ที่ประชุม นบข. ได้มีมติเห็นชอบเรื่องยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558-2562
วันที่ 19 ธ.ค.57 เวลา 10.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 5/2557 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ นางสาวชุติมา นุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้แถลงผลการประชุมสรุปสาระสำคัญว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาและมีมติเห็นชอบเรื่องยุทธศาสตร์ข้าวไทย ปี 2558-2562 ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์สำคัญ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ด้านการผลิต มี 4 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) การบริหารจัดการพื้นที่ปลูกและปริมาณผลผลิตข้าวให้เหมาะสม โดยจะผลิตข้าวเปลือกให้สมดุลกับ อุปสงค์ในปี 62/63 จำนวนไม่เกิน 31 ล้านตัน 2) การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ในปี 62/63 ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ทุกชนิดไม่ต่ำกว่า 600 กก. ต้นทุนการผลิตต่อไร่ไม่เกิน 4,000 บาท และต่อตันไม่เกิน 6,000 บาท 3) การยกระดับคุณภาพและการเพิ่มมูลค่าข้าวเปลือก
ยุทธศาสตร์ด้านการตลาด มี 7 ประเด็นยุทธศาสตร์ คือ 1) มีแผนพัฒนาข้าวอย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ 2) สร้างความเป็นธรรมในระบบการค้าข้าว โดยจัดระบบโรงสีให้ทั่วถึงสอดคล้องกับผลผลิตในแต่ละพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ใน 5 ปี 3) ส่งเสริมและผลักดันการใช้มาตรฐานการผลิตและการค้าให้ได้มาตรฐานสากล ภายใน 5 ปี 4) พัฒนาศักยภาพระบบการค้าข้าว 5) สร้างค่านิยมการบริโภคข้าวโดยการบริโภค 6) การสร้างนวัตกรรมโดยมีนวัตกรรมข้าวเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าปีละ 5 ชนิด และนำไปต่อยอดได้และมีนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ด้านเวชภัณฑ์สำอางจากข้าวที่มีผลิตเชิงการค้า 7) เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านโลจิสติกส์ โดยต้นทุนการบริหารจัดการโลจิสติกส์ตลอดห่วงโซ่อุปทานลดลงไม่น้อยกว่า 4 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 4 ปี
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปประชุมหารือร่วมกันเพิ่มเติมในรายละเอียดก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องการตรวจสอบเกษตรกรจังหวัดพิจิตรและการยกเว้นมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว โดยมีมติเห็นชอบและมอบหมายให้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจน กรณีจำนวนเกษตรกรที่มีการปรับเพิ่มจาก 225 ราย เป็น 229 ราย ว่าเกิดจากสาเหตุใด กรณีตรวจสอบแล้ว ไม่มีการทุจริตหรือสวมสิทธิเกษตรกร อนุมัติให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้เกษตรกรดังกล่าว
พร้อมทั้งมีมติเห็นชอบให้ใช้ผลการตรวจสอบการาจำนำข้าวเปลือกที่คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดพิจิตรได้รับรองแล้ว เป็นเอกสารหลักฐานอื่นแทนใบประทวนที่ อ.ต.ก. ออกให้ เพื่อให้เกษตรกรนำไปยื่นให้ ธ.ก.ส. ใช้เป็นหลักฐานในการจ่ายเงินให้เกษตรกรดังกล่าว และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ นบข. นำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาอนุมัติงบกลาง วงเงิน 52.85 ล้านบาท เพื่อให้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินให้เกษตรกรจำนวนดังกล่าว
