อานันท์-ประเวศ รับนำปฏิรูปประเทศ ย้ำอิสระจากรัฐบาล ดึงทุกส่วน-เสื้อแดงร่วม
อานันท์-หมอประเวศ รับเป็นประธาน“คณะกรรมการกำกับการปฏิรูป” และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” แต่ย้ำดำเนินการอิสระจากรัฐบาล เตรียมเดินสายชวน 10-15 คนร่วมทีม อภิสิทธิ์บอกให้ สช.ยกร่างโครงสร้างคณะกรรมการเสร็จใน 1 สัปดาห์และออกระเบียบสำนักนายกฯรองรับ ส่วนตัวบุคคลให้ประธานเลือกเอง คาดได้คณะกรรมการภายในสิ้นเดือน วางแนวทางดึงทุกส่วนทุกกลุ่มรวมเสื้อแดงเข้าร่วม
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน เวลา 12.20 น.ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส แถลงข่าวร่วมภายหลังเข้าหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีถึงแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาองค์กรชุมชนเมื่อวานนี้ที่ได้เสนอชื่อบุคคลต่างๆเข้ามาเป็นหัวขบวนขับเคลื่อนการปฏิรูป และให้นายกรัฐมนตรีมาทาบทามบุคคลทั้งสอง โดยนายอานันท์ กล่าวว่า วันนี้นายกรัฐมนตรีได้มาพูดคุย ซึ่งตนและหมอประเวศได้ตอบว่าถูกเสนอชื่อโดยภาคประชาชน ต้องทำงานให้ภาคประชาชนเพื่อ กระบวนการกลไกที่จะสร้างขึ้นมาต้องเป็นอิสระจากการครอบงำของรัฐบาล จึงจะได้รับความเชื่อถือจากภาคประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ไม่ข้อขัดข้อง
นายอานันท์ กล่าวว่า สัปดาห์หน้าตนและ นพ.ประเวศ จะไปพบปะหารือกับคณะทำงานด้านองค์กรชุมชน ส่วนในขั้นตอนนี้จะมี 2 กลไกที่สร้างขึ้นมาขับเคลื่อนการปฏิรูป คือ “คณะกรรมการกำกับการปฏิรูป” มีหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ มีตนเป็นประธาน และ “คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป” มี นพ.ประเวศ เป็นประธาน แต่ทั้ง 2 ชุดไม่ได้มาทำงานด้านการปรองดอง โดยคาดว่าประมาณ 10 วันต่อจากนี้จะมีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีรองรับ จากนั้นจะมีกรรมการประมาณ 15 – 20 คนเข้ามาทำงานซึ่งตนและ นพ.ประเวศ จะเลือกเองในแต่ละชุดที่แต่ละคนดูแลโดยตรงไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และมีความหวังว่าทุกคนที่ได้รับการติดต่อไปจะตอบรับ
นพ.ประเวศ กล่าวว่า การดำเนินการของคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องของสังคม ประชาชน ภาควิชาการ เพราะอำนาจของรัฐบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ จึงต้องขับเคลื่อนด้วยพลังทางสังคมพลังทางปัญญา และต้องย้ำว่าอย่าเอาเรื่องสร้างความปรองดองและการปฏิรูปมาปนกัน การปรองดองเป็นเรื่องของอดีต การปฏิรูปเป็นเรื่องของอนาคตที่จะร่วมกันทำสิ่งใหม่ที่ดี โดยหวังว่าถ้าปฏิรูปสร้างความเป็นธรรมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมด้านต่างๆได้ คนจะรักกันรักชาติมากขึ้น ทั้งนี้การทำงานของคณะกรรมการ 2 ชุดจะเป็นอิสระแต่เชื่อมประสานกัน โดยคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปจะรวมข้อเสนอแนะจากสังคมทุกภาคส่วน เช่น ชุมชนท้องถิ่น องค์กรต่างๆ แล้วไปเชื่อมกับงานวิชาการ เพื่อสร้างเป็นเป้าหมายวิสัยทัศน์ร่วมของสังคม สำหรับหน้าที่รัฐบาลคือการสนับสนุนและรับข้อเสนอแนะไปปฏิบัติ
ต่อมาเวลา 14.30 น.ที่อิมแพคเมืองทองธานี นายกรัฐมนตรีกล่าวว่าจากการหารือ นายอานันท์ และ นพ.ประเวศ รับจะไปคุยกันต่อ สำหรับโครงสร้างคณะกรรมการอิสระปฏิรูปประเทศได้มอบหมายให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.)ไปยกร่างให้เสร็จใน 1 สัปดาห์ และจะออกระเบียบสำนักนายกฯ รองรับ ส่วนเรื่องตัวบุคคลที่จะมาทำงานนั้นนายอานันท์ และ นพ.ประเวศจะไปเลือกเอง ซึ่งคณะกรรมการน่าจะชัดเจนภายในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ในการหารือยังพูดถึงความพยายามดึงทุกฝ่ายทุกกลุ่มเข้ามาร่วม ซึ่งยอมรับว่าเป็นงานยากและหนัก รวมทั้งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งอดีตมีปัญหากฎระเบียบราชการหรือกฎหมาย และทุกคนทราบดีว่าการทำงานนี้ให้สำเร็จต้องใช้เวลา ขณะที่สังคมมีความคาดหวังที่จะเห็นรูปธรรมโดยเร็ว
นายกรัฐมนตรี ยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงการมีคณะกรรมการ 2 ชุดว่าเป็นไปตามหลักการทำงานที่ต้องมี 3 ภาคส่วนคือ 1.ภาคประชาชน ต้องมีคณะทำงานระดมความคิดเห็นและวางแนวทางแก้ปัญหา 2.ภาควิชาการที่นำความคิดของฝ่ายวิชาการมาปรับเข้า 3.ภาครัฐซึ่งเป็นผู้สนับสนุน และตนจะขับเคลื่อนส่วนนี้เอง ส่วนหลักประกันว่างานนี้จะไม่สูญเปล่าเพราะ 1.มีกลไกรองรับ 2.รัฐบาลเคยพิสูจน์แล้วว่าได้ให้ฝ่ายต่างๆเข้ามาร่วมแก้ปัญหา รับข้อเสนอ เมื่อมีข้อยุติก็เดินหน้าทำ งานนี้เกินอายุรัฐบาลนี้ ก็หวังว่ารัฐบาลต่อไปจะสนองตอบเพราะสภาพสังคมการเมืองอย่างนี้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายต่างๆงานบ้านเมืองก็เดินยาก
ส่วนคำถามที่ว่าจะดึงฝ่ายคนเสื้อแดงเข้ามาร่วมได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ ตอบว่าเป็นเรื่องที่นายอานันท์ และ นพ.ประเวศจะไปปรึกษาหารือกัน แต่แม้กระทั่งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ ก็พยายามเดินหน้านำทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยให้เข้ามามีส่วนร่วม .