ภาคประชาสังคมชง 10 มาตรการ เเก้แรงงานข้ามชาติกิจการประมงไทย
ผอ.เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน แนะรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติให้ได้รับความเป็นธรรม ย้ำที่ผ่านมากระบวนการช่วยเหลือและการบังคับคดีเป็นไปอย่างล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ
วันที่ 17 ธันวาคม 2557 เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรช้ามชาติ จัดงานแถลงข่าว สถานการณ์เด่นแรงงานข้ามชาติในรอบปี 2557 และแนวโน้มการจัดการแรงงานข้ามชาติในอนาคตของประเทศไทย ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
โดยในหัวข้อสถานการณ์การค้ามนุษย์เเละการคุ้มครองเเรงงานข้ามชาติในกิจการประมงทะเล นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) Migrant Working Group (MWG) กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ยินข่าวความพยายามจากหลายฝ่ายจะเเก้ไขเเรงงานข้ามชาติเร่งด่วน เเต่ขณะนี้ยังไม่เห็นความคืบหน้าใด ๆ อย่างไรก็ตาม เครือข่ายภาคประชาสังคมได้เตรียมตรวจเรือประมงทุกลำที่เข้ามาในน่านน้ำไทยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันเเรงงานข้ามชาติ ซึ่งอาจหลบหนีซุกซ่อนเข้ามาได้
"รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปี 2557 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จัดลดอันดับไทยจาก Tier 2 Watch List เป็น Tier 3 ซึ่งเท่ากับเกาหลีเหนือ อิหร่าน มาเลเซีย รัสเซีย ซิมบับเว" ผอ.เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตเเรงงาน กล่าว เเละว่า เนื่องจากไทยเป็นต้นทาง-ปลายทาง ทางผ่านการค้ามนุษย์ ค้าประเวณี เเละบังคับใช้แรงงาน โดยเฉพาะภาคประมง ที่ละเมิดแรงงานข้ามชาติ ซึ่งทางการไทยยังแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ได้ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา
นายสมพงษ์ กล่าวด้วยว่า แม้ปัจจุบันรัฐบาลไทยดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์และเน้นการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ รวมถึงการจัดทำรายงานสรุปผลการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อเสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯ เเต่จากการเฝ้าติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการได้ร่วมลงมือปฏิบัติการดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ และการคุ้มครองสวัสดิภาพในกรณีที่เป็นแรงงานข้ามชาติ และแรงงานลูกเรือประมงไทย พบไทยยังดำเนินการอย่างล่าช้า โดยเฉพาะประเด็นเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนสมรู้ร่วมคิดในการค้ามนุษย์
"ที่สำคัญคือความพยายามในการดำเนินคดีและพิพากษาลงโทษเจ้าหน้าที่ฉ้อฉลในคดีที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ยังมีความพยายามน้อยและขาดประสิทธิภาพ"
ผอ.เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวอีกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานในภาคธุรกิจการค้าและการส่งออกของไทยก็ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิและความปลอดภัยของแรงงานที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ไว้ในระดับปานกลางเท่านั้น ส่วนในกรณีแรงงานข้ามชาติที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ยังขาดกลไกล่ามภาษาที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องมีล่ามที่มีหน้าที่คุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างจริงจัง นอกจากนี้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องในด้านการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ขาดการทำงานเชิงรุกมุ่งเน้นแต่การทำงานเชิงรับทำให้ขาดประสิทธิภาพในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย
สำหรับการคุ้มครองเหยื่อหรือผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ นายสมพงษ์ ระบุว่า จะต้องกำหนดทิศทางในการดูแลอย่างชัดเจนและต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้น พร้อมยกตัวอย่างกรณีผู้เสียหายจากกระบวนการค้ามนุษย์ในเรือประมง ถึงกระบวนการสอบคัดแยกที่จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะงาน สภาพการทำงาน ซึ่งผู้ที่สัมภาษณ์มีความเข้าใจไม่เพียงพอต่อระบบกลไกในการเข้าถึงการคุ้มครองกรณีเป็นเหยื่อในต่างประเทศที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยและทำให้ผู้เสียหายรู้สึกปลอดภัยและไว้วางใจ หรือกรณีลูกเรือประมงในประเทศอินโดนีเซียที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และถูกกระทำความรุนแรงก็ขาดระบบและแบบแผนในการจัดการปัญหาในเรื่องการคุ้มครอง การให้ความช่วยเหลือและการเยียวยา
จากปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ สถานประกอบการ และอุตสาหกรรมประมงไทย และนอกน่านน้ำไทย ดังนี้
1. ต้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน
2.พิจารณาออกกฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายให้มีโทษหนักขึ้น ทั้งอาญา และทางแพ่ง
3. พิจารณาอย่างเร่งด่วนในการให้แก้ไขกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 10 ว่าด้วยการใช้แรงงานในเรือประมงและเรือที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องทำหนังสือสัญญาว่าจ้างที่ชัดเจน โดยระบุการทำงาน อัตราค่าจ้าง ระยะเวลาจ้าง รวมถึงระเบียบ รายละเอียดการทำงานต่างๆ ที่ว่าจ้างต่อผู้ที่ถูกจ้าง และผู้ว่าจ้างกับผู้ถูกจ้างต้องรับรู้ชื่อสกุล ที่อยู่ และผู้ถูกจ้างต้องรู้ชื่อสกุล ที่อยู่ ชื่อบริษัทของผู้ว่าจ้าง ที่ถูกต้อง โดยมีหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานพิเศษที่จัดตั้งขึ้นมารับรอง
4. ผู้ประกอบการหรือนายจ้างต้องมีสวัสดิการ และอุปกรณ์ความปลอดภัยให้กับผู้ถูกจ้างทุกคน
5. ผู้ประกอบการต้องทำการว่าจ้างอย่างถูกกฎหมายโดยไม่มีค่าหัวหรือค่าจัดหา และมีเวลาทำงานอย่างชัดเจน
6. ต้องเร่งพิจารณาออกกฎหมายบังคับให้ผู้ประกอบการที่จะนำรัฐบาลต้องออกกฎหมาย บังคับผู้ประกอบการประมงที่จะนำบุคคลออกจากนอกราชอาณาจักรไทยทุกคน ต้องมีหน่วยงานของรัฐสัมภาษณ์ถึงความยินยอมที่จะไปทำงานนั้นๆ หรือไม่ ก่อนให้ออกจากราชอาณาจักรไทยโดยหน่วยงานรัฐรับรอง
7. ต้องเร่งพิจารณาตั้งหน่วยงานเฉพาะพิเศษที่ช่วยเหลือแรงงานที่อยู่นอกราช อาณาจักรไทย โดยที่ญาติและผู้ออกนอกราชอาณาจักรสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้โดยตรง
8. การช่วยเหลือคุ้มครองสวัสดิภาพสำหรับ “คนตกเรือ” และส่วนหนึ่งเป็น “ผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์” ต้องจัดให้มีระบบการจัดการที่ดี มีกระบวนการช่วยเหลือเยียวยาคนสองกลุ่มโดยเน้นผู้ประสบปัญหาเป็นศูนย์กลาง
9. กรณีการดำเนินการช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดีความ ต้องมีการบูรณาการร่วมทั้งภาครัฐ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีส่วนสนับสนุนดำเนินการช่วยเหลือผู้เสียหายจากการ ถูกค้ามนุษย์
10. พิจารณาทบทวน “กองทุนค้ามนุษย์” ใหม่ ให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง และองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรพัฒนาเอกชน มีส่วนร่วมมากขึ้นกว่าปัจจุบัน