พร้อมกันนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการคืนข้าว กรณีเกษตรกรนำข้าวเปลือกไปจำนำเกินกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดและโรงสีที่เข้าร่วมโครงการซึ่งได้สั่งแปรสภาพส่งมอบข้าวสารเข้าโกดังกลาง ตามที่องค์การคลังสินค้าเสนอ โดยใช้แนวทาง ดังนี้ 1) คืนข้าวสารจากคลังสินค้าแห่งสุดท้ายที่โรงสีไปส่งมอบ 2) ใช้อัตราส่งมอบข้าวสารในการสั่งสีแปรสภาพครั้งสุดท้ายของโรงสีนั้นในการคำนวณข้าวเปลือกเป็นข้าวสารที่จะคืนให้เกษตรกร ซึ่งเป็นอัตราที่หักค่ากระสอบและค่าขนส่งไปยังโกดังกลาง และ 3) หน่วยรับฝากฯ ขออนุมัติรายชื่อเกษตรกร จำนวนข้าวเปลือก อัตราส่งมอบ จำนวนข้าวสาร และรายชื่อโกดังกลางที่จะคืนข้าวให้เกษตรกรส่งให้หัวหน้าคลังเพื่อทำการจ่ายข้าว
อีกทั้ง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมฯ ได้มีมติเห็นชอบมอบหมายให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐดำเนินการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐบาล ทั้งปริมาณและคุณภาพ ซึ่งพบว่ามีข้าวคงเหลือในคลังกลางขององค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อการเกษตร (อ.ต.ก.) รวมทั้งสิ้น 17,963 ล้านตัน
แยกเป็น ข้าวผ่านมาตรฐาน จำนวน 2.197 ล้านตัน (12.23%) ข้าวไม่ตรงตามมาตรฐาน จำนวน 14.405 ล้านตัน (80.19%) ข้าวเสีย จำนวน 0.694 ล้านตัน (3.86%) ข้าวผิดชนิด จำนวน 0.068 ล้านตัน (0.34%) และข้าวกองล้มหรือข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ จำนวน 0.599 ล้านตัน ( 3.34 %)
พร้อมมีมติเห็นชอบมอบหมายให้ให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ ดำเนินการโดยมอบหมายให้คณะทำงานตรวจสอบและจัดระดับคุณภาพข้าวในสต็อกของรัฐดำเนินการจัดระดับชั้นคุณภาพข้าวในส่วนที่ไม่ตรงตามมาตรฐาน ปริมาณ 14.405 ล้านตัน โดยแบ่งระดับคุณภาพข้าวออกเป็น 3 ระดับคุณภาพ คือ ระดับคุณภาพ A เป็นข้าวต่ำกว่ามาตรฐานไม่มาก เมื่อปรับปรุงแล้วคุณภาพข้าวจะมีสภาพไม่ต่างจากข้าวผ่านมาตรฐาน ระดับคณะภาพ B เป็นข้าวต่ำกว่าระดับ A ต้องผ่านกระบวนการปรับปรุงคุณภาพที่ยุ่งยาก จึงจะสามารถนำมาระบายได้ และระดับคุณภาพ C เป็นข้าวที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานมาก ไม่คุ้มค่าในการปรับปรุงให้ได้มาตรฐาน
รวมทั้งมอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางจัดการข้าวในสต็อกรัฐบาล นำเสนอแนวทางดำเนินการกับข้าวทุกระดับคุณภาพ และที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบแนวทางดำเนินการในสาระสำคัญ ดังนี้
1) ข้าวที่ผ่านมาตรฐาน ให้ระบายตามมาตรฐาน แบบยกกอง/ยกคลัง
2) ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานแต่อยู่ในระดับ A และ B ให้ระบายยกคลังตามสภาพ
3) ข้าวที่ไม่ตรงตามมาตรฐานระดับ C ข้าวเสีย ข้าวผิดชนิด ข้างกองล้มหรือข้าวที่ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ ให้ระบายตามสภาพหลังจากที่ อคส. และ อ.ต.ก. แจ้งความดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบ รวมถึงดำเนินคดีกรณีข้าวหายจำนวนประมาณ 3.91 แสนตันด้วย
และ4) มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวพิจารณาแผนและวิธีการระบาย ให้คำนึงถึงผลกระทบต่อตลาดข้าว และการลดภาระค่าเก็บรักษา ตลอดจนการเสื่อมสภาพข้าวประกับกันด้วย