาจการผลิต เข้าถึงทรัพยากรการผลิตอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะที่ดิน สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหารได้ และจะนำไปสู่ความผาสุกในระบบนิเวศ ความยั่งยืนทางธรรมชาติ และทัศนคติที่เคารพธรรมชาติ” พระนักปฏิบัติผู้นี้ กล่าว
รศ.บำเพ็ญ เขียวหวาน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เริ่มต้นตั้งคำถามถึงสาเหตุต้องเปิดเวทีถกเรื่องความมั่นคงทางอาหารและสร้างพื้นที่เรียนรู้ฯ แห่งนี้ อาจเกิดจากความรู้สึกไม่มีความปลอดภัยเรื่องอาหารและประชากรหลายล้านคนยังขาดแคลนจึงเป็นเสมือนสัญญาณที่แสดงถึงความไม่มั่นคง
แม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) จะมีแผนยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงทางอาหาร แต่ไม่แน่ใจว่าภายใต้ยุทธศาสตร์และการปฏิบัติงานนั้น มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับความหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เครือข่ายต่าง ๆ ภายใต้การนำของมูลนิธิชีววิถี พยายามผลักดันในระดับครัวเรือนให้เกิดระบบการผลิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการสร้างฐานทรัพยากรในระดับชุมชน และผลักดันนโยบายทิศทางที่เป็นไปในช่องทางต่าง ๆ ระดับประเทศ
นักวิชาการ มสธ. ยังระบุถึงความพยายามทำชุดการเรียนรู้เรื่องความมั่นคงทางอาหารกระจายผ่านช่องทางต่าง ๆเพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ขับเคลื่อนผ่านองค์กรและชุมชนให้จัดกระบวนการเรียนรู้ แบ่งเป็น เกษตรกรและผู้บริโภค โดยทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมองกลับไปสู่ต้นทางการผลิตได้ ไม่ใช่บริโภคอาหารไปวัน ๆ แต่สิ่งสำคัญ ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ได้ ตลอดจนสร้างความตระหนักในทิศทางที่ควรเป็น เพื่อเกิดสำนึกความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แม้ความสำเร็จจะเกิดยาก แต่ก็ควรปฏิบัติ
ขณะที่สุภา ใยเมือง ผอ.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความมั่นคงทางอาหารถูกผูกโยงเข้ากับวิถีชีวิตไปด้วยกัน สิ่งที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม นอกจากการผลิตอาหาร สิ่งนั้นคือวิถีชีวิตร่วมกันด้วย ดังนั้นพื้นที่เรียนรู้ฯ แห่งนี้ควรมีแนวคิดและสะท้อนรูปธรรมให้กับคนในสังคมได้ โดยอาศัยความรู้
“มูลนิธิชีววิถีและมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืนได้ขับเคลื่อนความรู้กับชุมชนและคนเมืองมาตลอด เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะฐานพันธุกรรมที่ต้องการงานวิจัยจำนวนมาก เพราะอนาคตจะเกิดความเสี่ยงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ หลายชุมชนกำลังนำพันธุกรรมข้าวขึ้นมาทดสอบ เพื่อสังเกตว่าเมื่อแล้งมาก ร้อนมาก น้ำท่วมมาก พันธุกรรมข้าวใดมีความทนและตอบสนองต่อเศรษฐกิจของชุมชนได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังอยู่ในกระบวนการ”
ผอ.มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวอีกว่า เราต้องร่วมกันทวงคืนเกษตรกรรมที่ควรจะเป็นในสังคมไทยกลับคืนมาให้ได้ ซึ่งจะเป็นบทบาทหน้าที่ต้องทำต่อไป เพราะเกษตรกรรมที่ไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม พิสูจน์แล้วว่าเกิดปัญหามาก ดังนั้น เราจะทวงคืนให้เกิดความเข้าใจธรรมชาติ โดยวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยอยู่ร่วมกันได้
‘พื้นที่เรียนรู้เพื่อความมั่นคงทางอาหาร’ นับเป็นแหล่งส่งเสริมการยกระดับความรู้ชาวบ้านด้านเกษตรกรรมยั่งยืนสู่ความเป็นวิชาการ โดยที่สังคมให้การยอมรับและนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ในการค้นหาความรู้ทางเลือก ดังนั้นการทอดผ้าป่าครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นนับหนึ่ง สำหรับการสะสมทุนเพื่อสร้างสำนักงานฯ แห่งนี้ .