หนุนผ่านร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ฉบับ คปก.
สนช.-สปช.-เครือข่ายผู้เสียหายฯหนุนผ่านร่างกม.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขฉบับคปก.
เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) จัดเวทีเสวนาเรื่อง ‘ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...’ ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อาคารซอฟแวร์ ปาร์ค
ทั้งนี้ ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธาน คปก.จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่องแนวทางการตรากฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขและจัดทำร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... เสนอต่อนายกรัฐมนตรีและประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557
โดยร่างกฎหมายฉบับ คปก.ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาจากร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นหลักเบื้องต้น รวมถึงร่างกฎหมายที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอ 2 ฉบับ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กฎหมายเข้าชื่อทั้ง 2 ฉบับมีเนื้อหาสาระและหลักการที่มีความขัดแย้งกันอยู่ คปก.จึงจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาอย่างต่อเนื่อง
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นว่า เนื่องจากกระบวนการยุติธรรม โดยก่อนหน้านี้กฎหมายฉบับดังกล่าวเคยมีการเสนอเข้าสภาแล้ว แต่มีการต่อต้านจากกลุ่มแพทย์จึงทำให้ต้องถอนกฎหมายฉบับนั้นออกไป อย่างไรก็ตาม การที่ คปก.หยิบยกกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาและพยายามผลักดันอีกครั้งนับว่าเป็นเรื่องที่ดี
“ร่างกฎหมายฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข และผู้ให้บริการสาธารณสุข เนื่องจากมีการเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข โดยไม่ต้องมุ่งพิสูจน์หาความผิดของผู้กระทำ” นักวิชาการ กล่าว และว่าอีกทั้ง บทบัญญัติในมาตรา 28 ได้เปิดช่องให้ศาลพิจารณาสามารถใช้ดุลพินิจลดหย่อนโทษหรือไม่ลงโทษต่อผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ถูกฟ้องเป็นคดีตามกรอบที่กฎหมายบัญญัติอีกด้วย
ด้านศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อดีตกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ในฐานะสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มุ่งคุ้มครองผู้เสียหายฯ อย่างเดียว แต่นวัตกรรมใหม่ที่บัญญัติให้ดุลพินิจศาลในการลดโทษหรือไม่ลงโทษแพทย์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 จะเป็นหลักประกันให้กับแพทย์มีความมั่นใจในการประกอบวิชาชีพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ยืนยันจะรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้เสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป
ขณะที่ พลเอกชูศิลป์ คุณาไทย รองประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สปช. ตั้งข้อสังเกตว่า เนื่องจากโรงพยาบาล บุคลากร เครื่องมือที่ยังไม่เพียงพอ จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายได้ หากมีร่างพ.ร.บ. นี้ อาจทำให้แพทย์ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้นในการรักษาคนไข้ และหารือว่า อาจขยายมาตรา 41 ในกฎหมาย สปสช.จะเร็วกว่าหรือไม่
ในประเด็นนี้ นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุข เคยดำเนินการศึกษาว่าจะขยายมาตรา 41 แล้ว แต่พบว่าต้องแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ การออกพ.ร.บ.ใหม่จะเป็นการดีกว่า และสามารถใช้กลไกที่มีอยู่เดิมของหลักประกันสุขภาพได้โดยไม่ต้องตั้งสำนักงานใหม่
นางภิญญามาศ โยธี ผู้เสียหายในระบบประกันสังคม กล่าวว่า ในขณะตั้งท้องหมอสั่งยาที่ห้ามใช้กับผู้ตั้งครรภ์ พยายามบอกหมอ แต่หมอยืนยันให้กินยา ผลที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบถึงลูก ลูกพิการทางสมอง ต้องออกจากงาน ประสบปัญหาครอบครัว พยายามร้องเรียนหน่วยงานรัฐเป็นปี แต่หมอบอกเพียงว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ที่ผ่านมาเรายังไม่มีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรง ร่างกฎหมายนี้ จะช่วยเหลือคนที่ไม่มีเครื่องมือต่อสู้ แม้ว่าวันนี้คดีตนเองจะสิ้นสุด แต่ก็ทุกข์ทรมานอย่างมาก ไม่ต้องการฟ้องหมอ อยากให้มีกฎหมายนี้เพื่อช่วยคนอีกมากมาย
ด้านน.ส.จันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการสำนักงานอัยการสูงสุดและที่ปรึกษาแพทยสภา กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายในเบื้องต้น ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องการให้สวัสดิการเบื้องต้น อีกทั้งยังเป็นระบบเยียวยาผู้เสียหายที่ช่วยไม่ให้ปัญหาระหว่างแพทย์กับผู้เสียหายฯ เข้าสู่กระบวนการศาลมากเกินไป เนื่องจากตามหลักการทางกฎหมายแล้วจะเขียนกฎหมายในเชิงลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการฟ้องร้องไม่ได้
เราจึงสร้างกลไกในลักษณะการบรรเทาโทษตามที่ปรากฏในร่างกฎหมายมาตรา 28 เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจโดยมีกรอบตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับแพทย์ นอกจากนี้ ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวยังเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในแง่การชดใช้เยียวยาความเสียหายที่รวดเร็ว ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 23 ที่ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาเงินชดเชยให้แล้วเสร็จใน 30 วัน นอกจากนี้ ในมาตรา 12 ยังส่งเสริมการมีส่วนร่วมของหลายภาคส่วนในการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอีกด้วย
ทั้งนี้ คปก.จะดำเนินการรวบรวมความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการเสวนาในครั้งนี้และเดินหน้าผลักดันร่างพรบ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ....ให้มีผลต่อไป