หมออำพลแจง “กลไกพญานาคสองหัวอานันท์-ประเวศ” ปฏิรูป ปท.โดยภาคสังคมนำ
หมออำพล อธิบายบทบาท สช.เป็นเลขานุการปฏิรูปประเทศ ใช้กลไกสมัชชาระดมคน-ระดมความคิด เรียก “คณะ กก.ชุดอานันท์-ประเวศ” พญานาคสองหัว เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนโดยภาคสังคมนำ ภายใน 2 สัปดาห์ติดเครื่องทำงาน ชี้ไม่ใช่เสือกระดาษ 4-6 เดือนเห็นรูปธรรม เพราะบางเรื่องมีความรู้ครบ และบางเรื่องชุมชนปฏิรูปเองได้ไม่ต้องรอข้างบน ถ้าสังคมร่วมขับเคลื่อนเป็นวาระประชาชนมีพลังกดดันภาคการเมืองนิ่งเฉยไม่ได้ เรื่องยากที่ไม่เคยทำได้ก็จะทำได้ ยกตัวอย่างพลังสีเขียวสร้าง รธน.2540
คืนวันที่ 29 มิถุนายน นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) ให้สัมภาษณ์เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย” ในรายการฝ่าวิกฤติประเทศไทย ทางทีวีไทย ซึ่งมี ประวีณมัย บ่ายคล้อย เป็นผู้ดำเนินรายการ ว่า ทุกภาคส่วนขานรับว่าประเทศไทยต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและระบบต่างๆ ซึ่งไม่สามารถทำให้เสร็จในเวลาสั้นๆต้องใช้เวลายาวไกลไปข้างหน้า จึงเป็นที่มาของการเรียกร้องให้มีกลไกการทำงานที่ต่อเนื่องไม่ขึ้นอยู่กับ อายุรัฐบาล และเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน และ นพ.ประเวศ วะสี มาเป็นหัวขบวนตามที่ภาคประชาชนเสนอ ซึ่งที่ประชุม ครม.29 มิ.ย.ได้เห็นชอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มี “คณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์การปฏิรูป” ซึ่งจะแต่งตั้งนายอานันท์ เป็นประธาน และ“คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ซึ่งจะแต่งตั้ง นพ.ประเวศเป็นประธาน มีวาระการทำงาน 3 ปี
“ผมอยากจะเรียกว่าเป็นกลไกพญานาคสองหัว ก็คือจะมีคณะกรรมการใหญ่ 2 ชุด ชุดหนึ่งมีคณะกรรมการไม่เกิน 25 คน ซึ่งท่านอานันท์จะเป็นคนตั้งเอง อีกชุดคุณหมอประเวศก็จะไปแต่งตั้งคณะกรรมการเองไม่เกิน 25-30 คน และก็มีสำนักงานปฏิรูปเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นมาภายใต้ สช.”
เลขาธิการ สช. กล่าวว่าตาม พรบ.สุขภาพแห่งชาติ สช.เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการสร้างสุขภาวะ มีประสบการณ์ในการเชื่อมสังคมเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะมานาน รัฐบาลจึงเห็นว่าน่าจะเข้ามาช่วย
“สช.ไม่ได้มีบทบาทนำในการคิดเรื่องปฏิรูป แต่เป็นฝ่ายเลขานุการ บริหารจัดการ เชื่อมโยงทุกภาคส่วนในสังคมให้มาทำงานกับคณะกรรมการพญานาคสองหัว ซึ่งสองชุดนี้จะทำงานด้วยกันอย่างใกล้ชิด”
นพ.อำพล อธิบายกระบวนการทำงานปฏิรูปประเทศภายใต้กลไกใหม่ว่า “คณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์การปฏิรูป” ชุดนายอานันท์ จะทำหน้าที่พิจารณาข้อเสนอเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในประเด็นต่างๆ และกำหนดเป็นข้อยุติส่งไปยังสาธารณะและภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ เกิดรูปธรรมการปฏิบัติ ส่วน“คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” ชุด นพ.ประเวศ จะเน้นเรื่องการสร้างความร่วมมือทางสังคม ส่งเสริมให้ภาคส่วนต่างๆจัด เวทีจัดกระบวนการพูดคุยในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้มีการขยับเขยื้อนตรงนี้เยอะมาก และประมวลองค์ความรู้ข้อเสนอแนะต่างๆไปสู่ชุดของนายอานันท์ หรืออาจมีการจัดสมัชชาปฏิรูประดับพื้นที่เฉพาะประเด็นไปสู่สมัชชาปฏิรูป ระดับชาติ และอาจพัฒนาเป็นนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้คณะกรรมการทั้งสองชุดเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทุกฝ่ายในสังคมมาช่วยกัน ทำงานตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ เป็นการเคลื่อนไหวโดยให้ภาคสังคมนำ และการปฏิบัติเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป
“เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน มีข้อเสนอที่มาจากสังคมจริงๆว่ามีเรื่องอะไรบ้าง มาก่อนหลัง ต้องทำอย่างไร แสดงว่าสองชุดทำงานสอดประสานกัน แล้วให้ทั้งสังคมเป็นเจ้าของการปฏิรูปประเทศ เมื่อได้ข้อเสนอข้อยุติเป็นนโยบายสาธารณะ ก็เป็นหน้าที่ภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ อาจต้องไปออกหรือแก้กฎหมาย”
นพ.อำพล ยังกล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้ารัฐบาลคงแต่งตั้งนายอานันท์ และ นพ.ประเวศ อย่างเป็นทางการ จากนั้นทั้งสองคนจะไปตั้งคณะกรรมการ ซึ่งอย่างช้าสัปดาห์ถัดไปคงมีการประชุมหารือกำหนดยุทธศาสตร์การทำงาน ซึ่งผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งมีความปรารถนาดีเข้ามาทำงานคงคิดอยู่ในใจแล้ว ดังนั้นเมื่อเครื่องต่างๆประกอบครบ ก็น่าจะเห็นรูปธรรมในระยะเวลาอันสั้นคือภายใน 4-6 เดือน หรือ 1-2 ปีข้างหน้า เพราะบางเรื่องมีการทำความรู้ไว้ค่อนข้างครบ แต่ยังไม่ได้ขัดเกลาเป็นข้อเสนอหรือนโยบายที่ชัดเจน ดังนั้นคณะกรรมการทั้งสองชุดคงใช้เวลาระยะหนึ่งทำให้เห็นประเด็นที่เป็น รูปธรรมแล้วขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ ไม่ใช่การเขียนแผนในกระดาษ ขณะเดียวกันบางเรื่อง ชุมชน สังคม อปท.รวมตัวจัดการให้เกิดขึ้นเองได้ ที่เรียกว่าชุมชนเข้มแข็ง อะไรที่คิดว่าควรปฏิรูป เช่น สวัสดิการชุมชน ยุติธรรมชุมชน ระบบการช่วยเหลือและการจัดการทรัพยากรในชุมชน บางเรื่องคิดแล้วทำได้เลย ไม่ต้องรอการแก้ปัญหาจากระดับข้างบนอย่างเดียว
“ชุดท่านอาจารย์ประเวศก็จะไปส่องดูว่าที่ไหนทำอะไร แล้วเข้าไปสนับสนุนให้เกิดการเสนอแนะขับเคลื่อนอย่างอิสระ ไม่ใช่เข้ามาทำงานในระบบในโครงสร้างเดียวกันทั้งหมด และภายในปีนี้จะเห็นการสนับสนุนให้เกิดสมัชชาปฏิรูปเพื่อให้หลายส่วนเข้ามา คุยกันให้ได้ข้อเสนอและทำให้คมชัด และคิดว่าฝ่ายการเมือง รัฐบาล ราชการ คงพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติ ซึ่งสังคมก็มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบให้เกิดการปฏิบัติ”
นพ.อำพล ในฐานะเลขาธิการการ สช.ฝ่ายเลขานุการของงานปฏิรูปประเทศไทย ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาการสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมน้อย การตัดสินใจเรื่องยากๆ นโยบายสาธารณะต่างๆขึ้นอยู่กับรัฐบาลและภาคการเมือง หลายเรื่องเดินหน้าไม่ได้เพราะมีอุปสรรคหรือติดขัดผลประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการป่าไม้ที่ดิน การจัดสรรทรัพยการน้ำ เรื่องภาษี เพราะเอาความหวังไปฝากไว้ที่การเมือง แต่ถ้าสังคมมาช่วยกันก็ไม่ต้องรอรัฐบาลประกาศเป็นวาระแห่งชาติเพราะเป็น วาระสังคมที่คนไทยเห็นพ้องต้องกันร่วมผลักดันขับเคลื่อน โดยมีคณะกรรมการสองชุดและกระบวนการปฏิรูปเป็นเครื่องมือเชื่อมร้อยให้เป็น ระบบชัดเจนเป็นวาระประชาชนที่มีพลังให้ภาครัฐ ภาคการเมือง ภาคที่อยู่ในระบบโครงสร้างต่างๆนิ่งเฉยไม่ได้ การปฏิรูปในเรื่องยากๆที่ไม่เคยทำได้ ก็จะทำได้ถ้ามีพลังทางสังคมเพียงพอ
“บทบาทคณะกรรมการทั้งสองก็ไม่ได้จบแค่มีข้อเสนอแนะ ยังมีหน้าที่ประสานเชื่อมโยงผลักดันการปฏิบัติ และสังคมยังต้องติดตาม เช่น เกิดการเลือตั้ง ก็ต้องไปกำกับว่าเรื่องนี้ๆพรรคการเมืองจะทำอย่างไร เมื่อเข้าไปเป็นรัฐบาลบริหารประเทศก็ต้องทำ กลไกทางสังคมก็ต้องคอยตรวจสอบว่าทำไหม ฉะนั้นถ้าสังคมเคลื่อนไหวอย่างมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของจริงๆ อะไรที่ติดขัดก็น่าจะขับเคลื่อนได้ เช่น รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการเคลื่อนที่สังคมเป็นเจ้าของอย่างมาก รัฐบาลช่วงนั้นก็ต้องผลักดันออกมาจากสภาจนได้ โดยฝ่ายการเมืองอาจไม่ได้รู้สึกพึงพอใจ แต่ถ้าไม่ทำ สังคมก็จะเป็นพลังตัดสิน” .