กสทช.เตรียมส่งเงินงวด 2 ประมูล 3 จี 1.1 หมื่นล.เข้าคลัง
กสทช. เตรียมส่งเงินประมูลคลื่น 2.1 GHz งวด 2 รวม 11,134.69 ล้านบาท ให้คลังเป็นรายได้แผ่นดิน พบ 2 ปี ยอดผู้ใช้ 3G พุ่ง 73.5 ล้านเลขหมาย ค่าบริการเฉลี่ยลดลงกว่า 15%
วันที่ 22 ธันวาคม 2557 พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) เปิดเผยถึงวันครบกำหนดที่ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่งวดที่ 2 ซึ่งกำหนดให้ต้องชำระภายใน 15 วันหลังจากครบกำหนด 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ในอัตราร้อยละ 25 ของเงินประมูลสูงสุดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละราย จำนวน 11,134.69 ล้านบาท เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน รวมเงินที่ได้นำส่งมอบกระทรวงการคลังแล้ว 2 งวด เป็นยอดเงินรวมทั้งสิ้น 33,404.07 ล้านบาท
โดยเงินที่สำนักงาน กสทช. จะนำส่งรัฐในวันนี้ เป็นเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2555 ซึ่งได้เงินจากการประมูลรวมทั้งสิ้น 41,625 ล้านบาท ซึ่งได้มีการนำส่งเงินงวดแรก 50% ที่ได้จากการประมูล เป็นจำนวนทั้งสิ้น 22,269.38 ล้านบาท ให้กระทรวงการคลัง เป็นรายได้ของแผ่นดินแล้วเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 สำหรับเงินงวดที่ 3 งวดสุดท้ายอีก 25% จำนวน 11,134.69 ล้านบาท จะครบกำหนดชำระในวันที่ 22 ธันวาคม 2558
ทั้งนี้ กสทช. ได้ให้ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz หรือใบอนุญาต 3 จี และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม คือ มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง กับผู้ที่ชนะการประมูลทั้ง 3 ราย ได้เเก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF)
โดยได้กำหนดการชำระค่าใบอนุญาตแบ่งจ่ายเป็น 3 งวด งวดแรก 50% ของราคาประมูล จ่ายใน 90 วัน นับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งเป็นผู้ชนะประมูล งวดที่ 2 จำนวน 25% ภายใน 2 ปี (วันที่ 22 ธ.ค. 2557) และงวดสุดท้ายอีก 25% ภายใน 3 ปี โดยมีระยะเวลาอนุญาต 15 ปี
ด้านพันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวถึงรายละเอียดจำนวนเงินที่นำส่ง งวดที่ 2 ดังกล่าว ประกอบด้วย AWN นำส่งเงินประมูลงวดที่สอง 3,656.25 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเงิน 3,912.19 ล้านบาท) RF นำส่งเงินประมูลงวดที่สอง3,375 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเงิน 3,611.25 ล้านบาท) และ DTN นำส่งเงินประมูลงวดที่สอง 3,375 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มคิดเป็นเงิน 3,611.25 ล้านบาท)
จากการที่ประเทศไทยมีการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ส่งผลให้การใช้โมบายอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ไต่ขึ้นมา 34 อันดับจากลำดับที่ 105 ในปี 2555 ขึ้นเป็นลำดับที่ 71 ในปีนี้ ตามผลสำรวจรายงานประจำปีดัชนีชี้วัดสังคมสารสนเทศปี 2557 ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศหรือ ITU และและยังส่งผลให้ลำดับดัชนีชี้วัดระดับและพัฒนาการของระบบ ICT หรือ IDI (ICT Development Index) ของประเทศไทยก้าวขึ้นมาอยู่ลำดับที่ 81 ในปี 2556 จาก 166 ประเทศทั่วโลก สูงขึ้นจากเดิม 10 อันดับยกระดับการพัฒนาการระบบ ICT ของประเทศไทยอยู่ในระดับค่าเฉลี่ยโลก ติดท็อปเท็นของกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกจากปี 2555 ที่อยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการสื่อสารของไทยที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวถึงภาพรวมตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเทศไทยนับแต่ได้ให้ใบอนุญาตคลื่น 2.1 GHz เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ได้ครบ 2 ปีแล้ว พบว่า จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทุกย่านความถี่รวม 103 ล้านเลขหมาย แยกเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2.1 GHz 73.5 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 71.36 และบนย่านความถี่อื่น ๆ 29.5 ล้านเลขหมายคิดเป็นร้อยละ 28.64 โดยมีการเติบโตการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2.1 GHz ซึ่งเป็นการให้บริการด้วยเทคโนโลยี 3 G และ 4 G เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ด้านส่วนแบ่งตลาดของผู้ให้บริการพบว่า AWN มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดที่ร้อยละ 54 รองลงมาเป็น DTN ที่ร้อยละ 35 และ RF ร้อยละ 11 โดยกลุ่มผู้ใช้บริการ 3 G เป็นการโอนย้ายจากเทคโนโลยี 2G ไปสู่ 3G สูงถึงร้อยละ 40% ผลงานด้านการติดตั้งโครงข่ายบริการบนย่านความถี่ 2.1 GHz ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2557 ผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 รายได้รับอนุญาตการติดตั้งโครงข่ายจากสำนักงาน กสทช. รวมกว่า 33,000 สถานี และได้ติดตั้งครบทั้ง 77 จังหวัดแล้วตามเงื่อนไขการจัดให้มีโครงข่ายในเบื้องต้น ซึ่งขณะนี้สำนักงาน กสทช. กำลังตรวจสอบความครอบคลุมตามเงื่อนไขที่ต้องครอบคลุมประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ภายใน 2 ปีนับ โดยผลการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายดำเนินการได้สอดคล้องตามเงื่อนไขดังกล่าว ซึ่งเมื่อผลการตรวจสอบแล้วเสร็จสมบูรณ์จะรายงานให้สาธารณชนทราบต่อไป
ในส่วนของอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ 2.1 GHz ของผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย พบว่า ลดลงกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับค่าบริการ ณ วันที่ให้ใบอนุญาต (7 ธันวาคม 2555) โดยในเดือนตุลาคม 2557 ค่าบริการประเภทเสียงอยู่ระหว่าง 0.48 – 0.76 บาทต่อนาที ลดลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ย ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 (0.97 บาทต่อนาที) ลดลงร้อยละ 21 – 51 ค่าบริการ Internet อยู่ระหว่าง 0.19 – 0.28 บาทต่อ ลดลงร้อยละ 15 – 42 ค่าบริการ SMS อยู่ระหว่างข้อความละ 1.07 – 1.32 บาท ลดลงร้อยละ 15 - 31 และค่าบริการ MMS อยู่ระหว่าง 2.86-3.31 บาทต่อข้อความ ลดลงร้อยละ 15 - 42 เมื่อเทียบกับวันที่ได้รับใบอนุญาต
ด้านคุณภาพบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ย่านความถี่ 2.1 GHz จากการตรวจสอบความเร็วในการรับส่งข้อมูล (FTP Download) พบว่า มีความเร็วเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลการทดสอบในพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ความเร็วเฉลี่ยที่ 3 – 4 Mbps และอัตราการเรียกสำเร็จ (Voice Successful Call) ของผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายสูงกว่าร้อยละ 97 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดในเรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมทั้งประเภทเสียงและประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่
นอกจากนั้นในเรื่องมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค พบว่า ผู้รับใบอนุญาตทั้งสามรายได้ดำเนินการตามข้อกำหนดในเรื่องมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภคครบถ้วนแล้ว ทั้งในส่วนของความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ซึ่งได้แก่ โครงการจำกัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ สุขภาพผู้ใช้บริการ และแผนความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และในส่วนของการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้แก่ มาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการที่ไม่เหมาะสม และกระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุนาคม
"การติดตามผลการดำเนินงานได้ดำเนินการในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชนในด้านการกำกับดูแลการใช้งานคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนอย่างแท้จริง" เลขาธิการ กสทช.กล่าว .